แอร์ไลน์อ่วม! มี.ค.63 ยกเลิกร่วมหมื่นไฟลท์ รวมทั้งปีคนหาย 5 ล้าน

แอร์ไลน์อ่วม! มี.ค.63 ยกเลิกร่วมหมื่นไฟลท์ รวมทั้งปีคนหาย 5 ล้าน

กพท.ถก 20 สายการบินอุ้มธุรกิจ เตรียมชง กบร.สัปดาห์หน้า เคาะ 5 มาตรการ ลดค่าจอดอากาศยาน ค่าธรรมเนียมผู้โดยสารขาออก 50% หลังโควิด-19 ฉุดธุรกิจ ยกเลิกไฟล์ตเดือน มี.ค.พุ่ง 9,797 เที่ยวบิน

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ 20 สายการบินที่จดทะเบียนในไทย เพื่อรับฟังและหาแนวทางแก้ไขปัญหาจากผลกระทบโรคโควิด -19 ระบาด โดยระบุว่า กพท.ตรวจสอบพบว่าในเดือน มี.ค.นี้ มีสายการบินที่ยกเลิกเที่ยวบินมาไทยแล้ว 9,797 เที่ยวบิน ส่งผลให้ผู้โดยสารหายไปราว 3 ล้านคน และคาดว่าสถานการณ์โรคระบาดจะคลี่คลายลงในเดือน เม.ย.นี้ ส่วนสถานการณ์การท่องเที่ยวน่าจะเริ่มกลับมาปกติในช่วงครึ่งปีหลัง

อย่างไรก็ดี จากผลกระทบที่เกิดขึ้น กพท.ได้หารือร่วมกับผู้ประกอบการสายการบิน โดยไม่อยากให้เกิดกรณีธุรกิจสายการบินต้องปิดตัว ดังนั้นแนวทางที่สามารถดำเนินการได้ในขณะนี้ คือการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้แบกรับต้นทุนลดลง เบื้องต้นสายการบินได้ยื่นข้อเสนอขอความช่วยเหลือ 5 มาตรการ โดย กพท.รับฟังและจะเป็นตัวแทนในการนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) วันที่ 6 มี.ค.นี้

สำหรับ 5 มาตรการดังกล่าว ประกอบไปด้วย

1.มาตรการลดค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน ค่าจอดอากาศยาน ค่าเช่าอาคารสำนักงาน และค่าอำนวยวามสะดวกขึ้นลงอากาศยาน โดยขอปรับลดราคาลง 50% ถึงสิ้นปี 2563

2.ขอให้ภาครัฐช่วยอำนวยความสะดวกในการปรับเปลี่ยนเที่ยวบินให้เร็วมากขึ้น จากเดิมต้องใช้เวลาพิจารณาและอนุมัติราว 2 สัปดาห์ เนื่องจากขณะนี้มีหลายสายการบินต้องการปรับตารางบินมาทำการบินเส้นทางในประเทศมากขึ้น

3.ขอให้ภาครัฐช่วยสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว และการเข้าออกประเทศ 

4.ขอความช่วยเหลือจากภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยขอให้มีมาตรการปรับลดค่าธรรมเนียมผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charge : PSC) ลง 50% เพื่อกระตุ้นการเดินทาง จะส่งผลให้ภาระของผู้โดยสารลดลง เช่น สนามบินของ ทอท.จาก 100 บาท เหลือ 50 บาท

5.ขอมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารรัฐบาล ตลอดจนขอให้ยืดระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยให้นาน เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบด้วย

“มาตรการทั้งหมดนี้เราก็จะเสนอไปที่ กบร.เพื่อให้พิจารณา หากผ่านการเห็นชอบก็จะสั่งการและขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรารู้ว่าแต่ละสายการบินเอง เขามีแผนอยู่แล้ว แต่เราต้องช่วย เพื่อไม่ให้คนล้มหายตายจาก”

  • เตรียมหารือ ทอท.ช่วยแอร์ไลน์

ทั้งนี้ มาตรการลดค่าธรรมเนียมและค่าจอดอากาศยาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ดังนั้นอาจกระทบต่อผลการดำเนินงานนั้น กพท.จะเข้าไปหารือขอความช่วยเหลือ ซึ่งเชื่อว่า ทอท.จะเข้าใจเพราะขณะนี้เป็นมาตรการที่ทำให้รายได้ลดลงก็จริง แต่ดีกว่าการไม่ออกมาตรการและทำให้ลูกค้าอย่างสายการบินปิดตัวไปจนไม่ก่อให้เกิดรายได้

ส่วนมาตรการปรับลดค่า PSC ถือเป็นการจัดเก็บรายได้ในส่วนของสนามบิน ซึ่งสนามบินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ก็สามารถรับนโยบายและนำไปประกาศใช้ได้ทันที หากมาตรการดังกล่าวผ่านการเห็นชอบจาก กบร.ส่วนสนามบินที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท.และเอกชนรายอื่น อย่างสนามบินของบางกอกแอร์เวย์สนั้น ก็จะเป็นการขอความร่วมมือและขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบริษัทเอง

คาดทั้งปีผู้โดยสารลด5ล้านคน

นายจุฬา กล่าวว่า กพท.ประเมินผลกระทบจากโรคโควิด -19 ระบาดครั้งนี้ หากสถานการณ์คลี่คลายลงในเดือน เม.ย.นี้ ตามที่คาดการณ์ เบื้องต้นประเมินว่าจะกระทบต่อปริมาณผู้โดยสารระหว่างประเทศปีนี้ลดลงมาปิดตัวเลขอยู่ที่ 81 ล้านคน ลดลงราว 5 ล้านคน หรือ 8.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า ค่าธรรมเนียมผู้โดยสารขาออก หรือ PSC ปัจจุบันในส่วนของสนามบิน ทอท.กำหนดอัตราอยู่ที่ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 700 บาทต่อคน และผู้โดยสารในประเทศ 100 บาทต่อคน ขณะที่สนามบินของ ทย. จัดเก็บผู้โดยสารระหว่างประเทศ 400 บาทต่อคน และในประเทศ 50 บาทต่อคน

ส่วนสนามบินเอกชนภายใต้การดูแลของบางกอกแอร์เวย์ส มีการจัดเก็บ PSC แบ่งเป็น สนามบินสมุยอัตรา 700 บาทต่อคนสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ และ 300 บาทต่อคนสำหรับผู้โดยสารภายในประเทศ ส่วนสนามบินสุโขทัย 500 บาทต่อคนสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ และ 200 บาทต่อคนสำหรับผู้โดยสารภายในประเทศ และสนามบินตราด 400 บาทต่อคนสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ และ 200 บาทต่อคนสำหรับผู้โดยสารภายในประเทศ