ย้อนรอยวิกฤติ ‘อัฟกานิสถาน’

ย้อนรอยวิกฤติ ‘อัฟกานิสถาน’

ตามที่สหรัฐและกลุ่มตาลีบันจะลงนามข้อตกลงสันติภาพในวันที่ 29 ก.พ. เปิดทางสู่การค่อยๆ ถอนทหารสหรัฐออกจากอัฟกานิสถาน ตลอด 20 ปีแห่งความขัดแย้งประเทศนี้ผ่านเหตุการณ์สำคัญมาแล้วหลายครั้ง นับตั้งแต่ “สงครามต้านการก่อการร้าย” ในปี 2544

ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประกาศสงครามกับการก่อการร้าย เริ่มถล่มอัฟกานิสถานทางอากาศ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2544 ตอบโต้เหตุโจมตีนิวยอร์ก กรุงวอชิงตัน และรัฐเพนซิลเวเนีย ที่คร่าชีวิตประชาชนไปราว 3,000 คน โอซามา บิน ลาเดน และกลุ่มอัลกออิดะห์ของเขา พึ่งบารมีรัฐบาลตาลีบันในอัฟกานิสถาน

ตาลีบันที่อยู่ในอำนาจมาตั้งแต่ปี 2539 ต้องพ่ายแพ้สหรัฐภายในเวลาไม่นาน หนีออกจากกรุงคาบูลไปในวันที่ 6 ธ.ค. ฮามิด คาร์ไซ ได้รับการตั้งแต่งให้เป็นผู้นำรัฐบาลรักษาการ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เริ่มส่งกองกำลังสนับสนุนความมั่นคงระหว่างประเทศ (ไอเอสเอเอฟ) เข้าไปในอัฟกานิสถาน

9 ต.ค. 2547 เลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรก ประชาชนสนใจออกไปใช้สิทธิถึง 70% คาร์ไซชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 55% ขณะที่ตาลีบันไปตั้งกลุ่มใหม่แถบภาคใต้และตะวันออก แล้วข้ามพรมแดนเข้าไปในปากีสถานและเริ่มก่อความไม่สงบ

2551 เมื่อเกิดการโจมตีขึ้นบ่อยครั้ง กองกำลังสหรัฐจึงขอส่งทหาร 20,000 นายเข้าไปเพิ่มในเดือน ก.ย. สมทบกับที่มีอยู่แล้ว 33,000 นาย จากกองกำลังนาโต 70,000 นาย ในเวลาเดียวกันนั้นบุชส่งทหารไปอิรัก 5,000 นายด้วย

1 ธ.ค. 2552 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่เคยหาเสียงว่าจะยุติสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน ประกาศ ส่งทหารอเมริกันเข้าไปเพิ่มในอัฟกานิสถานอีก 30,000 นาย

2 พ.ค. 2554 บิน ลาเดน ถูกกองกำลังพิเศษสหรัฐปฏิบัติการปลิดชีพในปากีสถาน

ภายในปี 2555 ทหารต่างชาติอยู่ในอัฟกานิสถานกว่า 150,000 นาย ในจำนวนนี้เป็นทหารอเมริกัน 100,000 นาย

2561 ความรุนแรงคร่าชีวิตประชาชนมากสุดเป็นประวัติการณ์ สหประชาชาติระบุว่าพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 3,804 คน กลางปีตัวแทนรัฐบาลวอชิงตันและตาลีบันเปิดการเจรจาแบบสงวนท่าทีในกรุงโดฮาของกาตาร์ เน้นเรื่องการลดกำลังทหารสหรัฐในอัฟกานิสถาน แลกกับการที่ตาลีบันต้องดูแลไม่ให้กลุ่มติดอาวุธรวมทั้งอัลกออิดะห์ใช้ประเทศนี้เป็นแหล่งหลบภัย

การเจรจาเน้นเรื่องการหยุดยิงและเปิดการเจรจาระหว่างตาลีบันกับรัฐบาลคาบูลแต่ในวันที่ 7 ก.ย.2562 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ก็ยกเลิกการเจรจากะทันหัน หลังเกิดเหตุโจมตีในกรุงคาบูล มีผู้เสียชีวิต 12 คน เป็นทหารอเมริกัน 1 นาย

2563 ขณะที่การเจรจาระหว่างสหรัฐกับตาลีบันคืบหน้า วิกฤติการเมืองระลอกใหม่กลับประทุบขึ้นในอัฟกานิสถาน หลังการเลือกตั้งที่ไม่มีใครยอมใคร

วันที่ 18 ก.พ.ประธานาธิบดีอัชราฟ กานี เข้าบริหารประเทศสมัยที่ 2 ผลจากการเลือกตั้งเมื่อเกือบ 5 เดือนก่อน ที่กว่าจะเลือกตั้งได้ก็เลืื่อนแล้วเลื่อนอีก อีกทั้งเต็มไปด้วยข้อกล่าวหาทุจริต ส่งผลให้อับดุลลาห์ อับดุลลาห์ อดีตผู้บัญชาการทหาร คู่แข่งคนสำคัญของกานีปฏิเสธทันทีพร้อมประกาศว่าจะจัดตั้งรัฐบาลคู่ขนาน

วันที่ 26 ก.พ. กานีประกาศเลื่อนพิธีสาบานตนรอให้สหรัฐกับตาลีบันลงนามข้อตกลงกันก่อน หลังถูกวอชิงตันเตือนว่า อย่าปล่อยให้ข้อพิพาทเรื่องการเลือกตั้ง เป็นอุปสรรคต่อการทำข้อตกลงฉบับประวัติศาสตร์สำหรับถอนทหารอเมริกัน

ความโกลาหลทางการเมืองนี่เองที่ทำให้เกิดความวิตกขึ้นมาอีกครั้งว่า รัฐบาลคาบูลกำลังทำให้การเจรจาสันติภาพแตกแยกร้าวลึก และเมื่อรัฐบาลไม่ได้รับเสียงยอมรับจากประชาชนอย่างท่วมท้น เป็นไปได้ว่าความขัดแย้งอาจรออยู่ข้างหน้า