เครือข่ายต่อต้านค้ามนุษย์ แจงอัยการสาง 'คดีอ่างวิคตอเรีย'

เครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านค้ามนุษย์ เข้าให้ปากคำต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงอัยการสูงสุด ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี กรณีอธ.อัยการค้ามนุษย์ รองอสส. สั่งไม่ฟ้อง "นิภา-ธนพล" ผู้ต้องหารายสำคัญในคดีค้ามนุษย์ อาบอบนวดวิคตอเรียซีเครท

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ เวลา 09.30 น. ตัวแทนเครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านค้ามนุษย์ 13 องค์กร เข้าให้ปากคำต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด กรณีที่เครือข่ายฯ เคยยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือน ก.ย. 2562 ขอให้ตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจของอธิบดีอัยการ กองคดีค้ามนุษย์ และรองอัยการสูงสุด หลังจากมีคำสั่งไม่ฟ้อง และขอให้ดีเอสไอ เพิกถอนหมายจับ นางนิภา และนายธนพล วิระเทพสุภรณ์ ภรรยาและบุตรชาย นายกำพล วิระเทพสุภรณ์ หรือเสี่ยกำพล เจ้าของอาบอบนวดวิคตอเรียซีเครท ในความผิดฐานค้ามนุษย์ และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง

นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด บอกว่า การเชิญผู้แทนเครือข่ายฯ เข้าให้ปากคำในวันนี้ เป็นไปตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้อัยการสูงสุด ตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามข้อร้องเรียน และต่อมาอัยการสูงสุด ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอัยการขึ้นมาตรวจสอบ ส่วนข้อสรุปจะเป็นอย่างไรต้องรอฟังผลจากคณะกรรมการตรวจสอบรายงานให้อัยการสูงสุด ต่อไป

ทั้งนี้ ขอเรียนชี้แจงว่า กระบวนการสั่งคดีวิคตาเรียซีเครท เป็นรูปแบบของคณะทำงานที่สั่งไม่ฟ้องนางนิภา เพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ในอาบอบนวดวิคตอเรียซีเครท จากนั้นอธิบดีอัยการ กองคดีค้ามนุษย์ จึงทำความเห็นไปยังดีเอสไอ ในฐานะพนักงานสอบสวน เพื่อให้เห็นแย้งหรือเห็นด้วย ปรากฎว่าอธิบดีดีเอสไอ เห็นพ้องกับคำสั่งของอธิบดีอัยการ ดังนั้น คดีถือว่าเป็นที่สิ้นสุด ส่วนนายกำพล วิระเทพสุภรณ์ อัยการ ยังคงสั่งฟ้องในข้อหาค้ามนุษย์ และยังอยู่ทุกคดี ไม่ได้หลุดไปไหน

ด้านนายรณสิทธิ์ พฤกษยาชีวะ ประธานมูลนิธิรณสิทธิ์ เพื่อช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์เด็กและสตรี บอกว่า เครือข่ายฯ แจ้งข้อกังวลใจ เพื่อให้คณะกรรมการไปตรวจสอบให้ตรงตามข้อร้องเรียน อีกทั้งทางเครือข่ายฯ ไม่ได้มีเจตนาให้บุคคลที่อัยการไม่ฟ้องต้องถูกดำเนินคดี เพราคดีสิ้นสุดแล้ว เเต่ต้องการคำอธิบายว่า เหตุใดจึงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาบางราย และกระบวนการสั่งไม่ฟ้องถูกต้องหรือไม่ และคำตอบโดยสามารถตอบคำถามได้ หากไม่เช่นนั้น ก็จะพิจารณายื่นเรื่องให้องค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องสอบสวนเพิ่มเติม

"ขอเรียนชี้เเจงตามที่ปรากฎในสื่อว่า การร้องเรียนของทางเครือข่ายฯ เราไม่ได้ต้องการให้บุคคลเหล่านั้นถูกดำเนินคดี แต่ต้องการคำชี้เเจงที่มากกว่าดีเอสไอ เคยให้คำตอบว่า เป็นไปตามกระบวนสั่งคดี และเป็นความลับในสำนวน เราไม่ต้องการให้อัยการตอบแบบเดียวกับดีเอสไอ ซึ่งจากการให้ข้อมูลวันนี้ เชื่อว่าคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง สามารถไปแสวงหาข้อเท็จจริงตรงนั้นเพื่อพิสูจน์ทราบได้ต่อไปจะใช้เอกสารหลักฐานอะไรเพื่อพิสูจน์การกระทำความผิด"

นอกจากนี้ นางสาวชลีรัตน์ ทิมบุตร ผู้ประสานงานมูลนิธิพิทักษ์สตรี เปิดเผยว่า มีคณะกรรมการบางคนขอถอนตัว และไม่มีผู้หญิงในคณะกรรมการชุดนี้ ทำให้เป็นกังวลใจเพราะในบางกรณีเป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องเพศ ซึ่งเป็นความผิดทางเพศ ต้องให้ผู้หญิงเข้ามาร่วมตรวจสอบ นอกจากนั้น อยากให้หน่วยงานภายนอกเข้าร่วมเป็นคณะทำงานอัยการด้วย ไม่ใช่ตั้งคนในหน่วยงานตรวจสอบกันเอง

นางสาวชลีรัตน์ บอกด้วยว่า มีข้อเสนอเเนะให้คณะกรรมการฯ สอบสวนพยานเพิ่มเติมอย่างน้อย 2 ปากโดยทั้ง 2 ปาก มีหลักฐานที่จะอธิบายความผิด และเชื่อมโยงเส้นทางการเงินของเครือข่ายค้ามนุษย์ได้