'กสิกรไพรเวทแบงกิ้ง' เจาะลูกค้า 'องค์กรการกุศล'

'กสิกรไพรเวทแบงกิ้ง' เจาะลูกค้า 'องค์กรการกุศล'

 “กสิกรไพรเวทแบงกิ้ง” เปิดกลยุทธ์ปี 63 เน้นลงทุนธุรกิจสร้างความยั่งยืน  ขยายฐานเข้าไปช่วยบริหารพอร์ตองค์กรการกุศล ที่มีอยู่กว่า 1 พันแห่ง มีเงินรวมหลายแสนล้านบาท  เผยผลตอบแทนของไพรเวทแบงก์ยังบวกสวนตลาด อานิสงส์ “ทองคำ-ตราสารหนี้”ช่วยพยุงพอร์ต  

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ภายใต้ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจและตลาดโลก การสร้างผลตอบแทนในรูปแบบเดิม อาจทำไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้นกลยุทธการลงทุนของธุรกิจไพรเวทแบงกิ้ง จะต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การลงทุนที่เน้นสร้างความมั่งคั่ง ที่สร้างความยั่งยืนใหักับลูกค้าธนาคารมากขึ้น เช่นการลงทุนในธุรกิจที่หนุนให้เศรษฐกิจและสังคมยั่งยืนในอนาคต (Sustainable investment approach) 

ถัดมา คือ เน้นเข้าไปจัดสรรและแบ่งปันความมั่งคั่งเพื่อผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม (New dimension of wealth sharing) คือการเข้าไปช่วยบริหารจัดการพอร์ตของกิจกรรมสาธารณกุศล กองทุน องค์กรการกุศลต่างๆ และสุดท้ายคือ การสร้างศักยภาพให้กับธุรกิจไทยให้มีความรู้ด้านนวัตกรรม (S-Curve re-innovation)มากขึ้น 

 “ สิ่งเหล่านี้ เป็น3กลยุทธ์ที่ไพรเวทแบงกิ้งจะมุ่งเข้าไปมากขึ้น  โดยเฉพาะเข้าไปสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนในอนาคต ร่วมกับพันธมิตรระดับโลก Lombard Odier (ลอมบาร์ด โอเดียร์) ที่เห็นเทรนด์ทั่วโลก ให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการลงทุนในอนาคตของไพรเวทแบงกิ้ง จะต้องให้ความสำคัญมากขึ้น” 

สำหรับพอร์ตการลงทุนรวมของธุรกิจไพรเวทแบงกิ้ง  ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ผลตอบแทนยังเป็นบวกที่ 0.5-0.7% สวนตลาดในปัจจุบันที่ผลตอบแทนติดลบ ซึ่งมาจากการกระจายพอร์ตการลงทุนที่ดี โดยเฉพาะลงทุนในตราสารหนี้เกือบ 80% และลงทุนในทองคำ มีส่วนผยุงให้พอร์ตไพรเวทแบงกิ้งของธนาคารบวกสวนตลาดได้ ขณะที่พอร์ตการลงทุนในหุ้นมีไม่ถึง 20%ทำให้มีกระทบน้อยเมื่อหุ้นลง 

ขณะเดียวกัน คาดผลตอบแทนในปีนี้บวกได้5-7% จากปีก่อนที่มีผลตอบแทน 14% เนื่องจากปีนี้ตลาดผันผวนสูง ดังนั้นการเน้นการกระจายพอร์ตจะทำให้พอร์ตไพรเวทแบงกิ้งยังเป็นบวกได้ ปัจจุบันสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร(AUM) อยู่ที่กว่า 7 แสนล้านบาท โดยมีลูกค้าไพรเวทแบงกิ้งอยู่ราว 1.1หมื่นคน

นายตรีพล ภูมิวสนะ Private Banking Business Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า หากดูการบริหารพอร์ตของกองทุนการกุศล หรือสาธารณกุศลต่างๆ ของไทยส่วนใหญ่ ยังเน้นฝากเงินเป็นหลัก ต่างกับต่างประเทศที่มีการนำเงินไปลทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนใหม่ เช่นการลงทุนในไพรเวทแบงกิ้ง การซื้อตึกให้เช่า การซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อนำมาบริหาร ดังนั้นถือเป็นโอกาสของแบงก์ที่จะเข้าไปบริหารพอร์ตเหล่านี้ได้ 

ปัจจุบัน สำรวจพบว่า  กองทุนการกุศล และองค์กรการกุศล  มีพอร์ตเงินรวมกันหลายแสนล้านบาท หรือมีเกือบ 1,000องค์กร โดยล่าสุดธนาคารอยู่ระหว่างการเข้าไปพูดคุยแล้วหลายราย เพื่อเข้าไปช่วยบริหารจัดการความเสี่ยง และบริหารพอร์ตให้

“ยอมรับว่าบางแห่งมีข้อจำกัด เพราะเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีข้อห้าม มีกติกาเกี่ยวกับเงินการกุศล  เราจะเข้าไปดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง  หากเราเข้าถึงกลุ่มนี้ได้ ก็เป็นโอกาสใหม่ของแบงก์ด้วยในการได้บริหารพอร์ตเพิ่ม แต่สิ่งสำคัญมากกว่า เมื่อกองทุนเหล่านี้มีผลตอบแทน ก็จะสามารถต่อยอดการเข้าไปช่วยเหลือกับสังคมได้เพิ่มขึ้น นั่นคือจุดมุ่งหมายของเรา”