ก่อนจะซ้ำรอย ‘โรงพยาบาลบี.แคร์’ คนไทยต้องรู้สำนึกสาธารณะ!

ก่อนจะซ้ำรอย ‘โรงพยาบาลบี.แคร์’ คนไทยต้องรู้สำนึกสาธารณะ!

จากกรณีข้อชี้แจงจาก “โรงพยาบาลบี.แคร์” เกี่ยวกับผู้ป่วยที่ปกปิดและปฏิเสธประวัติการเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยงต่อโรค Covid-19 ส่งผลให้บุคลากรโรงพยาบาลฯ ที่สัมผัสกับผู้ป่วยเสี่ยงติดเชื้อไปด้วย จนเกิดคำถามถึงจิตสำนึกสาธารณะของคนไทยในวงกว้าง

ในที่สุดก็เกิดเหตุการณ์ที่ "ไม่น่าเกิดขึ้น" ในเมืองไทย จากกรณีที่ “โรงพยาบาลบี.แคร์” ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับกรณีผู้ป่วยรายหนึ่งมาด้วยอาการ ไข้ ไอ และผู้ป่วยปฏิเสธประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ เบื้องต้นได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นปอดอักเสบ และให้รักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ต่อมาแพทย์อายุรกรรมผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด ได้เข้าตรวจอาการผู้ป่วยและสอบถามประวัติการเดินทางไปต่างประเทศอีกครั้ง ผู้ป่วยก็ปฏิเสธอีก จนล่วงเลยมาถึงช่วงสาย (วันที่ 24 ก.พ.) ผู้ป่วยถึงได้ยอมเปิดเผยประวัติว่าได้เดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง

จากนั้นทาง “โรงพยาบาลบี.แคร์” ได้ติดต่อสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง(สปคม.) โดยแจ้งว่ามีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยงต่อโรคระบาด (Patient Under Investigation ) และย้ายผู้ป่วยเข้าพักรักษาตัวในห้องความดันลบและส่งตรวจ PCR for COVID-19 ทันที หลังจากนั้นไม่นานในวันเดียวกัน ก็มีผลตรวจออกมาว่า พบเชื้อ COVID-19 จริง!! และทาง “โรงพยาบาลบี.แคร์” ได้แจ้ง สปคม. ทันที ปัจจุบันผู้ป่วยได้รับการส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลของรัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

รู้หรือไม่? เหตุการณ์ครั้งนี้นำไปสู่ความเสียหายต่อเนื่องในวงกว้าง เพราะมันส่งผลให้บุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของ “โรงพยาบาลบี.แคร์” ในกลุ่มที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย มีความเสี่ยงต่อ COVID-19 จำนวน 30 คน และพวกเขาทั้งหมดต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่เช่นกัน โดยเบื้องต้น ผลตรวจ PCR for COVID -19 ของบุคลากรทุกคนที่สัมผัสกับผู้ป่วยเป็นลบ คือไม่พบเชื้อไวรัส แต่ยังต้องตรวจซ้ำในช่วงเวลา 7-14 วัน และต้องหยุดงาน (Self quarantine) เพื่อสังเกตอาการที่บ้าน เพื่อปฏิบัติตามแนวทางของกรมควบคุมโรค

158271593092

แทนที่บุคลากรกลุ่มนี้จะได้ใช้เวลาอันมีค่า มาทำหน้าดูแลคนป่วยรายอื่นๆ ในโรงพยาบาลฯ แต่การทำงานต้องหยุดชะงักไปเพียงเพราะการปกปิดประวัติการเดินทางของผู้ป่วยรายเดียว จากเคส “โรงพยาบาลบี.แคร์” ในครั้งนี้ จึงทำให้หลายคนในสังคมไทยต่างก็วิพากษ์วิจารณ์ถึง "จิตสำนึกสาธารณะ" กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตแบบนี้ ทุกประเทศต้องการพลเมืองที่เข้าใจสถานการณ์และปฏิบัติตัวตามหลักการในเรื่อง "จิตสำนึกสาธารณะ" อย่างเข้มข้น

แล้วคำว่า "จิตสำนึกสาธารณะ" จริงๆ แล้วหมายถึงอะไร? และมีข้อปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง? เรื่องนี้มีคำอธิบายเชิงวิชาการไว้มากมายหลากหลาย ได้แก่ 

- ราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของ "จิตสำนึกทางสังคมหรือจิตสำนึกสาธารณะ" ไว้ว่า คือ การตระหนักรู้และคำนึงถึงส่วนรวมร่วมกันหรือการคำนึงถึงผู้อื่นที่ร่วมสัมพันธ์เป็นกลุ่มเดียวกัน

- สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้ให้ความหมาย "จิตสำนึกสาธารณะ" ไว้ว่า การรู้จักเอาใจใส่เป็นธุระและเข้าร่วมในเรื่องของส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ มีความสำนึกและยึดมั่นในระบบคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีงาม ละอายต่อสิ่งผิด เน้นความเรียบร้อยประหยัดและมีความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ดังนั้นจิตสำนึกสาธารณะคือจิตสำนึกของสังคม” (SocialConsciousness) ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาตราบเท่าที่ยังมีการดำรงอยู่ของสังคม(Social Being)

ส่วนการปฏิบัติตัวตามหลักการ "จิตสำนึกสาธารณะ" นั้น มีข้อมูลจากบทความเรื่อง “สิ่งที่เรียกว่าจิตสำนึก” โดย ณัฐวุฒิ เทพทวี ได้สรุปเอาไว้เป็นข้อๆ ดังนี้

1. การกระทำของตนเอง ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบและเกิดความเสียหายต่อส่วนรวม

2. มีบทบาทช่วยสังคมในการรักษาประโยชน์ของส่วนรวมเพื่อแก้ปัญหา สร้างสรรค์สังคม ซึ่งถือว่าเป็นความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม

3. มีวินัยในตนเอง และตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับสังคมที่ร่วมอยู่อาศัยนั้นๆ 

158271593033

ย้อนกลับมาที่เคส “โรงพยาบาลบี.แคร์” ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อบุคลากรของโรงพยาบาลฯ จำนวนมาก และส่งผลต่อคนไทยคนอื่นๆ ที่มีประวัติใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายนี้โดยไม่ตั้งใจ ทางโรงพยาบาลจึงมีคำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตัวในเคสอื่นๆ หรือสำหรับผู้ที่สงสัยว่าตนเองอาจเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากมีประวัติเดินทางไปเที่ยวหรือไปทำธุระที่ต่างประเทศ เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อโรคโดยไม่ตั้งใจ ดังนี้ (ถือเป็นการกระทำที่มีจิตสำนึกสาธารณะอีกด้วย)

1. ขอความร่วมมือผู้รับบริการกับทาง “โรงพยาบาลบี.แคร์” ทุกท่าน แจ้งประวัติที่เป็นความจริงเพื่อเข้าสู่กระบวนการการคัดกรอง การวินิจฉัย การแยกโรคตามมาตรฐาน เพราะการปกปิดข้อมูลเป็นผลเสีย มีผลกระทบทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคม ต่อผู้อื่น และต่อครอบครัวของท่านเอง

2. หากท่านมีประวัติการเดินทางไปต่างประเทศในกลุ่มเสี่ยงตามประกาศของกรมควบคุมโรค หรือมีประวัติสัมผัสกับผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศในกลุ่มดังกล่าว ร่วมกับมีอาการไข้ ไอ จาม อ่อนเพลีย ให้แจ้งที่จุดคัดกรองของโรงพยาบาลฯ ซึ่งได้จัดให้มีทุกประตูเข้าออกของ “โรงพยาบาลบี.แคร์” 

3. “โรงพยาบาลบี.แคร์” จะนำท่านไปยังห้องตรวจแยกโรค แรงดันลบ (Negative Pressure) ทันที และติดต่อประสาน สปคม. เพื่อให้พิจารณาว่าเข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง (Patient Under Investigation) หรือไม่

158271593056

4. หากเข้าเกณฑ์ ท่านจะได้รับการตรวจ PCR for COVID-19 และพักรักษาตัวในห้องความดันลบของ “โรงพยาบาลบี.แคร์” เพื่อรอผลตรวจ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 6-8 ชั่วโมง

5. หากผลตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ทาง สปคม. จะดำเนินการรับตัวท่านไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลภาครัฐต่อไป

นอกจากนี้ ทางด้าน "กรมควบคุมโรค" ก็ได้มีประกาศเตือนคนไทยไม่ควรเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยงต่อการติด COVID-19 ซึ่งในเบื้องต้นเตือนให้งดเดินทางไปยัง 9 จุดหมายปลายทาง ได้แก่ ประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ,ฮ่องกง ,มาเก๊า ,ไต้หวัน ,ประเทศสิงคโปร์ ,ประเทศญี่ปุ่น ,ประเทศเกาหลีใต้, ประเทศอิตาลี และประเทศอิหร่าน ซึ่งกลุ่มประเทศและเขตปกครองพิเศษเหล่านี้ถือเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของ COVID-19 ภายในประเทศอย่างชัดเจน

--------------------

อ้างอิง: 

สิ่งที่เรียกว่าจิตสำนึก โดย ณัฐวุฒิ เทพทวี

https://www.gotoknow.org/posts/449618