เรียนรู้ '7ประเด็น' จากคนไทยป่วย 'โควิด-19'

เรียนรู้ '7ประเด็น' จากคนไทยป่วย 'โควิด-19'

มีอย่างน้อย 7 ประเด็นที่สังคมไทย ควรจะเรียนรู้จากผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) 4 รายล่าสุด ทั้งกรณีปู่ย่าที่กลับจากญี่ปุ่นและติดมาสู่หลาน และไกด์กลับจากเกาหลีใต้

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19ในช่วงนี้มีสิ่งที่เห็นชัดอยู่ 6 ประเด็น ได้แก่

1.สถานการณ์ในประเทศไทยอยู่ระยะ 2 เนื่องจากมีผู้ป่วยต่างชาติและคนไทยที่ติดเชื้อจากต่างประเทศและในประเทศวงจำกัด ซึ่งเป็นการแบ่งเพื่อการบริหารจัดการเท่านั้น ไม่ใช่ให้ประชาชนแตกตื่น

2.ผู้ป่วยรายล่าสุดที่กลับจากเกาหลีใต้และรายก่อนหน้าที่กลับจากประเทศญี่ปุ่น ล้วนเป็นประเทศกลุ่มเสี่ยง ที่กระทรวงสาธารณสุขเตือนให้งดการเดินทาง หรือเลี่ยงไปประเทศอื่นที่ไม่มีการระบาดของโรคแทนหรือเลื่อนการเดินทางออกไป ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าการเดินทางไปในประเทศกลุ่มเสี่ยงที่เตือนนั้น เมื่อกลับมามีโอกาสที่จะติดโรคนี้กลับมาได้

3.หากกลับมาจากประเทศเสี่ยงจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด คือ เฝ้าระวังอาการตัวเองอยู่กับบ้าน จำกัดคนที่สัมผัสให้น้อยที่สุด กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ จนครบ 14 วัน เพราะแม้จะติดโรคกลับมาก็จะจำกัดอยู่แค่คนเดียว ไม่แพร่ไปคนอื่น เห็นได้จากกรณีที่หลานสัมผัสใกล้ชิดและติดโรคจากปู่

4.เมื่อเฝ้าระวังตัวเองแล้วหากมีอาการป่วย ไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก แม้มีอาการไม่มาก ให้รีบใส่หน้ากากอนามัยไปแพบแพทย์ที่สถานพยาบาลทันที

158288018524

5.อย่าปกปิดข้อมูลที่เจ้าหน้าที่สอบถามเพราะมีความสำคัญในการรักษา ป้องกันและสอบสวนโรค อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งที่จะทำให้คนที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงแล้วไม่เปิดเผยข้อมูล เนื่องจากสังคมไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ มีการตีตรา หรือแสดงความรังเกียจผู้ที่กลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ทำให้คนที่เดินทางไปไม่กล้าบอกความจริง หรือมีการตีตราผู้ป่วยโรคนี้ จึงไม่อยากให้สังคมรังเกียจ เพราะแม้จะป่วยโรคนี้ ก็ไม่ได้เป็นมาก ซึ่งข้อมูลในส่วนของประเทศไทย จากผู้ป่วยยืนยันสะสม 41 มีผู้ป่วยอาการรุนแรงเพียง 2 ราย คิดเป็นไม่ถึง 5 % และยังไม่มีเสียชีวิต

และ 6.บุคลากรทางการแพทย์ ต้องยึดถือการปฏิบัติตามแนวทางมาตรการ หลักการทางการแพทย์ของบุคลากรอย่างเคร่งครัด เพราะหากปฏิบัติตามแม้จะเจอผู้ป่วย แต่ก็ไม่มีความเสี่ยงที่จะติดโรค

คนรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน หรือคนใกล้ชิดจะต้องร่วมกันสอดส่อง หากพบว่าผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศเสี่ยงแล้วมีอาการป่วย จะต้องนำเข้ารักษาทันที เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในประเทศ หากคนไทยปฏิบัติตามคำแนะของกระทรวงสาธารณสุข มีความรับผิดชอบต่อตัวเอง คนรอบข้าง และสังคม ความเสี่ยงการเจอกรณีผู้ป่วยที่จะแพร่เชื้อในประเทศก็จะค่อยๆลดลง การจะเข้าสู่ระยะ3 ก็จะไม่น่ากลัวจนเกินไป แต่หากไม่ปฏิบัติตาม ก็จะเป็นปัจจัยทำให้คุมโรคไม่ได้ ซึ่งช่วงที่ไข้หวัด2009 หรือโรคเมอร์ส หรือซาร์สระบาด ประเทศไทยก็ผ่านพ้นระยะแบบนี้มาได้ เพราะความรับผิดชอบต่อสังคมของคนไทย”นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่สังคมจะต้องเรียนรู้จากกรณีการป่วยของปู่ย่าหลาน คือการตื่นตระหนก อย่างกรณีที่ชาวบ้านในพื้นที่เขตดอนเมืองที่เป็นพื้นที่บ้านของผู้ป่วย หรือจ.ระยองที่เป็นพื้นที่ของผู้ร่วมในไฟลท์บินเดียวกันเกิดการตื่นกลัวจะติดโรค

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค อธิบายว่า ธรรมชาติโรคนี้จะติดต่อจากฝอยละอองขนาดใหญ่ในรัศมี 1 เมตร และอยู่ใกล้เป็นเวลา 5 นาที โดยไม่มีการป้องกัน ส่วนผู้สัมผัสเสียงต่ำหมายถึงผู้สัมผัสที่มีโอกาสต่ำในการรับหรือแพร่เชื้อกับผู้ป่วยได้แก่ผู้สัมผัสที่ไม่เข้าเกณฑ์ผู้สัมผัสเสียงสูง

“จะเห็นได้ว่ากรณีปู่ย่าหลายมีสมาชิกครอบครัวอื่นอีก 4 คน ก็ไม่ได้ติดเชื้อนี้ครบทุกคน มีเพียงหลานที่สัมผัสใกล้ชิดมาก 1 คนเท่านั้นที่ติด เพราะฉะนั้น ยิ่งเป็นคนที่อยู่ไกลยิ่งไม่มีโอกาสติด เช่น อยู่ข้างบ้าน หรือหน้าหมู่บ้าน ก็ไม่ติดโรคนี้ ส่วนการป้องกันตนเองหากจำเป็นต้องอยู่ใกล้คนที่มีอาการป่วย ก็คือการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ กินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลาง หรือแยกสำรับ” นายแพทย์โสภณกล่าว