40 ปีวิกฤติผู้ลี้ภัยอัฟกัน

40  ปีวิกฤติผู้ลี้ภัยอัฟกัน

ทุกครอบครัวล้วนต้องการให้ลูกหลานมีชีวิตที่ดีกว่าพ่อแม่ปู่ย่าตายาย แต่จะเป็นอย่างไรถ้าคนในครอบครัว 3 เจเนอเรชั่น ปู่ พ่อ ลูก ต้องกลายเป็น “ผู้ลี้ภัย” อย่างที่ชาวอัฟกันจำนวนมากประสบมาตลอด 40 ปี นับตั้งแต่สหภาพโซเวียตรุกรานอัฟกานิสถานเมื่อปี 2522

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) จัดเสวนา “ยุติการพลัดถิ่นของชาวอัฟกัน : 4 ทศวรรษที่ผ่านมา” เมื่อวันก่อน เผยให้เห็นภาพความขัดแย้งและรุนแรงที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องในอัฟกานิสถาน บีบให้ชาวอัฟกัน 4.6 ล้านคนหนีภัยไปอยู่นอกประเทศ มีเพียง 2.7 ล้านคนที่ได้รับการลงทะเบียนผู้ลี้ภัย และทั้งหมดถือเป็นหนึ่งในประชากรที่ต้องพลัดถิ่นยาวนานที่สุดในโลก แถมยังต้องกระจายพรายพลัดกันไปอีกกว่า 80 ประเทศทั่วโลก แต่ 90% ของผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ได้ร่ำรวยอย่างปากีสถานและอิหร่าน ที่ให้ความช่วยเหลือคนกลุ่มนี้อย่างสุดกำลังความสามารถ 

ยูเอ็นเอชซีอาร์ ระบุว่าสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน เป็นประเทศที่รองรับผู้ลี้ภัยมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก มีผู้ลี้ภัยลงทะเบียนแล้วอาศัยอยู่ 1.4 ล้านคน ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาปากีสถานได้ปฏิรูปโครงการ Regugee Affected and Hosting Areas ช่วยเหลือทั้งผู้ลี้ภัยและชุมชนที่รองรับ ด้วยการสนับสนุนแผนการด้านการศึกษา สุขภาพ ความเป็นอยู่ โครงสร้างพื้นฐาน น้ำสะอาด สุขอนามัย และการจัดระบบการคุ้มครองทางสังคม รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ลี้ภัยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมทั้งด้านงบประมาณและเศรษฐกิจ เช่น ล่าสุดอนุมัติให้ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันเปิดบัญชีในประเทศได้ 

ส่วนอิหร่านที่ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมานาน แม้มหาอำนาจตะวันตกจะผ่อนคลายให้บ้างตามข้อตกลงนิวเคลียร์ แต่สหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงและคว่ำบาตรอิหร่านต่อไป ประเทศนี้กลับเปิดรับลงทะเบียนผู้ลี้ภัยมากถึง 9.5 แสนคน ที่น่าประทับใจคือปี 2558 รัฐบาลอิหร่านประกาศให้เด็กอัฟกันทุกคนในประเทศได้สิทธิเข้ารับการศึกษาไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด ส่งผลให้เด็กชาวอัฟกัน 1.3 แสนคนมีโอกาสได้เรียนหนังสือในโรงเรียนแม้ไม่มีเอกสารใดๆ ก็ตาม ปัจจุบันความสามารถในการอ่านและเขียนของเด็กอัฟกันในอิหร่านสูงถึง 69% จากเมื่อ 40 ปีก่อนมีเพียง 6% เท่านั้น 

สำหรับอัฟกานิสถานนอกจากประชาชน 4.6 ล้านคนหนีภัยไปต่างแดนแล้ว ยังมีชาวอัฟกันอีกเกือบ 4 แสนคนต้องพลัดถิ่นภายในประเทศ 

“40 ปีมาแล้วที่ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันต้องออกนอกประเทศ เวลาคุณพูดถึงสงคราม ความรุนแรง ภัยธรรมชาติ ความวุ่นวายทางการเมือง อัฟกานิสถานเจอมาหมดแล้ว ตั้งแต่สหภาพโซเวียตรุกรานเมื่อปี 2522 พ่อแม่ลูกหนีออกนอกประเทศ ถึงวันนี้อัฟกานิสถานกำลังอยู่บนทางแยก สหรัฐและตาลีบันกำลังทำข้อตกลงสันติภาพ ถือเป็นโอกาสใหม่ของการสร้างสันติภาพขึ้นในประเทศ สร้างเสถียรภาพในชีวิตให้ประชาชน” แคโรไลน์ วอง บูเรน ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศอัฟกานิสถาน เล่าพร้อมเสริมว่าตั้งแต่ปี 2545 ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันกว่า 5.2 ล้านคนจากอิหร่านและอัฟกานิสถานเดินทางกลับประเทศโดยสมัครใจ ถือเป็นผู้ลี้ภัยกลุ่มใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านกระบวนการสนับสนุนของยูเอ็นเอชซีอาร์  

เวทีหนึ่งที่เป็นกระบอกเสียงให้โลกไม่ลืมวิกฤติผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันคืองาน Refugee Summit Islamabad ที่จัดขึ้นในสัปดาห์ก่อนที่กรุงอิสลามาบัด ในโอกาสครบรอบ 40 ปี ปากีสถานรองรับผู้ลี้ภัยชาวอัฟกัน แอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้โลกเพิ่มความพยายามช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอัฟกันให้มากขึ้น ร่วมมือร่วมใจกันให้มากกว่าเดิมแก้วิกฤติผู้ลี้ภัยที่ใหญ่และยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งของโลก 

“ประเทศอัฟกานิสถานและประชาชนจะถูกทอดทิ้งไม่ได้ ถึงเวลาแล้วที่ประชาคมโลกต้องลงมือและทำให้สำเร็จ” 

เรื่องราวผู้ลี้ภัยนอกเล่าจากปากเจ้าตัวเองแล้ว คนที่เล่าเรื่องได้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้น “เจ้าบ้าน” นายกรัฐมนตรีอิมราน ข่าน แห่งปากีสถาน เล่าว่าการรับผู้ลี้ภัยก็มีประโยชน์ด้วยเช่นกัน ทั้งเจ้าบ้านและผู้ลี้ภัยได้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นในหลายแง่มุมของชีวิต “ความสัมพันธ์อันน่าทึ่งนี้จะอยู่ยั่งยืนยง” 

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ดังกล่าวมีผลข้างเคียงอันน่าพิสมัยอยู่ด้วยเหมือนกัน นายกฯ อดีตนักคริกเก็ตเล่าว่า ผู้ลี้ภัยอัฟกันเรียนรู้การเล่นคริกเก็ตจากเจ้าบ้านปากีสถาน

“แต่เรื่องหน้าแตกคือทีมคริกเก็ตอายุต่ำกว่า 19 ปีของเขา ดันเอาชนะทีมปากีสถานซะงั้น!!!”

เงื่อนไขสันติภาพในอัฟกานิสถานขึ้นอยู่กับสหรัฐและตาลีบันที่ทำสงครามกันมาตั้งแต่ปี 2544  ล่าสุดทั้งสองฝ่ายจะลงนามข้อตกลงประวัติศาสตร์กันในวันที่ 29 ก.พ.ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เปิดทางการถอนทหารสหรัฐออกจากอัฟกานิสถานที่ปัจจุบันอยู่ระหว่าง 12,000-13,000 นาย ตามคำมั่นที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เคยให้ไว้ว่าจะนำทหารกลับบ้าน หลังจากทำสงครามมานาน 18 ปี