กรมธุรกิจฯหวั่นโควิด ฉุดยอดใช้น้ำมันปี 63

กรมธุรกิจฯหวั่นโควิด  ฉุดยอดใช้น้ำมันปี 63

กรมธุรกิจพลังงาน จับตาผลกระทบไวรัสโคโรนา ฉุดยอดการใช้น้ำมันภาพรวมทั้งปีนี้ จากเดิมตั้งเป้าหมายจะเติบโต 2-3% หลังพบการท่องเที่ยวเริ่มชะลอ ด้าน กบน.ควักเงินกองทุนน้ำมันฯ เพิ่ม 406 ล้านบาทต่อเดือน เพิ่มส่วนต่างดีเซล บี10

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สถิติความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเดือน ม.ค.2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 กลุ่มเบนซิน การใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 31.8 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 1.8% ส่วนการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 64.1 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.5 % ขณะที่การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 22.1 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 3.0% เนื่องจากอยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่

กรมฯ อยู่ระหว่างการติดตามผลกระทบไวรัสโคโรนา ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบต่อยอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงภาพรวมในปีนี้ อาจจะชะลอตัวลง จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 2-3% จากปีก่อน คาดว่าเดือน ก.พ.นี้จะเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มดีเซล และน้ำมันเครื่องบิน”

ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน วานนี้ (27ก.พ.) มีมติเห็นชอบให้ปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ สำหรับกลุ่มดีเซล โดยเรียกเก็บเงินส่งเข้ากองทุนฯ ในส่วนของดีเซล บี7 เพิ่ม 75 สตางค์ต่อลิตร เป็น 1 บาทต่อลิตร จากเดิม 25 สตางค์ต่อลิตร

ส่วนดีเซล บี10 ชดเชยเพิ่ม 50 สตางค์ต่อลิตร เป็นชดเชย 2.50 บาทต่อลิตร จากเดิมชดเชย 2 บาทต่อลิตร และดีเซล บี20 ชดเชยเพิ่ม 50 สตางค์ต่อลิตร เป็นชดเชย 4.41 บาทต่อลิตร จากเดิมชดเชย 3.91 บาทต่อลิตร ส่งผลให้เกิดส่วนต่างราคาขายปลีกระหว่างดีเซล บี10 ถูกว่า ดีเซล บี7 อยู่ที่ 3 บาทต่อลิตร จากเดิม 2 บาทต่อลิตร และดีเซล บี20 จะถูกกว่าดีเซล บี7 อยู่ที่ 3.50 บาทต่อลิตร จากเดิม 3 บาทต่อลิตร โดยมีผลตั้งแต่วันนี้ (28 ก.พ.) เป็นต้นไป

 ซึ่งมติดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) มีมติเมื่อ 21 ก.พ.2563 ที่เห็นชอบให้ขยายส่วนต่างราคาขายปลีก เพื่อจูงใจให้เกิดการใช้ดีเซล บี10 และดีเซล บี 20 มากขึ้น ตามนโยบายส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลของกระทรวงพลังงาน ที่กำหนดให้ทุกสถานีบริการ(ปั๊ม)น้ำมัน ทุกแห่ง ตั้งแต่วันที่ 1มี.ค.นี้ ต้องมีดีเซล บี10 จำหน่าย

ทั้งนี้ ตามมติดังกล่าวจะส่งให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ เปลี่ยนไป โดยบัญชีน้ำมัน จะมีเงินไหลออกเพิ่มเป็น 819 ล้านบาทต่อเดือน จากวันที่ 26 ก.พ.2563 มีเงินไหลออก 413 ล้านบาทต่อเดือน และเมื่อรวมกับบัญชีแอลพีจี ที่มีเงินไหลเข้าอยู่ที่ 32 ล้านบาทต่อเดือน จะทำให้กองทุนน้ำมันฯมีเงินไหลออก อยู่ที่ 787 ล้านบาทต่อเดือน หรือ ใช้เงินชดเชยราคาขายปลีกดีเซล บี10 และดีเซล บี20 เพิ่มขึ้นอีก 406 ล้านบาทต่อเดือน จากเดิมชดเชย อยู่ที่ 381 ล้านบาทต่อเดือน

โดยข้อมูล ณ วันที่ 26 ก.พ.2563 ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิอยู่ที่ 36,005 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน อยู่ที่ 41,522 ล้านบาท และบัญชีแอลพีจี ติดลบอยู่ที่ 5,517 ล้านบาท

นอกจากนี้ กบน.ยังเห็นชอบให้ปรับเพิ่มค่าการตลาดของผู้ประกอบการ สำหรับดีเซล บี 10 และลดค่าการตลาดสำหรับดีเซล บี 20 และดีเซล บี 7 ลง เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกิดการจำหน่ายดีเซลบี 10 มากขึ้น ตามมติกบง. เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2563

นายวีระพล กล่าวว่า หลังจากปรับเพิ่มส่วนต่างราคาขายปลีกดีเซล บี10 และดีเซล บี20 แล้ว คาดว่า สิ้นเดือน มี.ค.นี้ จะส่งผลให้ยอดการใช้ดีเซล บี10 เพิ่มเป็น 20 ล้านลิตร จากช่วง 1-23 ก.พ.2563 มียอดการใช้อยู่ที่ 5.3 ล้านลิตร