ท่องเที่ยวชง ครม. 5 มาตรการ กู้ชีพ ธุรกิจ-พนักงาน พิษโควิด

ท่องเที่ยวชง ครม. 5 มาตรการ กู้ชีพ ธุรกิจ-พนักงาน พิษโควิด

คาดยอดต่างชาติเที่ยวไทยวูบแรง 6 ล้านคน

กระทรวงท่องเที่ยวฯ ชงครม.เคาะ5มาตรการ 3 มี.ค.นี้ พยุงท่องเที่ยวไทยพ้นวิกฤติโควิด-19 งัดสารพัดวิธีประคองธุรกิจ ทั้งผ่อนหนี้ ปล่อยเงินกู้ใหม่ ลดค่าใช้จ่าย พร้อมช่วยลูกจ้างอุตฯท่องเที่ยว ผ่อนปรนจ่ายหนี้บ้าน-รถ-บัตรเครดิตนาน1ปี ด้านผู้ว่าการ ททท.คาดการณ์ยอดต่างชาติเที่ยวไทยปี63วูบแรงถึง6ล้านคน เหลือแค่33ล้านคนใกล้เคียงปี59

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า หลังจากไวรัสโควิด-19 ระบาดไปเกือบทุกภูมิภาคของโลก ททท.ได้ประเมินตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติปี2563คาดการณ์ว่าจำนวนเดินทางมาไทยจะลดลงเหลือเพียง 33 ล้านคน หรือหายไปไม่ต่ำกว่า6ล้านคนจากปี2562ซึ่งมีจำนวน39.8 ล้านคนส่งผลให้จำนวนต่างชาติเที่ยวไทยปีนี้ใกล้เคียงปี2559ซึ่งปิดที่จำนวน32.5ล้านคน

สำหรับสถานการณ์และผลกระทบจากโควิด-19ข้อมูลเมื่อวันที่ 19 ก.พ.หรือเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา พบว่านักท่องเที่ยวจีนลดลงไปกว่า 80% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มียอดจองห้องพักในเดือน ก.พ.ติดลบ 35% ทั้งนี้ยังไม่สามารถคลายความกังวลจากสถานการณ์แพร่ระบาดได้ ทุกประเทศต่างเฝ้าระวัง และทำให้นักท่องเที่ยวกังวล ไม่กล้านั่งเครื่องบิน ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นวงกว้าง

และในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 3 มี.ค.นี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเสนอมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภาวะวิกฤติไวรัสโควิด-19 ให้ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบ หลังจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ททท. และภาคเอกชนได้หารือกันจนได้ข้อสรุปออกมาเป็น 5 มาตรการหลัก เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทั้งภาคเอกชนและลูกจ้างพนักงานได้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ในช่วงนี้

ประกอบด้วย 1.มาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ทั้งผ่อนปรนการชำระหนี้เงินต้นชั่วคราว และลดอัตราดอกเบี้ยลงจากสัญญาเดิม รวมถึงการออกสินเชื่อเสริมสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) โดยให้วงเงินใหม่ เพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เช่น เงินเดือนพนักงาน และการบริหารจัดการอื่นๆ ของธุรกิจ คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยอาศัยแหล่งเงินทุนจากกระทรวงการคลัง พร้อมขอให้พิจารณาผ่อนปรนหลักเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น

2.มาตรการช่วยเหลือลูกจ้างและพนักงานของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ แยกเป็น ผ่อนปรนชำระหนี้เงินต้นชั่วคราวสำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นระยะเวลา 1 ปี, ผ่อนปรนการชำระหนี้เงินต้นชั่วคราวสำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเป็นระยะเวลา 1 ปี และลดดอกเบี้ยหรือแปลงหนี้เดิมทั้งหมดเป็นสินเชื่อใหม่ ระยะเวลาผ่อนชำระ 5-8 ปี โดยผ่อนปรนการชำระหนี้เงินต้นในปีแรก, ปรับลดยอดผ่อนชำระรายเดือนสูงสุด 60% สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เป็นระยะเวลาสูงสุด 1ปี

พร้อมทั้งสินเชื่อบุคคลใหม่ 200,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 14% ต่อปี สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น มัคคุเทศก์ คนขับรถรับจ้าง พร้อมขอให้พิจารณาผ่อนปรนหลักเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อ เบื้องต้นกระทรวงการท่องเที่ยวฯ คาดว่าน่าจะมีลูกจ้างพนักงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวกว่า 10 ล้านคน

3.มาตรการภาษีเพื่อพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ด้วยการขยายระยะเวลาชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลออกไปอีกระยะหนึ่ง และให้ผ่อนชำระภาษีได้เป็นระยะเวลา 6 เดือน, ลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในประเทศทั้งแพ็คเกจทัวร์ในประเทศ ค่าโรงแรมที่พัก ค่าเดินทาง และค่าบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านขายของที่ระลึก สปา ไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ในวงเงินและตามระยะเวลาที่กระทรวงการคลังกำหนด, สถานประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวให้นำค่าใช้จ่ายในการปรับปรุง ซ่อมแซม ลงทุนในเครื่องจักร อุปกรณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่ มาเป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล และยังลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในกลุ่มรถและเรือโดยสารสาธารณะ

4. มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายเพื่อจูงใจให้ธุรกิจรักษาการจ้างงาน ทั้งยืดการจ่ายค่าเช่าที่ดินของรัฐ, ลดหรือยืดหรือผ่อนชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ค่าไฟฟ้า, ยืดการจ่ายค่าต่อทะเบียนยานพาหนะที่ใช้ในธุรกิจท่องเที่ยว เช่น รถทัวร์โดยสารสาธารณะ, ลดเงินประกันสังคมจาก 5% เป็น 3% หรือเลื่อนชำระเงินประกันสังคม 3 เดือน, ลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายให้กับสถาบันการเงินและบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.), รัฐสนับสนุนทางการเงินให้แพลตฟอร์มออนไลน์ (OTA)ลดหรือยกเว้นค่าดำเนินการเพื่อช่วยผู้ประกอบการ เป็นระยะเวลา 6 เดือน

5.จัดทำโครงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และ ททท.อบรมเพิ่มพูนทักษะพร้อมเสริมรายได้แก่แรงงานที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวและต่อเนื่อง มีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ มัคคุเทศก์ พนักงานโรงแรม จำนวน 100,000 คน ในเมืองหลักและเมืองรอง ระยะเวลาอบรมประมาณ 7-10 วัน โดยมีค่าเดินทางเหมาจ่ายคนละ 300 บาทต่อวัน โดยเนื้อหาการอบรม มีทั้งเพิ่มและพัฒนาทักษะ เช่น ทักษะการนำทัวร์สมัยใหม่ ภาษาต่างประเทศ การดูแลนักท่องเที่ยวด้านความปลอดภัย การช่วยชีวิตฉุกเฉิน การสื่อสารดิจิทัล และฝึกอบรมที่จำเป็นให้สอดคล้องกับพื้นที่ดำเนินการ