ส่องธุรกิจธนาคารเอเชีย ยุคไวรัสโคโรน่าระบาด

ส่องธุรกิจธนาคารเอเชีย ยุคไวรัสโคโรน่าระบาด

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ทำให้รายได้ของธนาคารชั้นนำอย่างเอชเอสบีซี โฮลดิงส์ และธนาคารคู่แข่งในเอเชีย หดหายไปกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ หากว่าสถานการณ์แพร่ระบาดยืดเยื้อยาวนานไปจนถึงเดือน มี.ค. ผลกระทบจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ทำให้รายได้ของธนาคารชั้นนำอย่างเอชเอสบีซี โฮลดิงส์ และบรรดาธนาคารคู่แข่งในเอเชีย หดหายไปกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งยังทำให้เกิดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจแก่อุตสาหกรรมธนาคารเพิ่มขึ้น หากว่าสถานการณ์แพร่ระบาดยืดเยื้อยาวนานไปจนถึงเดือน มี.ค. ผลกระทบที่กล่าวมาจะเพิ่มขึ้นสองเท่า

ธนาคารเอชเอสบีซี ซึ่งมีฐานดำเนินงานอยู่ในสหราชอาณาจักร ที่วางแผนว่าจะเพิ่มเงินทุนในภูภาคเอเชีย คาดการณ์ว่าจะสูญเงินจากธุรกิจสินเชื่อเพิ่มเติมประมาณ 600 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากลูกค้าถูกบังคับให้ปิดกิจการ ประกอบกับความต้องการขอสินเชื่อเพื่อทำธุรกิจของลูกค้าลดน้อยลง

ส่วนธนาคารดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิงส์ ของสิงคโปร์ ที่ถือเป็นธนาคารใหญ่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแง่ของสินทรัพย์ ประเมินว่ารายได้โดยรวมของธนาคารจะลดลงขั้นต่ำ 100 ล้านดอลลาร์ ขณะที่เอสแอนด์พี โกลบอล เรตติงส์ ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่อาจทำให้เกิดหนี้เสียเพิ่ม ขึ้น 770,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนในจีนแผ่นดินใหญ่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้โดยรวมของธนาคารพาณิชย์จะเพิ่มขึ้น 3 เท่า

ผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์ จัดทำโดยนิกเคอิ เอเชียน รีวิว บ่งชี้ว่า ธนาคารรายใหญ่สุดของจีนแต่ละแห่ง ทำใจไว้แล้วว่าจะต้องขาดทุนเป็นเงินกว่า 300 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การเติบโตของธุรกิจสินเชื่อจะปรับตัวลดลง ส่วนรายได้ที่มาจากการขายผลิตภัณฑ์บริหารจัดการความมั่งคั่ง ประกัน การค้า และการบริหาร จัดการเงินทุนจะปรับตัวลดลง

มูดี้ส์ อนาไลติกส์ เปิดเผยในรายงานล่าสุดว่า มีโอกาส 40% ที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จะแพร่ระบาดทั่วโลก (Pandemic) ซึ่งจะส่งผลกระทบ ต่อประชาชนจำนวนมากทั่วโลก โดยหากสถานการณ์เป็นไปตามที่คาดไว้ ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

มูดี้ส์ ระบุว่า เศรษฐกิจทั่วโลกมีความเปราะบางอยู่แล้วก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาด และมีแนวโน้มที่จะผันผวนไปตามสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ซึ่งรวมถึงการแพร่ ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนี้ นอกจากนี้ มูดี้ส์ ยังเตือนว่า โรคโควิด-19 จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะขาลง และแม้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อนโยบายการเงินของสหรัฐแค่ในวงจำกัด แต่ก็คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจต้องเข้ามาดำเนินมาตรการเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในที่สุด แต่มูดี้ส์ก็มองว่า ยังไม่มีแนวโน้มที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินแต่อย่างใด

ส่วนธุรกิจธนาคารในเกาหลีใต้ ล่าสุด ชิน อิล นักวิเคราะห์จากเอสเค ซีเคียวริตี้ โค มีความเห็นว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (บีโอเค) มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตรา ดอกเบี้ยนโยบายในเดือน เม.ย. เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

“มีโอกาสสูงที่บีโอเคจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจนแตะระดับ 1% ในการประชุมเดือน เม.ย. หลังจากที่ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ลงเหลือ 2.1% แม้จะยังไม่เห็นข้อมูลการส่งออกหรือตัวเลขบ่งชี้ดัชนีทางเศรษฐกิจอื่นๆ ก็ตาม” นายชินกล่าว

ทั้งนี้ บีโอเค มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในการประชุมเมื่อวันที่ 27 ก.พ. พร้อมปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2563 ลง 0.2% สู่ระดับ 2.1%

สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุด ทางการเกาหลีใต้รายงานในช่วงเช้าของวานนี้ (28 ก.พ.) ว่า พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เพิ่มอีก 256 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อในประเทศขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็น 2,022 ราย ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 13 ราย

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในจีนยังคงมีอยู่ แต่บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมของจีน (เอสเอ็มอี) ก็เริ่มเปิดทำการอีกครั้ง เนื่องจากจีนได้ยกระดับนโยบายสนับสนุน ซึ่งเอื้อให้บริษัทเหล่านี้สามารถทำธุรกิจได้ แม้ว่าจีนจะยังคงเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ก็ตาม

“เจียง เค่อเจียง” รัฐมนตรีช่วยกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า “เราจะสร้างหลักประกันถึงการใช้นโยบายที่เอื้อประโยชน์และช่วยสนับสนุนการเปิดบริการของธุรกิจต่างๆ อีกครั้ง โดยมีแนวทางที่สามารถยืดหยุ่นตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในแต่ละท้องที่”

นอกจากนี้ ทางการยังออกมาตรการทางการเงินที่ช่วยสนับสนุนเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยสินเชื่อ ภาษี หรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทางธุรกิจ ขณะที่ บริษัทต่างๆ เริ่มกลับมาทำงานกันตามปกติมากขึ้น โดยข้อมูลนับจนถึงวันพุธที่ 26 ก.พ. ระบุว่า จำนวนบริษัทที่กลับมาเปิดทำการอยู่ที่ 32.8% ซึ่งเพิ่มขึ้น 3.2% จากวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการสำรวจบริษัท 2.2 ล้านแห่งผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

ส่วนในเกาหลีใต้ ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่อย่างหนัก เช่นเดียวกันนั้น “ลี จู-ยอล” ผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีใต้ ประกาศจัดหาเงินกู้ เพื่อสนับสนุนบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แทนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงิน โดยลี กล่าวว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากเพียงใด

ลี กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ในขณะนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางเกาหลีใต้มองว่า นโยบายการจัดสรรเงินกู้ให้กับบริษัทที่ได้รับผลกระทบ มีประสิทธิภาพมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยธนาคารกลางได้ตัดสินใจปรับเพิ่มเพดานการปล่อยเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับบริษัทที่ได้รับผลกระทบ