บทเรียนจากวิกฤติ COVID-19 สู่การท่องเที่ยวที่สมดุล

บทเรียนจากวิกฤติ COVID-19 สู่การท่องเที่ยวที่สมดุล

สถานการณ์วิกฤติโคโรน่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่อาเซียนจะต้องทบทวนถึงการรักษาสมดุล ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวควบคู่กับการรักษาความมั่นคงและความยั่งยืนในทุกมิติ

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 ที่เริ่มระบาดจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และกำลังแพร่กระจายไปในหลายประเทศทั่วโลกขณะนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบในหลายมิติ ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ และความมั่นคงมนุษย์

สาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดเกิดจากการเคลื่อนย้ายของผู้คน ในยุคโลกไร้พรมแดนที่เป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อการเดินทาง ข้ามแดนเป็นเรื่องง่ายขึ้น การท่องเที่ยวจึงเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วและสร้างรายได้ให้กับหลายประเทศ

ปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกจากส่งผลกระทบต่อมิติความมั่นคงมนุษย์แล้ว ยังสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นตัวแปรสำคัญในโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอาเซียน สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มีอัตราขยายตัว จาก 20 ล้านคนในปี 2546 เป็น 150 ล้านคนในปี 2561 เป็นที่แน่ชัดว่าเมื่อเกิดวิกฤติ COVID-19 เมื่อนักท่องเที่ยวจีนไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศได้ ย่อมส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างในหลายประเทศ

หลังเกิดวิกฤติ COVID-19 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินว่า ในช่วงครึ่งปีแรกประเทศไทยอาจสูญเสียรายได้ถึง 3 แสนล้านบาท

ปี 2562 สัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวนสูงถึง 30% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในไทย สร้างรายได้ให้ไทยกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์ และมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยโดยคิดเป็น 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งหลังเกิดวิกฤติ COVID-19 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินว่า ในช่วงครึ่งปีแรกประเทศไทยอาจสูญเสียรายได้ถึง 3 แสนล้านบาท

ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น บรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนต่างได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน

เวียดนาม การท่องเที่ยวแห่งเวียดนาม ประเมินว่าวิกฤติ COVID-19 จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจเวียดนามราว 5,900-7,700 ล้านดอลลาร์ มาเลเซีย เคยต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนกว่า 1.5 ล้านคนเมื่อ 2562 และตั้งเป้าว่าปี 2563 จะมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศถึง 30 ล้านคน และสร้างรายได้ราว 100 ล้านริงกิต แต่ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา คณะทัวร์ยกเลิกการจองที่พักไปแล้วกว่า 3,000 คณะ

สิงคโปร์ ในปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงถึง 19.1 ล้านคน ซึ่งการท่องเที่ยวสิงคโปร์ คาดว่าผลกระทบจาก COVID-19 จะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้ลดลง 25-30%

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ก่อให้เกิดสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่ออัตราการบริโภคและการจ้างงานใน ภาคบริการ ซึ่งจากสถิติข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า โครงสร้างเศรษฐกิจในอาเซียนยังพึ่งพิงการท่องเที่ยวอยู่มาก ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากจีน

ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤติ COVID-19 หลายประเทศจึงจำเป็นต้องมีมาตรการสกัดกั้นการไหลเวียนของนักท่องเที่ยวกลุ่มเสี่ยง เพื่อยังยั้งการแพร่ระบาดของโรค และแสวงหามาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะซบเซาในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

อาเซียนในฐานะองค์การความร่วมมือส่วนภูมิภาคได้จัด “การประชุมวาระพิเศษ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีนว่าด้วย โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019” เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2563 ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ร่วมแสดงถึงการตระหนักถึงภัยจากการระบาดของ COVID-19

แถลงการณ์ระบุว่า อาเซียนและจีนจะร่วมมือกันรับมือกับสถานการณ์ โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลการระบาดของโรค การป้องกันและการควบคุมการระบาด การ กระชับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านสาธาณสุข และการเยียวยาวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SMEs ด้วย มาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มิอาจปฏิเสธข้อเท็จจริงได้ว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลายประเทศ นำมาซึ่งการกระจายรายได้แก่วิสาหกิจในทุกระดับ จึงเป็นแรงผลักดันให้หลายประเทศในอาเซียน มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อเป็นแหล่งรายได้สำคัญ แต่จากวิกฤติ COVID-19 ก่อให้เกิดข้อถกเถียงในหลายประเทศว่ามาตรการยับยั้งการเข้าประเทศเพื่อป้องกันการระบาดของโรคนั้น จะกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สถานการณ์เช่นนี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่อาเซียนจะต้องทบทวนถึงการรักษาสมดุล ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวควบคู่กับการรักษาความมั่นคงและความยั่งยืนใน ทุกมิติ ทั้งในแง่ของการลดการพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว สร้างมาตรฐานการคัดกรองนักท่องเที่ยว ปกป้องฐานทุนทางทรัพยากร ฯลฯ เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างหลักประกันให้อาเซียนสามารถรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ (Non-traditional Security : NTS) ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างยั่งยืน