ย้อนรอย ‘หมอปราเสริฐ’ นักเทกโอเวอร์แบบ ‘ไร้มิตร’

ย้อนรอย ‘หมอปราเสริฐ’  นักเทกโอเวอร์แบบ ‘ไร้มิตร’

ขึ้นชื่อว่า “หมอเสริฐ” หรือ “น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” ถือเป็นตำนาน “หมอนักเทคโอเวอร์” ธุรกิจโรงพยาบาล ด้วยแนวคิดที่เชื่อมั่นการทำธุรกิจต้องหนีคู่แข่งให้ตามไม่ทัน และคลอบคลุมทุกตลาดทำให้การเทคโอเวอร์เป็นทางลัดที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด

ส่งผลให้ กลุ่มบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ยืนเป็นเบอร์ 1 ในอุตสาหกรรมอย่างหาคู่แข่งได้ยาก

หากแต่เส้นทางการได้มาซึ่งแต่ละโรงพยาบาลกลับไม่ได้สวยหรูเต็มไปด้วยมิตรภาพพอที่จะหันหน้าจับมือยิ้มแย้มไปพร้อมๆ กันทั้งสองฝ่าย ด้วยการเข้ามาของ BDMS กลายเป็นการซื้อกิจการแบบไม่เป็นมิตรแทบทั้งสิ้น หรือ Hostile Takeover

เมื่อไล่รายชื่อหุ้นโรงพยาบาลที่มีชื่อ "หมอเสริฐ" หรือ BDMS เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นในอดีตและปัจจุบัน มีจำนวน 7 บริษัท ในจำนวนนี้มี 2 บริษัท ที่มีการเพิกถอนออกจากตลาดและขายหุ้นออกไป คือ บริษัท ประสิทธิ์พัฒนา จำกัด หรือ PYT กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท และ "เปาโล" ของ "วิชัย ทองแตง" ซึ่งเป็นนักเทคฯตัวยงเช่นกัน จึงมีการเจรจาซื้อกิจการพร้อมกับแลกหุ้นมูลค่าเกือบ 10,000 ล้านบาท ในปี 2553 ก่อนจะเพิกถอนออกจากตลาดหุ้น

โรงพยาบาลรามคำแหง (RAM) เป็นกลุ่มใหญ่จากทุนหมอที่ถือหุ้นไขว้ไปมา ทั้ง โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม (CMR) โรงพยาบาลวิภาวดี (VIBHA) มีรายชื่อ หมอเสริฐ และ BDMS เข้าไปถือหุ้นตั้งแต่ปี 2547 แบบไม่ให้ผู้ถือหุ้นใหญ่รู้ตัว

ว่ากันว่าต้นทุนที่ได้มาราคาอยู่ที่13-14 บาท มูลค่าอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท จนในปี 2562 มีการรวมทุนดั้งเดิมกลุ่มหมอถือหุ้น RAM ทำการขอซื้อหุ้นคืนต้องใช้เงิน 12,800 ล้านบาท เท่ากับดีลนี้ได้กำไรไปเป็นหมื่นล้านบาท

ส่วนหุ้นที่ยังถืออยู่ในปัจจุบันมีที่มาไม่ธรรมดา บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) หรือ SVH ซึ่งมีรายชื่อ BDMS เข้าไปถือหุ้นปี 2545 พร้อมกับเกมเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด เพราะเป็นที่กล่าวขานในวงการว่าเป็นการ "ไล่ซื้อหุ้น" และเทคโอเวอร์แบบ "ไม่เป็นมิตร" ตามสูตรของหมอเสริฐ

แต่ที่ทำให้กลายเป็นเคสร่ำลือในวงการคือผู้ก่อตั้ง SVH เป็นเพื่อนกันมาก่อน ไว้วางใจให้เป็นผู้อำนวยโรงพยาบาลกรุงเทพคนแรก และออกไปแยกทำ โรงพยาบาลเอง คือ สมิติเวช ในปัจจุบัน และปัจจุบัน BDMS รวบถือหุ้นทั้งหมดถึง 95.76 %

นอกจากนี้ “หมอเสริฐ” ยังเข้าไปถือหุ้น บริษัท บางกอก เชน ฮอลปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH ในกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ผ่าน BDMS 1.5 % ตั้งแต่ปี 2555 โดยใช้สูตรเดิม คือ ไม่บอกกล่าวเจ้าของแต่ซื้อหุ้นต่อจาก BH ที่ถอนตัวออกไปจนในปี 2559 ยอมขายหุ้นออกมา เพราะไม่สามารถไล่ซื้อหุ้นเพิ่มได้มากกว่านี้จากกลุ่มครอบครัวหาญพาณิชย์ ที่กอดหุ้นตัวเองไว้แน่นมากกว่า 50 %

ขณะที่การก้าวเข้ามาถือหุ้นใน โรงพยาบาล บำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH ตั้งแต่ปี 2554 ที่ 11.14 % จนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ที่ 24.92 % ทิ้งห่างอันดับ 2 บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI ของกลุ่มโสภณพณิช เหมือนจะเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกัน 

จากทั้งสองบริษัทมีรายชื่อเข้าไปถือหุ้นกันหลายบริษัททั้ง BDMS ,บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ,โรงพยาบาล นนทเวช จำกัด (มหาชน) หรือ NTV เป็นต้น

แต่ความเคลื่อนไหวของกลุ่มโสภณพณิช ที่มีหลัง BDMS ประกาศเทคโอเวอร์ตั้งโต๊ะซื้อหุ้น (Tender Offer)ที่ราคา 125 บาท มูลค่า 85,612 ล้านบาท และอาจจะเพิ่มราคาอีกไม่เกิน 20 % ว่า "ไม่ขาย" และยังไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อนด้วยว่าจะเข้าซื้อ เท่ากับดีลนี้ ตรงตามสไตล์ Hostile Takeover อีกเช่นเดิม

ดังนั้นอาจจะเห็นการ "งัดข้อ" กันระหว่างสองทุนใหญ่ เพราะการประกาศจุดยืนสวนทางอย่างชัดเจน โดยเฉพาะBDMS ที่ชอบความเป็นหนึ่งสามารถโอกาสเก็บของดีราคาถูกรวบหุ้นไว้เอง เพราะเป็นโรงพยาบาลที่ฮิตติดลมบนในฐานลูกค้าต่างประเทศไปแล้ว แม้ว่าช่วงนี้จะได้รับผลกระทบแต่ไม่ได้มีผลในระยะยาว 

อย่างไรก็ตามด้วยดีลนี้อาจจะไม่ง่ายดังใจ ‘หมอเสริฐ’ เหมือนหลายดีลที่ผ่าน เนื่องจากผู้ถือหุ้นอันดับสองมีกำลังทุนไม่แพ้กัน และการได้ BH ยังเจอประเด็นผูกขาดเหนือตลาด หลังคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ระบุหากมีการรวมกันมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด และเมื่อนับรายได้ทั้งสองโรงพยาบาลมากถึง "แสนล้านบาท" ทำให้ต้องขออนุญาตจาก กขค. ก่อนดำเนินการ 

ดังนั้นดีลนี้อาจทำให้ ฉายาหมอนักเทคฯ อาจจะไม่ขลังเป็นครั้งแรกก็ได้