เปิดแผนรับมือ 'โควิด-19' รัฐบาลสหรัฐยุค 'ทรัมป์'

เปิดแผนรับมือ 'โควิด-19' รัฐบาลสหรัฐยุค 'ทรัมป์'

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ(ซีดีซี) เผยแผนรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมแสดงความวิตกกังวลว่า จะเกิดการระบาดครั้งใหญ่ในอีกไม่ช้า

ขณะที่ทั่วโลกกำลังวุ่นวายกับการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 สหรัฐเองก็เร่งหาทางรับมือกับการระบาดของไวรัสชนิดนี้เช่นกัน ล่าสุด เมื่อวันอังคาร (25 ก.พ.) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ(ซีดีซี) เผยแผนรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมแสดงความวิตกกังวลว่า จะเกิดการระบาดครั้งใหญ่ในอีกไม่ช้า

ซีดีซี บอกว่าขณะนี้ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ต้องตั้งคำถามว่าการระบาดของโควิด-19 จะเกิดขึ้นในสหรัฐหรือไม่ แต่ต้องถามว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และจะพบผู้ติดเชื้อขั้นรุนแรงมากแค่ไหน พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนเตรียมรับมือกับการระบาดของโควิด-19ในระดับชุมชน ขณะที่ยอดผู้ป่วยโรคโควิด-19ในสหรัฐอยู่ที่ 57 คน แต่พบเพียง 2 คนที่มีการติดเชื้อจากคนสู่คนในสหรัฐ

ซีดีซี เตรียมออกมาตรการเร่งด่วนคือการแนะให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเข้าไปยังสถานที่คนพลุกพล่าน และอาจรวมถึงการใช้แผนการทำงานทางไกล การศึกษาทางไกล รวมทั้งบริการการแพทย์ทางไกล เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ขณะที่ องค์การอาหารและยาสหรัฐ(เอฟดีเอ)ยืนยันว่า สหรัฐมียา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์เพียงพอรับมือ หากการระบาดของโรคโควิด-19 ทวีความรุนแรง

ส่วนที่นครซานฟรานซิสโก ประกาศภาวะฉุกเฉินรับมือการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หลังจากซีดีซีออกคำเตือนให้ทุกภาคส่วนเตรียมพร้อมรับการระบาดในระดับชุมชน

“ลอนดอน บรีด” นายกเทศมนตรีนครซานฟรานซิสโก ประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อวันอังคาร ตามเวลาท้องถิ่น พร้อมระบุถึงเหตุผลที่ประกาศภาวะฉุกเฉินว่า เพื่อกระตุ้นการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 และทำให้ประชาชนในเมืองตระหนักถึงความเสี่ยงที่ไวรัสนี้อาจแพร่เข้ามาในพื้นที่ได้

รีด ระบุว่า แม้ยังไม่มีการติดเชื้อในพื้นที่ในเวลานี้ ภาพรวมของสถานการณ์ทั่วโลก ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้นครซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ต้องเพิ่มระดับการระวังภัย

ด้าน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวระหว่างเยือนกรุงนิวเดลีของอินเดีย เมื่อวันอังคารว่า ขณะที่สหรัฐสามารถจัดการรับมือได้เป็นอย่างดีเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนานั้น สหรัฐก็ติดต่อค้าขายกับหลายประเทศทั่วโลก และกำลังทำงานร่วมกับประเทศอื่นๆ รวมทั้งต้องการให้ประเทศเหล่านี้มีสุขภาพที่ดีด้วย

คำกล่าวเพื่อช่วยสร้างความมั่นใจของผู้นำสหรัฐครั้งนี้ มีขึ้นขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงอย่างหนักเป็นวันที่สองติดต่อกัน ท่ามกลางความวิตกว่าโรคโควิด-19 กำลังจะแพร่ระบาดไปทั่วโลกและจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ขณะเดียวกัน รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ของบประมาณฉุกเฉิน 2,500 ล้านดอลลาร์ เพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นงบประมาณที่ขอใหม่ และอีกครึ่งเป็นเงินที่จะตัดมาจากงบประมาณของหน่วยงานอื่น ทั้งยังขอให้สภาแบ่งงบประมาณราว 500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจัดสรรไว้แล้วสำหรับการป้องกันและบำบัดเชื้ออีโบลา มาใช้รับมือกับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

แต่ผู้นำพรรคเดโมแครตในสภาบางคนตำหนิประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ไม่ได้เตรียมรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างทันท่วงที รวมทั้งการให้ข่าวผิดๆ ว่าการแพร่กระจายของไวรัสนี้จะหยุดลงในเดือนเม.ย.เมื่ออากาศอุ่นขึ้น

วุฒิสมาชิกชัค ชูเมอร์ ของพรรคเดโมแครต กล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดบ่งชี้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์มีแผนอย่างจริงจังเพื่อรับมือกับเรื่องนี้ และว่า คำของบประมาณฉุกเฉิน 2,500 ล้านดอลลาร์ดังกล่าว “น้อยไปและมาล่าช้าไป” อีกทั้งประเทศยังต้องการผู้นำที่แท้จริง ไม่ใช่ผู้นำแบบทรัมป์

ส่วน ส.ส. แนนซี เพโลซี ของพรรคเดโมแครต ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ กล่าวว่า คำของบประมาณฉุกเฉิน 2,500 ล้านดอลลาร์จากประธานาธิบดีทรัมป์ไม่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐขอตัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ของศูนย์ควบคุมโรค ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ และของหน่วยงานด้านสาธารณสุขอื่นๆ ในรัฐบาลกลางสหรัฐลง