กูรูชี้ช่องรอดหนีไฟ ‘โควิด’ เร่งท่องเที่ยวไทยรีบาวด์!

กูรูชี้ช่องรอดหนีไฟ ‘โควิด’ เร่งท่องเที่ยวไทยรีบาวด์!

ในการเปิดงานคอนซูเมอร์แฟร์สินค้าท่องเที่ยวขนาดย่อม “SCB เที่ยวไทย ไปด้วยกัน” ที่สำนักงานใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อกระตุ้นยอดซื้อจากลูกค้าภายในองค์กรช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา

ยังมีการจัดเสวนาหัวข้อ“ชี้ทางรอดธุรกิจท่องเที่ยว” เปิดเวทีให้กูรูท่องเที่ยวร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะพร้อม “ชี้ช่องรอด” จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สุจินต์ เจียรจิตเลิศ อุปนายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) บอกว่า ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวจีนมาไทยจำนวนมาก ทำให้ทุกโรงแรมกระโจนชิงส่วนแบ่งจากขนาดตลาดที่มีมากกว่า 10 ล้านคนต่อปี แต่พอเกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาดในช่วงเทศกาลตรุษจีนซึ่งเป็นพีคซีซั่นของตลาดจีนเที่ยวต่างแดนพอดี ทำให้ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบทั้งหมด หนักๆ คือที่พัทยา ส่วนภูเก็ตได้รับผลกระทบเช่นกันแต่น้อยกว่าเพราะยังได้นักท่องเที่ยวยุโรปมาช่วยยันยอดเข้าพักไว้

“โรงแรมที่ได้รับผลกระทบหนักสุดคือโรงแรมที่รับแต่ตลาดนักท่องเที่ยวจีนอย่างเดียว พอเจอโควิด-19 ลูกค้าหายรวดเดียวยกโรง จุดนี้ชี้ให้เห็นว่ากลยุทธ์การสร้างความหลากหลายของตลาด (มาร์เก็ตติ้ง มิกซ์) สำคัญมาก เหมือนอย่างที่โรงแรมขนาดใหญ่หรือเชนรับบริหารโรงแรมระดับอินเตอร์เนชันแนลทำ เพราะจะช่วยกระจายความเสี่ยงจากวิกฤติต่างๆ ได้”

โดยหนึ่งในตลาดที่จะมาสนับสนุนท่องเที่ยวไทยระยะยาวคือ “อินเดีย” ถือเป็นยักษ์ที่เพิ่งตื่น ปีที่แล้วเดินทางมาไทยกว่า 1.9 ล้านคน มากเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและมาเลเซีย และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเจาะให้ถูกกลุ่ม นั่นคือชนชั้นกลางซึ่งมีฐานขนาดใหญ่สุด และเป็นกลุ่มที่กล้าใช้เงิน กล้าชอปปิง ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อวันสูงกว่านักท่องเที่ยวยุโรปด้วยซ้ำ โดยสามารถชูจุดขายแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติซึ่งคู่แข่งสำคัญอย่างนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และสิงคโปร์ไม่มีเหมือนไทย นอกจากอินเดียก็มีตลาดอาเซียนซึ่งอยู่ใกล้และตัดสินใจง่าย เพราะมีเที่ยวบินของสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) ให้บริการจำนวนมาก

“นักท่องเที่ยวไทยเป็นอีกตลาดที่สำคัญมาก ลูกค้าภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ มีส่วนช่วยภาคท่องเที่ยวได้ เช่น การจัดแฟร์ขายสินค้าท่องเที่ยวในแต่ละองค์กร และจัดทริปประชุมสัมมนาภายในประเทศ รวมถึงดึงลูกค้าครอบครัวคนไทยซึ่งใกล้ช่วงปิดภาคเรียนมาช่วยเพิ่มรายได้แก่ธุรกิจโรงแรมได้ในภาวะแบบนี้ที่ต้องประหยัดต้นทุน และต้องการมาตรการยืดระยะเวลาค่าใช้จ่ายออกไปซึ่งธนาคารสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่กำลังขัดสนได้”

เอกสิทธิ์ โชติกเสถียร เหรัญญิก สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า แม้ว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ภาคท่องเที่ยวไทยจะเจอมากว่า 10 วิกฤติ ทั้งภัยธรรมชาติ ความไม่สงบทางการเมือง และโรคระบาดก่อนหน้านี้ แต่ยอมรับว่าวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้หนักหนามาก

สมาคมฯจึงประสานงานกับหน่วยงานรัฐบาลเพื่อช่วยเยียวยาธุรกิจท่องเที่ยว ด้วยการทำให้มีรายได้มากขึ้น รัดเข็มขัดลดค่าใช้จ่าย และเลื่อนค่าใช้จ่ายออกไปให้มีเงินหมุนและสามารถอยู่รอดได้ในระยะสั้นจนถึงเดือน มิ.ย.นี้ นอกจากนี้ธุรกิจต้องเรียนรู้จากบทเรียนวิกฤติครั้งนี้ด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมของพนักงานและองค์กรให้มีภูมิคุ้มกันตั้งรับวิกฤติต่างๆ และสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างทันท่วงที

“เรามั่นใจว่าภาคท่องเที่ยวไทยจะสามารถฟื้นตัวหรือรีบาวด์กลับมาได้เร็วมากเหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา โดยต้องเร่งเตรียมความพร้อมรับตลาดนักท่องเที่ยวจากทุกชาติเมื่อหมดวิกฤติในครึ่งปีหลัง”

รุจิรัศมิ์ ฉัตรเฉลิมกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าและการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เล่าว่า ขณะนี้ ททท.ได้เร่งกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทยผ่านแคมเปญต่างๆ เช่น ไทยเที่ยวไทยคือไทยเท่ และ 60 เส้นทางความสุข พร้อมผลักดันให้เกิดการอบรมสัมมนาทั่วประเทศ เพื่อสร้างความคึกคักด้านการจับจ่าย และส่งเสริม “มาตรการซ่อมสร้าง” ให้ผู้ประกอบการเร่งปรับปรุงสินค้าท่องเที่ยวในช่วงนี้

“ตลาดไทยเที่ยวไทยเป็นกำลังสำคัญในการกระตุ้นภาพรวมท่องเที่ยวให้คึกคัก หลังจากการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศมีความเสี่ยงในการติดโรคและถูกกักตัวเพื่อเฝ้าดูอาการ โดยนักท่องเที่ยวไทยสามารถหาซื้อสินค้าท่องเที่ยวราคาพิเศษได้ในช่วงนี้ อย่างปกติโรงแรมระดับ 5-6 ดาวราคาจะค่อนข้างสูง แต่ตอนนี้สามารถช้อนซื้อไว้ได้เลย”

ด้านพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจSMEธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ช่วงนี้เหมือนเป็น“ช่วงหนีไฟ” โดยไทยพาณิชย์มีแผนช่วยเหลือภาคธุรกิจท่องเที่ยวด้วยการนำผู้ประกอบการเสนอขายสินค้าและบริการบนแพลตฟอร์มของไทยพาณิชย์ เช่น แอพพลิเคชัน SCB Easyนอกจากนี้ยังย้ำว่าธุรกิจท่องเที่ยวจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงในทุกๆ เรื่อง ทั้งตลาดและช่องทางการซื้อขายให้หลากหลาย พร้อม “ลีน” ไขมันออกจากองค์กรเพื่อเพิ่มความคล่องตัว