‘เงินบาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘แข็งค่’ ที่ 31.79 บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘แข็งค่’ ที่ 31.79 บาทต่อดอลลาร์

ความกังวลกับภาวะการระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลให้ตลาดมีมุมมองนโยบายการเงินจะต้องผ่อนคลายลงขณะที่เศรษฐกิจยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของการบริโภค

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยตลาดการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)  เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.79 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.86 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 31.73-31.88 บาทต่อดอลลาร์

ในช่วงคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินสหรัฐยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk off) โดยดัชนี S&P500 ติดลบ 0.38% แม้Euro Stoxx 50 ของฝั่งยุโรปจะเริ่มยืนได้ และปรับตัวขึ้น 0.14%

อย่างไรก็ดี ความกังวลกับภาวะการระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ยังส่งผลให้ตลาดมีมุมมองว่านโยบายการเงินจะต้องผ่อนคลายลงอีก บอนด์ยีลด์สหรัฐและเยอรมันอายุ 10 ปีจึงปรับตัวลงแตะระดับ 1.30% และ -0.50% ตามลำดับ ขณะเดียวกันราคาน้ำมันดิบเบรนท์ก็ไหลลงทำจุดตำ่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2017 ที่ 53 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว

ในฝั่งตัวเลขเศรษฐกิจ ก็ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของการบริโภค โดยล่าสุดทางการจีนรายงานยอดขายรถยนต์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวลง 83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ ยอดขายรถยนต์ในจีนปรับตัวลงไปแล้วกว่า 92% จากปีก่อน ทั้งหมดย้ำชัดว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะไม่ฟื้นตัวในช่วงที่มีการกักบริเวณควบคุมการระบาด ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ก็กังวลกับการเดินทางและจับจ่ายใช้สอย

ฝั่งตลาดเงิน ในคืนที่ผ่านมาดอลลาร์ทรงตัวได้ดีกว่าสกุลเงินหลักอื่นๆ เนื่องจากความหวังว่าสหรัฐ อาจมีแผนการควบคุมการระบาดที่ดีกว่า ขณะเดียวกันก็เป็นทวีปที่ห่างไกลจากศูนย์กลางของการระบาดด้วย อย่างไรก็ตามเช้านี้หลังจากที่โดนัล ทรัมป์ ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการรับมือโควิด-19 ของสหรัฐ ก็เริ่มเห็นดอลลาร์ย่อตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเชียทันที

ด้านการเคลื่อนไหวของเงินบาท จุดที่ต้องจับตาอย่างแรก คือทิศทางของเศรษฐกิจเอเชียที่หลายสำนักกำลังทยอยปรับคาดการณ์ให้เหมาะสมกับความเป็นจริงที่กำลังแย่ลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันภาพการลงทุนในระยะสั้น

ส่วนเรื่องที่สองคือ ทิศทางของนโยบายการเงินสหรัฐว่าจะมีการลดดอกเบี้ยลงในการประชุมนโยบายการเงินครั้งต่อไปในวันที่ 19 มีนาคมทันทีเลยหรือไม่ ซึ่งน่าจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของไวรัสและความเคลื่อนไหวของตลาดทุนสหรัฐ ซึ่งทิศทางนโยบายการเงินดังกล่าว เป็นตัวแปรหลักที่อาจพลิกให้สกุลเงินในฝั่งเอเชียฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้เช่นกัน