เปิดโทษ ฝ่าฝืนประกาศ 'โควิด-19'

เปิดโทษ ฝ่าฝืนประกาศ 'โควิด-19'

สธ.ย้ำปกปิดข้อมูลจำเป็นต่อการสอบสวนโรค โทษปรับ 2 หมื่น ขณะที่หลังประกาศ โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ทำผิดกฎหมายมาตราอื่นๆ โทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท


เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19(COVID-19) ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีมีการปกปิดประวัติที่จำเป็นในการสอบสวนโรคจะมีความผิดอย่างไร นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า หากประกาศโรคโควิด-19เป็นโรคติดต่ออันตรายมีผลบังคับใช้ จะดำเนินการตามพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งจะมีการกำหนดว่าประชาชน ผู้รับผิดชอบในสถานพยาบาล หรือผู้ควบคุมสถานประกอบการหรือสถานที่อื่นใด เช่น โรงแรม จะต้องรายงานแจ้งต่อเจ้าหน้าที่เมื่อมีผู้ต้องสงสัยหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่ออันตราย โดยจะต้องให้ข้อมูลเป็นจริง หากไม่แจ้งจะมีโทษปรับ 2 หมื่นบาท ทั้งนี้ การแจ้งข้อมูลตามความจริง จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ตรงกับอาการป่วย และสร้างความปลอดภัย ป้องกันบุคคลอื่นไม่ให้ติดโรค


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ลงนามแล้ว อยู่ระหว่างการรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้หลังจากนั้น 1 วัน ทั้งนี้ เมื่อประกาศมีผลบังคับใช้แล้ว จะดำเนินการตามพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยจะมีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยเป็นการฝ่าฝืนในส่วนของมาตรา 40 (2) ซึ่งกำหนดในกรณีที่มีการประกาศให้ท้องที่หรือเมืองท่ามดนอกราชอาณาจักรเป็นเขตติดโรค เจ้าพนักงานมีอำนาจดำเนินการให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะที่เข้ามาในประเทศ โดยจัดให้พาหนะจอดอยู่ ณ สถานที่ที่กำหนดให้จนกว่าเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศจะอนุญาตให้ไปได้

158294836279

นอกจากนี้  มาตรา 34 (1) มีอำนาจนำผู้ที่เป็น/มีเหตุสงสัยว่าเป็นโควิด-19/ผู้สัมผัส มารับการตรวจ การชันสูตร แยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต โทษ ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท

มาตรา 35 กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน สั่งปิดสถานที่ต่างๆ /สั่งห้ามไปในสถานที่ชุมชน สถานศึกษา สถานที่ใด / สั่งหยุดงานชั่วคราว โทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 39 (5) ห้ามเจ้าของ/ผู้ควบคุมพาหนะนำผู้เดินทางไม่ได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเข้าาประเทศ โทษ ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท


นายแพทย์โสภณ อธิบายว่า มีคำสำคัญ 3 คำตาม พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 คือ 1.แยกกัก ซึ่งจะเป็นผู้ป่วยที่มีเชื้อแล้วจะต้องนำเข้าแยกกักในห้องแยกโรคความดันเป็นลบ 2.กักกัน เป็นคนที่ยังไม่ป่วยแต่มีโอกาสได้รับเชื้อ จึงจำเป็นต้องให้คนดังกล่าว กักกันอยู่ในพื้นที่เฉพาะ ซึ่งอาจจะเป็นที่บ้านของคนผู้นั้นเองก็ได้ เป็นเวลาครบ 14 วัน ซึ่งจากการดำเนินการเช่นนี้ในกลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่ผ่านมา มีเพียง 2 % ที่เป็นเสี่ยงสูงแพร่เชื้อ และอีก 98 % เป็นคนปกติ แต่ที่ต้องมีความดำเนินการเพื่อความปลอดภัย


และ3.คุมไว้สังเกตอาการ ซึ่งเป็นผู้สัมผัสที่ไม่ใกล้ชิดผู้ป่วย แต่จะต้องคุมไว้สังเกตอาการจนครบ 14 วัน โดยให้อยู่ที่บ้าน แต่จะต้องมีการติดตามอาการทุกวัน วัดไข้ และเมื่อป่วยให้ไปพบแพทย์ เช่น กรณีปู่ย่าหลาน คนในไฟลท์บิน คนที่จัดเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงคือคนที่นั่ง2 แถวหน้า-หลังของผู้ป่วย ส่วนคนร่วมไฟลท์คนอื่น ถือเป็นเสี่ยงต่ำ แต่ต้องคุมไว้สังเกตอาการ 

อ่านข่าว
- ไทยเสี่ยง 'ไวรัสโคโรน่า' (โควิด-19) ระบาดเพิ่มขึ้น