เครือข่ายฯเยาวชนยื่น 4 ข้อเสนอ กระทรวงดิจิทัลฯป้องกันพนันออนไลน์

เครือข่ายฯเยาวชนยื่น 4 ข้อเสนอ กระทรวงดิจิทัลฯป้องกันพนันออนไลน์

เครือข่ายองค์กรด้านเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ  ร่วมตบเท้ายื่น 4 ข้อเสนอต่อกระทรวงดิจิทัลฯ พิจารณาหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากพนันออนไลน์ หวั่นฟุตบอลยูโร2020-โอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ผุดนักพนันหน้าใหม่เพิ่ม

ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ได้แก่ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์  สมาคมไอเซคพัฒนาผู้นำนักศึกษาระหว่างประเทศ (AIESEC)  เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน และเครือข่ายเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา ได้เข้าพบ นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  และผู้บริหารของกระทรวงฯ เพื่อหารือและยื่นหนังสือขอให้พิจารณาออกมาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการพนันออนไลน์

“ภัยร้ายใกล้ตัว” ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างมากและรวดเร็ว  ส่งผลกระทบในหลายมิติ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต การเรียน การทำงาน และก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ตามมาอีกมากมาย  โดยสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทยได้นำเสนอข้อมูลสถานการณ์ปัญหาเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ ที่ปัจจุบันมีเว็บไซต์มากกว่า 2 แสนเว็บไซต์ และมีกลยุทธ์การตลาดที่แนบเนียน แทรกซึมในสื่อต่างๆ ที่เด็กและเยาวชนเปิดรับ ทั้งยังมีสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่แนะนำหรือชี้ช่องทางและเชิญชวนให้เล่นพนันเป็นจำนวนมาก

น.ส.เมธาวี เมฆอ่ำ รองประธานสมาคมไอเซคพัฒนาผู้นำนักศึกษาระหว่างประเทศ (AIESEC)  กล่าวว่า เครือข่ายองค์กรด้านเด็กและเยาวชน มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า ปัญหาและผลกระทบจากการพนันออนไลน์จะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในปีนี้จะมีการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2020 (EURO 2020) ระหว่างวันที่ 12 มิถุนายน – 12 กรกฎาคม และการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม – 9 สิงหาคม นี้

คาดว่าจะมีเงินสะพัดในวงการพนันทายผลการแข่งขันกีฬาจำนวนมหาศาล และเป็นโอกาสให้เกิดนักพนันหน้าใหม่จำนวนมาก โดยมีผลวิจัยระบุว่าเยาวชนที่เริ่มเล่นพนันฟุตบอลมีแนวโน้มที่จะเล่นพนันอย่างต่อเนื่องสูงถึงร้อยละ 82.6

เครือข่ายฯ จึงขอแสดงจุดยืนในการร่วมกันปกป้องเด็กและเยาวชนจากการพนันออนไลน์ โดยมีข้อเสนอต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 4 ข้อ ได้แก่ 1. ขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประกาศนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาการพนันออนไลน์ในเด็กและเยาวชนเป็นวาระเร่งด่วน  เพื่อหยุดยั้งปัญหาและลดผลกระทบอย่างทันทีทันใดและยั่งยืน 

2. ขอให้กระทรวงฯ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ประสานความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และกระทรวงสาธารณสุข  พัฒนากลไกและมาตรการในการแก้ปัญหาการพนันออนไลน์อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม 

3. ขอให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยระบุลักษณะความผิดอันเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ให้ครอบคลุม ชัดเจน และกำหนดเพิ่มบทลงโทษสำหรับการกระทำความผิดดังกล่าว

4. ขอให้พัฒนาช่องทางการร้องเรียน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแจ้งเบาะแส และข้อมูลข่าวสาร หากพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการพนันออนไลน์

นายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน กล่าวว่า การพนันออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างมากเพราะเข้าถึงง่าย สะดวกรวดเร็ว ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ การตรวจจับของเจ้าหน้าที่ยากลำบาก   กลุ่มธุรกิจพนันมีการพัฒนาก้าวล้ำไปกับยุคดิจิทัล โดยนิยมใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางการโฆษณาเชิญชวนเด็กเยาวชน  ผ่าน Facebook  Line  Youtube  Twitter  Website ในรูปแบบต่างๆ 

โดยใช้บุคคลผู้มีชื่อเสียง ศิลปิน ดารานักแสดง และเน็ตไอดอล ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเด็กและเยาวชน รวมถึงการว่าจ้างให้เยาวชนรีวิวเว็บไซต์พนันเพื่อแนะนำบอกต่อเชิญชวนกันเองด้วย ส่งผลให้มีนักพนันหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง   

ปัจจุบันไม่ใช่แค่พนันฟุตบอล แต่กีฬาหรือแม้แต่กิจกรรมอื่นๆ ก็สามารถนำมาเป็นการพนันได้ อาทิ การเลือกตั้ง ขณะที่ปัจจุบันยังไม่มีกลไกปกป้องเด็กและเยาวชนจากสิ่งเหล่านี้อย่างจริงจัง จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนร่วมกันหาแนวทางป้องกันเยาวชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของธุรกิจพนันอย่างเป็นรูปธรรม

ด้าน นายเนวินธุ์  ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ยินดีอย่างยิ่งที่เห็นเครือข่ายเยาวชนมีความสนใจกับปัญหาของสังคมและมีบทบาทในการช่วยกันดูแลร่วมกับภาครัฐ โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายของรัฐบาล โดยพยายามลดขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อให้สามารถดูแลแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ ขอให้เครือข่ายเยาวชนช่วยกันสร้างการรับรู้และตระหนักว่าการลงทะเบียนกรอกข้อมูลส่วนตัวเพื่อเล่นพนันออนไลน์นั้นไม่มีความปลอดภัย โดยอาจมีการรั่วไหลและมีโอกาสถูกแฮกข้อมูลบัญชีของเราที่ทำให้เสียเงินโดยไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับการหลอกลวงทางการเงินในรูปแบบอื่นๆ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต     

นายภุชพงค์  โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า ยินดีรับข้อเสนอในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนากลไกและมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาพนันออนไลน์ให้รวดเร็วและเป็นรูปธรรมมากขึ้น  สำหรับเรื่องการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาพอสมควร  แต่อาจจะใช้กระบวนการกรรมการกลั่นกรองได้ เพื่อพิจารณาดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเป็นรายกรณีไป

ส่วนเรื่องช่องทางการร้องเรียน สามารถแจ้งได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์  1212 ทั้งปัญหา การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รวมถึงการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ ปัญหาจากการซื้อขายทางออนไลน์ ตลอดจนปัญหาทางออนไลน์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

แนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาการพนันออนไลน์ต้องร่วมช่วยกันทุกภาคส่วนใน 3 ด้าน คือ 1.ป้องกัน โดยเครือข่ายต่างๆ ร่วมกันสร้างการรู้เท่าทันและใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตอย่างเหมาะสม  2.ปราบปราม แม้ว่ากระทรวงดิจิทัลฯ ไม่ได้มีภารกิจด้านนี้โดยตรง แต่มีกฎหมายและเครื่องมือที่ร่วมทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้  และ 3.แก้ไข ด้วยการออกมาตรการต่างๆ ซึ่งต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่นต่อไป