สศช.-ธปท.ส่งสัญญาณเตือน 'โควิด'ฉุดจ้างงานหดตัว

สศช.-ธปท.ส่งสัญญาณเตือน 'โควิด'ฉุดจ้างงานหดตัว

หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ 2 แห่ง คือ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ธปท.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความกังวลถึงผลกระทบต่อการจ้างงานจากโรคโควิด-19

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า รายงานภาวะสังคมไตรมาสที่ 4 และภาพรวมปี 2562 ระบุถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในปี 2562 ทำให้อัตราการจ้างงานไตรมาส 4 ปี 2562 อยู่ที่ 37.5 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.1% ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 และส่งผลให้การจ้างงานปี 2562 ลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า รวมถึงการส่งออกที่ลดลงและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในปีก่อนก็เป็นปัจจัยที่กระทบการจ้างงานปีที่แล้ว

สถานการณ์ด้านแรงงานปี 2563 สศช.ประเมินว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบตลาดแรงานและการจ้างงานมากขึ้น 4 ปัจจัยคือ 1.ภาวะภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปี กระทบการจ้างงานในภาคเกษตร 2.การส่งออกและการผันผวนของค่าเงินบาทที่ สศช.ประเมินว่าการส่งออกจะขยายตัวได้เพียง 1.4% ปัจจัยลบต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมการส่งออก 

3.ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2563 ที่เพิ่งจะมีเม็ดเงินลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจในส่วนของงบลงทุนเพียง 6.3% ของวงเงินลงทุนทั้งหมด ทำให้เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำและส่งผลต่อการจ้างงานในภาคการก่อสร้างได้

4.การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะกระทบกับภาคการท่องเที่ยวของไทยโดยตรง ในสาขาบริการหลัก 3 สาขา คือ สาขาการค้าส่งและค้าปลีก สาขาการจนส่ง และสาขาโรงแรมภัตตาคาร และอาจเกี่ยวเนื่องไปถึงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมได้ 

ส่วนการช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานภาคการท่องเที่ยวนั้น กระทรวงการคลัง และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเสนอมาตรการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 3 มี.ค.นี้พิจารณาให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนทั้งผู้ประกอบการและแรงงาน

“สศช.จับตาภาวะการจ้างงานและอัตราการว่างงานปีนี้ใกล้ชิด เพราะมีผลกระทบจากหลายปัจจัย และช่วงวิกฤติเศรษฐกิจแรงงานย้ายกลับไปภาคเกษตร แต่ปีนี้ภาคเกษตรเองก็เจอภัยแล้ง เรื่องนี้รัฐบาลต้องมีมาตรการในการรองรับและให้ความช่วยเหลือ”

158289970695

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แถลงตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ม.ค.2563 ภาพรวมเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะ “ชะลอตัว” ต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำ การผลิตภาคอุตสาหกรรม เครื่องชี้วัดการลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวต่อเนื่อง

ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตามรายได้เกษตรกรขยายตัวสูงขึ้น ส่วนภาคการท่องเที่ยวขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน เพราะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดหนักในช่วงปลายเดือน

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเดือน ม.ค.2563 มีเครื่องชี้วัดหลายตัวที่สะท้อนความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะ “ตลาดแรงงาน” ซึ่งในเดือนดังกล่าว พบว่าอัตราสิ้นสุดสัญญาจ้างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันคิดเป็น 5% ของผู้รับสิทธิว่างงานทั้งหมด

สำหรับ อัตราสิ้นสุดสัญญาจ้างที่เพิ่มขึ้น มาจากหลายสาเหตุ ซึ่งรวมถึงการเลิกจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การขอรับสิทธิว่างงานจากประกันสังคมเพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดแรงงานมีความเปราะบางมากขึ้น และหากสถานการณ์ข้างหน้ายังเพิ่มขึ้น จะยิ่งส่งผลให้ภาคแรงงานไทยเปราะบางสูงขึ้นต่อเนื่อง

ภาคการท่องเที่ยวเดือน ม.ค.ขยายตัวได้ 2.5% แต่หากดูนักท่องเที่ยวเดือน ก.พ.พบว่าลดลงแล้ว 45-50% ส่วนการส่งออกขยายตัว 3.5 % แต่หากไม่รวมทองคำยังติดลบ 1.3% สะท้อนความต้องการสินค้าจากต่างประเทศอ่อนแอ

ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว หลังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากภาคส่งออกที่หดตัว และสถานการณ์ภัยแล้ง ขณะที่การลงทุนเอกชน หดตัว ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อเนื่องอยู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่ ก.ย.2544 เป็นการลดลงต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นใจของคนในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยเริ่มลดลง

ขณะที่การลงทุนภาครัฐ การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวสูงจาก พ.ร.บ.งบประมาณยังไม่ประกาศใช้ ทำให้การใช้งบรายจ่ายประจำติดลบ 20.4 % และรายจ่ายการลงทุนติดลบ 35.5%

“คาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก จะเป็นไตรมาสที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำสุดของปี 2563 ตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ก.พ.จะเป็นเดือนที่เศรษฐกิจลงลึกที่สุด เพราะ ม.ค.ผลกระทบจากโควิด-19 มีไม่มากนัก แต่ผลกระทบหนักใน ก.พ.”

นายดอน กล่าวว่า ช่วงนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขอให้ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจใกล้ชิด โดยเฉพาะ 3 ปัจจัย คือ 1.การระบาดของโควิด-19 จะยื้ดเยื้อแค่ไหน แม้เริ่มเห็นจีนเข้าใกล้สู่จุดที่คุมการแพร่ระบาดได้ อัตราการเพิ่มน้อยลง แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ อัตราการพบนอกจีนมากขึ้น เช่น เกาหลีใต้ ยุโรป สหรัฐ ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจโลกระยะถัดไป

หากมีการแพร่ระบาดทั้งปีนี้ ก็มีโอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่า 1%

2.สถานการณ์ภัยแล้ง ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น 3.พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 จะมีเม็ดเงินที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร