กทพ.ปิดคดี 'บีอีเอ็ม' ถอนฟ้องจบ เตรียมเริ่มสัญญาใหม่ 1 มี.ค.นี้

กทพ.ปิดคดี 'บีอีเอ็ม' ถอนฟ้องจบ เตรียมเริ่มสัญญาใหม่ 1 มี.ค.นี้

“ศักดิ์สยาม” เผยจบทุกข้อพิพาททางด่วน “บีอีเอ็ม” หลังยื่นถอนฟ้องครบ 17 คดีแล้ว เตรียมเดินหน้าสัญญาใหม่ 1 มี.ค.นี้ ด้านสหภาพฯ ยื่นหนังสือถึงศาลปกครองสูงสุด ขอคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการถอนฟ้องคดีข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีอีเอ็ม) โดยระบุว่า ภายหลังจากมีการลงนามแก้ไขสัญญาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระหว่าง กทพ.และบีอีเอ็ม เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการยื่นถอนฟ้องคดีที่มีข้อพิพาทระหว่างกันซึ่งทราบข้อมูลว่าขณะนี้มีการยื่นถอนฟ้องครบทั้ง 17 คดีแล้ว

“ขั้นตอนขณะนี้ก็ถือว่าคดีที่เคยมีข้อพิพาทระหว่างกันก็จะสิ้นสุดลง เมื่อมีการยื่นถอนฟ้องก็ถือว่าทั้งสองฝ่ายสละสิทธิ์ที่จะฟ้องคดีทั้งคู่ และตามมติ ครม.ก็สั่งการให้ยื่นฟ้องให้หมด เพื่อทำให้สัญญาใหม่มีผล 1 มี.ค.นี้ ดังนั้นตอนนี้ก็สามารถเริ่มสัญญาใหม่ได้ ไม่มีปัญหา”

นอกจากกระทรวงฯจะสอบถามไปยัง กทพ.ถึงความคืบหน้าของการถอนฟ้องคดีเพื่อขอทราบผลอย่างเป็นทางการอีกครั้งภายในวันที่ 28 ก.พ.นี้ยังได้เร่งรัดให้ กทพ.หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดแนวทางบริหารจัดการกรณีการบันทึกบัญชีจากสัญญาที่จะแก้ไข

158279952955

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระบุว่า ขณะนี้ยังมั่นใจว่าขั้นตอนของการถอนฟ้องคดีข้อพิพาทของทั้งสองฝ่ายจะแล้วเสร็จทันต่อสัญญาฉบับใหม่ที่จะมีผลในวันที่ 1 มี.ค.นี้ แต่หากเกิดกรณีถอนฟ้องไม่ทัน และทำให้สัญญาไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้ กทพ.ก็จะเจรจากับบีอีเอ็ม โดยอาจใช้วิธีอื่น เช่น ให้บีอีเอ็มบริหารโครงการไปก่อน แต่จะไม่ได้รับส่วนแบ่งรายได้ จนกว่าสัญญาจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

ด้านสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) เผยว่า เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา ตัวแทนสหภาพฯ ได้เข้ายื่นหนังสือถึงประธานศาลปกครองสูงสุด และองค์คณะตุลาการศาลปกครองคดีขอให้องค์คณะตุลาการศาลพิจารณาคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และปกป้องสิทธิของประชาชนต่อการถอนคำฟ้องคดีสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 และสัญญาเพื่อการต่อขยายโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วนดี)

เนื่องจาก สร.กทพ.เล็งเห็นว่า มติ ครม.ดังกล่าวอาจเป็นมติที่วางหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยหรือพิพากษาที่ยังมิได้มีกฎหมายใดรองรับ เพราะเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีผลใช้บังคับในหลักการกับหน่วยงานของรัฐทั่วไป ย่อมมีผลผูกพันบรรทัดฐานการบริหารจัดการสัมปทานประเภทอื่นๆ ระหว่างภาครัฐกับเอกชน เป็นการเปิดช่องทางให้เอกชนยื่นข้อเรียกร้องระหว่างการบริหารสัญญามาเป็นสิทธิผูกขาด โดยการแปลงความเสี่ยงเป็นหนี้ที่ไม่ต้องพึ่งพาอำนาจตุลาการจากศาลเพื่อความยุติธรรมอีกต่อไป