ถอดรหัส 5 ข้อคิด… การลงทุนของไทยในต่างประเทศ  

ถอดรหัส 5 ข้อคิด… การลงทุนของไทยในต่างประเทศ  

สรุป 5 ประเด็นที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจมากขึ้น ในฐานะเครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนประเทศในระยะถัดไป

ท่ามกลางแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในปัจจุบัน หลายหน่วยงานได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการสร้างสมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้าย และดุลการชำระเงินของประเทศไว้หลายวิธี โดยเฉพาะการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยขยายการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งผมเห็นด้วยและขอให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม หลังจากที่การลงทุนไทยในต่างประเทศมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง และจะทวีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจมากขึ้นในฐานะเครื่องยนต์ใหม่ที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนประเทศในระยะถัดไป โดยผมวิเคราะห์และสรุปออกเป็น 5 ประเด็น ดังนี้

1.เครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engine) 

ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตจากภาคส่งออกและการลงทุนในประเทศเป็นหลัก แต่ระยะหลังเครื่องยนต์ดังกล่าวเผชิญกับข้อจำกัดและความท้าทายรอบด้านจนเริ่มแผ่วกำลังลง จึงจำเป็นต้องหาแรงขับเคลื่อนใหม่มาเสริมทัพ หนึ่งในนั้นคือการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจเดินหน้าและก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) บรรลุตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 

เช่นเดียวกับโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของหลายประเทศที่ใช้การลงทุนในต่างประเทศเป็นเครื่องยนต์เสริมควบคู่กับเครื่องยนต์อื่นๆ ในการยกระดับสู่ประเทศรายได้สูง เช่น เกาหลีใต้ส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศจนติด 1 ใน 10 ประเทศที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศสูงสุดของโลกและก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้สูงตั้งแต่ปี 2536 มาเลเซียออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นจนแซงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศตั้งแต่ปี 2550 และมีส่วนช่วยให้รายได้ประชาชาติต่อหัวขยายตัวก้าวกระโดด จนธนาคารโลกคาดว่ามาเลเซียจะเลื่อนชั้นเป็นประเทศรายได้สูงในปี 2564

2.ขุมทรัพย์แห่งใหม่ (New Source of Income) 

ปัจจุบันตลาดในประเทศเริ่มชะลอตัวจากข้อจำกัดหลายด้าน ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยเริ่มออกไปแสวงหาโอกาสทางธุรกิจและขยายตลาดในต่างประเทศมากขึ้น จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปี 2561 พบว่ามีบริษัทจดทะเบียนฯ ถึง 231 บริษัทที่ไปลงทุนในต่างประเทศแล้ว คิดเป็น 40% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด

ยิ่งไปกว่านั้น รายได้จากตลาดต่างประเทศของกลุ่มบริษัทดังกล่าวเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี แซงหน้ารายได้จากตลาดในประเทศที่โตราว 9% ต่อปี (ปี 2559-2561) เช่นเดียวกับสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศต่อรายได้รวมก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 29% ในปี 2559 เป็น 31% ในปี 2561 จะเห็นได้ว่าตลาดต่างประเทศกำลังก้าวขึ้นมาเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่สร้างความเติบโตและความมั่งคั่งแก่ธุรกิจไทยในระยะถัดไป

3.สปริงบอร์ดใหม่สู่นวัตกรรมและตลาด (New Springboard for Innovation & Market) 

ธนาคารโลกชี้ว่า การลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะการเข้าซื้อกิจการ เป็นอีกหนึ่งสปริงบอร์ดหรือช่องทางลัดที่ช่วยให้เข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่จากบริษัทที่เข้าไปลงทุนได้อย่างรวดเร็ว เพื่อต่อยอดสู่การยกระดับธุรกิจและขยายตลาด เช่น กรณีบริษัท Lenovo ของจีนซื้อกิจการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของ IBM ในปี 2548 เพื่อนำเทคโนโลยีของ IBM มาพัฒนาและต่อยอดจน Lenovo ก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 3 ผู้นำของตลาดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กโลกในปัจจุบัน

4.ทางด่วนสายใหม่ยกระดับ SMEs (New Highway to Upgrade SMEs) 

ปัจจุบันธุรกิจไทย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ออกไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อสร้างฐานการผลิตและกระจายความเสี่ยงมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพเล็งเห็นโอกาสและเริ่มออกไปลงทุน ทั้งลงทุนเองและเข้าไปเชื่อมโยงในรูปแบบ Supply Chain กับรายใหญ่ที่ลงทุนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจ

หากสามารถส่งเสริมและเพิ่มจำนวน SMEs ให้ออกไปต่างประเทศมากขึ้น จะเป็นอีกหนึ่งกลไกขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตและยกระดับสู่กิจการขนาดใหญ่ได้เร็วขึ้น ตลอดจนช่วยเสริมรากฐานและเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง เช่น เกาหลีใต้ส่งเสริม SMEs ให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศอย่างจริงจัง จนปัจจุบัน SMEs มีสัดส่วนราว 50% ของการลงทุนในต่างประเทศทั้งหมด

5.เครื่องมือใหม่เสริมเสถียรภาพ (New Tool for Economic Stability) 

ท่ามกลางสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ดังนั้น การลงทุนในต่างประเทศจะมีส่วนสร้างสมดุลของ
ดุลบัญชีเดินสะพัดและลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท ดังเช่นบางประเทศที่แม้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง แต่ค่าเงินกลับไม่ได้แข็งค่า เช่น ไต้หวันที่ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP เกินดุลถึง 11% ในปี 2562 แต่ด้วยไต้หวันออกไปลงทุนในต่างประเทศสูงกว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเกือบ 4 เท่า (ไทยอยู่ที่ 2.5 เท่า) เมื่อเสริมเข้ากับปัจจัยอื่นๆ จึงมีส่วนช่วยให้เงินดอลลาร์ไต้หวันเฉลี่ยทั้งปีอ่อนค่าลง 2.4%

การลงทุนในต่างประเทศนับเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการไทย รวมถึงเป็นเครื่องยนต์ในการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้สูงขึ้น

การลงทุนในต่างประเทศนับเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการไทย รวมถึงเป็นเครื่องยนต์ในการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้สูงขึ้น นอกจากนี้ ผมฝากข้อคิดว่าการลงทุนในต่างประเทศอย่างยั่งยืนควรให้ความสำคัญและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตและกระจายรายได้แก่ชุมชนในพื้นที่ที่เข้าไปลงทุน เพื่อร่วมกันเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK