มองโอกาสหลังโควิด-19 กับ ‘ดับบลิวเอชเอกรุ๊ป’

มองโอกาสหลังโควิด-19 กับ ‘ดับบลิวเอชเอกรุ๊ป’

ภายใต้บรรยากาศสงครามการค้าที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ แถมยังมีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) มากระหน่ำซ้ำเติม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ร่วงวันแล้ววันเล่าตามตลาดหุ้นโลก เหล่านี้ล้วนไปเรื่องบั่นทอนขวัญและกำลังใจของนักลงทุนทั้งสิ้น

แต่ไม่ใช่กับ จรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เธอกล่าวในเวที CEO Forum จัดโดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ หัวข้อ “Smart Logistics, connecting Thailand to Global Value Chain” กับเหล่าทูตานุทูตและผู้แทนการค้านานาชาติเมื่อวันก่อน ชนิดที่มองเห็นโอกาสในทุกวิกฤติ เริ่มจากวิกฤติใหญ่สุดในขณะนี้ 

“โควิด-19 เป็นทั้งความท้าทายและโอกาส ความท้าทายคือเมื่อสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว เราจะเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสยังไง” จรีพร กล่าวถึงปัญหาที่ทุกคนกังวลกันมากที่สุดในตอนนี้ นั่นคือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ แต่เธอยังไม่ตื่นตระหนกโดยดูตัวอย่างจากการแพร่ระบาดของซาร์สเมื่อ 18 ปีก่อน 

“ตอนที่โรคซาร์สระบาดในจีนนาน 2 ปี จีนตอนนั้นกับตอนนี้แตกต่างกันมาก ดิฉันเพิ่งไปจีนมาเมื่อเดือน พ.ย. ดูงานด้านเทคโนโลยีดูแลสุขภาพ จีนก้าวหน้าไปมาก ไม่เหมือนก่อนอีกแล้ว" 

ในแง่ผลกระทบ จรีพรเล่าว่าเมื่อซาร์สสิ้นสุด จีดีพีจีนฟื้นตัวเร็วมากภายในเวลาราว 6 เดือน เช่นเดียวกับผลกระทบต่อเนื่องที่ไทยได้รับจากการที่นักท่องเที่ยวลดลงก็เป็นแค่ระยะสั้น ผ่านไป 6 เดือนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาก

ส่วนผลกระทบในแง่ของการลงทุนซีอีโอดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปชี้ว่า ในแง่ของการลงทุนภาคอุตสาหกรรมช่วงที่โควิด-19 ระบาด มีการพูดถึงจีน+1 ซึ่งหมายถึงจีนและประเทศอื่นๆ ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์ตรงนี้

ในฐานะที่ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป เป็นบริษัทที่เริ่มต้นจากการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม จากนั้นรุกเข้าสู่ธุรกิจโลจิสติกส์ ระบบสาธารณูปโภคและพลังงาน และบริการด้านดิจิทัล ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะเชื่อมโยงไทย ภูมิภาค เข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าของโลก

ซีอีโอได้ขยายความนโยบายจีน+1 ที่จะรวมถึงไทยด้วย จากจุดแข็งของประเทศที่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีมาก เป็นศูนย์กลางแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ภาคเอกชนเพียงฝ่ายเดียวคงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทำเลยุทธศาสตร์นี้ได้เต็มศักยภาพ เพื่อกระจายการพัฒนาและความมั่งคั่งไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม อย่างทั่วถึงกัน จำเป็นต้องได้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือด้วย 

“สิ่งที่ภาครัฐควรทำคือการเชื่อมต่อ (Connectivity) ถ้ามองเฉพาะไทย เราเป็นประเทศเล็กที่ไปแข่งกับประเทศอื่น แต่ถ้าเรารวมกันในนามอาเซียน อย่างที่รู้กันว่าการพัฒนาเปลี่ยนจากตะวันตกมาสู่ตะวันออก ส่วนใหญ่เป็นประเทศในเอเชีย และจีนก็มองมาที่อาเซียน เราจึงต้องเชื่อมโยงกันในภูมิภาค เราไม่ควรแข่งขันกันเอง แต่ควรเป็นพันธมิตรกันในภาคส่วนต่างๆ”

จรีพรยกตัวอย่างตัวช่วยส่งเสริมความเป็นพันธมิตรในภูมิภาค อย่างโครงการสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) หรือบีอาร์ไอ โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของจีนที่จะเชื่อมโลกเข้าด้วยกัน เพราะแต่ละประเทศล้วนมีความแข็งแกร่งแตกต่างกัน เช่น หากมองในอาเซียน ไทยแกร่งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน แต่เวียดนามเด่นเรื่องแรงงานราคาถูกกว่า เช่นเดียวกับกัมพูชา เมียนมา ด้วยเหตุนี้ทุกฝ่ายควรคิดว่าจะเชื่อมต่อกันอย่างไร เพื่อผลิตสินค้าในประเทศที่ต้นทุนการผลิตต่ำสุดแล้วส่งออกไปประเทศอื่น ไม่จำเป็นต้องแข่งขันแต่ต้องร่วมมือกัน

บทบาทของภาครัฐในที่นี้ก็คือสนับสนุนภาคเอกชนสร้างการเชื่อมต่อระหว่างกัน เนื่องจากภาคเอกชนเข้าไปลงทุนในต่างประเทศส่วนใหญ่ประสบกับความยากลำบาก ตอนที่ดับบลิวเอชเอเข้าไปลงทุนในเวียดนามครั้งแรกเจอปัญหามากมาย กังวลกับหลายๆ เรื่อง หรือตอนนี้เงินบาทแข็งค่าภาคเอกชนคุยกันว่าจำเป็นต้องไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งภาคเอกชนพร้อมแล้ว แต่ต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย 

ส่วนการสร้างซัพพลายเชนในภูมิภาคนั้น การที่ดับบลิวเอชเอทำธุรกิจด้านดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานที่จะนำไปสู่การคมนาคมไปมาหาสู่กันอย่างราบรื่น จรีพรเชื่อมั่นว่าไทยจะได้รับประโยชน์จากโครงการบีอาร์ไอ รวมไปถึงกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีที ที่มีกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนามรวมอยู่ด้วย แต่ทุกอย่างต้องมีข้อพึงระวัง 

“ถ้าโครงการบีอาร์ไอเสร็จสมบูรณ์ย่อมน่าสนใจมาก แต่ทุกอย่างต้องมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ด้านลบคือสินค้าจากจีนจะไหลเข้ามาสู่ภูมิภาคเรา ด้านบวกคือสินค้าในภูมิภาคสามารถส่งออกได้ทั่วโลกเช่นกัน เพราะโครงการบีอาร์ไอเชื่อมโยงราว 67 ประเทศทั่วโลกเข้าไว้ด้วยกัน การลงทุนจากจีนจะเข้ามาในภูมิภาค ถ้ากลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีทีจับกลุ่มไปด้วยกัน แต่ละประเทศผลิตสิ่งที่ตนถนัด เช่น สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ ไม่แข่งขันกันก็จะสามารถใช้เส้นทางบีอาร์ไอส่งออกไปสู่ภูมิภาคอื่นของโลก” 

ซีอีโอ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ตอกย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงสาธารณูปโภคในภูมิภาค

“ลองนึกภาพแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกตอนใต้ ถ้าเราสามารถเดินทางจากทวายสู่กาญจนบุรี อีอีซี กัมพูชา โฮจิมินห์ หวังเต่า จะกลายเป็นเส้นทางลัดที่สำคัญมากไปเชื่อมต่อกับบีอาร์ไอ” 

กรณีสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่มีปัญหามาร่วม 2 ปี ทำให้ทุนจีนหนีเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แต่หลายคนกังวลว่าถ้าหากสงครามการค้าสิ้นสุดแล้วทุนจีนไหลกลับประเทศ ไทยจะมีมาตรการรับมืออย่างไร

“ในทัศนะของดิฉัน สงครามการค้าเป็นแค่ตัวเร่งปฏิกิริยา จีนออกไปลงทุนในต่างประเทศมานานแล้ว เนื่องจากต้นทุนในประเทศสูง ทั้งค่าแรง ราคาที่ดิน รวมถึงกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น ช่วง 10 ปีที่ผ่านมานักลงทุนจีนจึงออกไปลงทุนทั่วโลก และเท่าที่คุยกับลูกค้ารายใหญ่ๆ จากจีนได้ความว่าถ้านักลงทุนจีนจะออกไปนอกประเทศมักดูอาเซียนเป็นที่แรก โดยดูที่ไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย เพราะไทยมีโครงสร้างพื้นฐานดีที่สุดในอาเซียน ผู้คนเอื้ออำนวย อัตราการใช้อินเทอร์เน็ตสูง และที่สำคัญไทยมีทำเลศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียน” 

ส่วนเวียดนามเหมือนกับจีนเมื่อ 20 ปีก่อน มีโอกาสในการเติบโตมากและอินโดนีเซียมีประชากรจำนวนมากกว่า 200 ล้านคน ตลาดในประเทศมีพลัง จรีพรมองว่าเหล่านี้คือปัจจัยหลักที่มีสงครามการค้ามาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้นักลงทุนจีนต้องไปไกลกว่าที่คาดไว้ ยิ่งมีโควิด-19 เกิดขึ้นยิ่งต้องพูดถึงการย้ายฐานแบบจีน+1 ที่จะได้เห็นช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ถือเป็นสัญญาณดีของภูมิภาคเรา

“โดยส่วนตัวดิฉันยังมองเห็นโอกาสมากมายในภูมิภาคนี้ถ้าเรารวมกลุ่มไปด้วยกัน เช่นในนามซีแอลเอ็มวีที ไม่แข่งกันเอง ก็จะแข่งกับกลุ่มอื่นได้ เพราะลำพังไทยประเทศเดียวนั้นเล็กมาก แต่ถ้ารวมกันประชากรมีจำนวนมาก ใช้ซีแอลเอ็มวีทีเป็นทำเลยุทธศาสตร์เหมาะสำหรับการลงทุน ไม่ใช่แค่ทางผ่านไปหาประเทศอื่น ไปด้วยกัน เชื่อมต่อกัน โอกาสในอนาคตยังมีอีกมาก” 

จากภาพรวมในภูมิภาคมาถึงนโยบายสมาร์ทซิตี้ของไทยที่หลายคนยังเป็นห่วงเรื่องอุปสรรค จรีพรเล่าว่า  มีบริษัทจากหลายประเทศติดต่อเข้ามา เดิมทีลูกค้าจะหารือเรื่องอุตสาหกรรมเป็นรายคลัสเตอร์ เช่น รถยนต์ หุ่นยนต์ หรืออื่นๆ แต่ตอนนี้บริษัทที่จะเข้ามาลงทุนจะดูถึงการเชื่อมโยงกับสมาร์ทซิตี้ด้วย ซีอีโอรายนี้แนะนำให้ไทยต้องเตรียมพร้อมสำหรับความเป็นเมืองอัจฉริยะ ไม่ใช่แค่เตรียมพื้นที่อุตสาหกรรม แต่ต้องเตรียมพื้นที่อยู่อาศัยแบบสมาร์ทซิตี้ให้กับนักลงทุนด้วย 

“นักลงทุนถามว่าตอนนี้ทำเมืองอัจฉริยะได้หรือยัง ดิฉันว่ารออีก 2-3 ปีให้การลงทุนอุตสาหกรรมเกิดขึ้นก่อนแล้วเมืองอัจฉริยะจึงตามมา สมาร์ทซิตี้เป็นเรื่องของแนวคิดจำพวกพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สมาร์ทพีเพิลจึงน่าสนใจสำหรับบริษัทที่ทำด้านนี้ควรสำรวจหาช่องทางให้มากขึ้น"