สศช.ยกวิจัยจีน ชี้ PM2.5 ทำคนอ่อนแอ เสี่ยง ‘โควิด-19’ เพิ่มขึ้น

สศช.ยกวิจัยจีน ชี้ PM2.5 ทำคนอ่อนแอ เสี่ยง ‘โควิด-19’ เพิ่มขึ้น

สศช.จี้แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 จริงจัง หลังผลวิจัยจากจีนระบุเป็นสาเหตุทำให้คนร่างกายอ่อนแอเยื่อบุตา ปาก อักเสบ ทางเดินหายใจติดขัด ทำพลเมืองติดไวรัสง่ายและเสี่ยงเป็นโควิด-19 มากขึ้น  พร้อมแนะรัฐให้ความสำคัญวางแผนป้องกันโรคอุบัติใหม่-อุบัติซ้ำในอนาคต  

นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวระหว่างแถลงภาวะสังคมไตรมาส 4 /2562และภาพรวมทั้งปี 2562 วันนี้ (28 ก.พ.) ว่าในประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังที่ต่อเนื่องจากปี 2562 ทั้งโรคที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เช่น ไข้หวัด โรคปอดอักเสบ และโรคจากยุงเป็นพาหะ เช่น ไข้เลือดออก และชิคุนกุนยา รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ เช่น โรคปอดอักเสบจากเชื้อโควิด-19 (COVID-19: Corona Virus Disease 2019) และ โรคที่เกิดจากพฤติกรรม โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ที่สามารถป้องกันได้ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ฯลฯ และโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม ซึ่งพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่ามีงานวิจัยทางการแพทย์ของประเทศจีนเกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด-19 ชี้ว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 กับไวรัสเป็นปัจจัยเกื้อหนุนกัน เนื่องจากฝุ่น P.M2.5 ทำให้เกิดอาการระคายเคืองเยื่อบุตา ปาก ทางเดินหายใจ เมื่อเกิดการอักเสบแล้ว จะทำให้ไวรัสสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น

ดังนั้นภาครัฐและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเรื่อง PM2.5 อย่างจริงจังเพื่อลดความเสี่ยงที่ประชาชนจะเจ็บป่วยได้ง่ายและเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อไวรัสโคโรนาและมีอาการเจ็บป่วยจากโรคอื่นๆด้วย 

นอกจากนี้ผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ฝุ่น PM2.5 เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายสูงขึ้น 2.5 % อีกทั้งส่งผลเกี่ยวข้องกับการอักเสบของสมอง ทำลายเยื่อประสาท และการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน โดยที่เด็ก คนสูงวัย และกลุ่มประชากรที่เสี่ยงในสังคมมีโอกาสได้รับผลกระทบมากที่สุด 

สศช.ยังรายงานด้วยว่าในไตรมาสสี่ปี 2562 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 256139.4%  โดยมีจำนวนผู้ป่วยสูงสุด 3 ลำดับแรกจากโรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ และไข้เลือดออก พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น105.3 % เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นลง โดยพบผู้ป่วยสูงสุดในพื้นที่ภาคกลาง ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกและโรคปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 35.1% และ 12.7% ตามลำดับ 

ในภาพรวมทั้งปี 2562 พบผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นจากปี 2561 34.8%ซึ่งเป็นการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่และโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการกลับมาของโรคซิฟิลิสที่พบอัตราป่วยเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 15-24 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่น วัยเรียน วัยเจริญพันธุ์ และโรคหัด พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุ 1-6 ปี สำหรับปี 2563