"อุตตม"โพสต์เฟสแจงบริหารเศรษฐกิจเข้มแข็ง

"อุตตม"โพสต์เฟสแจงบริหารเศรษฐกิจเข้มแข็ง

"อุตตม" ชี้แจงผ่านเฟส ยันไม่ล้มเหลวบริหารเศรษฐกิจ ระบุ ดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวชี้ไทยเข้มแข็งรับมือภาวะผันผวนที่เกิดขึ้น แม้กระทั้ง IMFยังแสดงความเชื่อมั่นในมาตรการ ชี้หนี้ครัวเรือนพุ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่มีทรัพย์ค้ำประกัน และเป็นหนี้เพื่อการประกอบอาชีพ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังชี้แจงผ่านเฟสช่วงค่ำวันนี้(25ก.พ.)ระบุว่า เมื่อวาน (24 ก.พ.63)ตนได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรี ให้ชี้แจงเรื่องนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล จึงขอสรุปประเด็นในที่นี้ โดยมีการตั้งประเด็นว่า รัฐบาลบริหารด้านเศรษฐกิจล้มเหลว ซึ่งต้องชี้แจงว่ารัฐบาลได้ทำงานในเชิงรุกมาตลอด ภายใต้มรสุมเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและกระทบไปทั่วโลก ตั้งแต่สงครามการค้าของประเทศมหาอำนาจ ความล่าช้าของงบประมาณแผ่นดินที่เพิ่งผ่านไปแล้ว และล่าสุดการระบาดของ ไวรัส โควิค-19

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวได้ชี้ให้เห็นว่า ไทยมีความเข้มแข็งในการรับมือภาวะผันผวนที่เกิดขึ้น แม้กระทั้ง IMF ยังแสดงความเชื่อมั่นในมาตรการรับมือของรัฐบาลไทย

ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ต้องบอกว่าไม่มีมาตรการใดมาตรการเดียว จะตอบโจทย์ได้ทั้งหมด รัฐบาลจึงออกมาตรการเป็นชุดๆ เช่น มาตรการดูแลความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานและสร้างโอกาสให้ผู้ที่ขาดโอกาส มาตรการเยียวยาผลกระทบที่ไม่คาดคิดในกลุ่มเกษตรกร (น้ำท่วม ภัยแล้ง) มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติไวรัสโควิค-19 มาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคระยะสั้น มาตรการกระตุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ มาตรการสนับสนุนการส่งออก เป็นต้น ซึ่งทุกท่านคงรับทราบในรายละเอียดแต่ละมาตรการไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ท่านสมาชิกสภาผู้แทนฯ ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องหนี้สินครัวเรือน ซึ่งรัฐบาลก็ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์นี้และออกมาตรการรองรับตลอดมา ซึ่งตัวเลขหนี้ครัวเรือนนั้น หากมองให้ลึกในเชิงเศรษฐศาสตร์ ครัวเรือนไทยยังมีความเข้มแข็ง เพราะส่วนใหญ่หนี้ที่เกิดขึ้นเป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และเป็นหนี้เพื่อการประกอบอาชีพ

อีกมาตรการที่ท่านสมาชิกสภาผู้แทนฯ ได้หยิบยกขึ้นมากล่าวถึง นั้นคือ โครงการ “ชิมช้อปใช้” ขอเรียนว่า เป็นมาตรการกระตุ้นให้มีการจับจ่ายใช้สอย โดยเน้นไปที่ระบบเศรษฐกิจฐานราก คือประชาชน ผู้ประกอบการ SME ร้านค้ารายย่อย และวิสากิจชุมชน โรงแรม โฮมสเตย์ เพื่อทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ ในระยะสั้น ซึ่งที่ผ่านมาภายหลังจบเฟส 3 เราก็พบว่า เม็ดเงินได้หมุนเวียนอยู่ในพื้นที่เมืองรองถึง 17,000 ล้านบาท คิดเป็น 60%มีร้านค้าที่ลงทะเบียนเข้าร่วมกว่า 170,000 ร้านค้า มีการใช้จ่ายผ่านร้านค้ารายย่อยมากกว่า 90% โดยมียอดการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดใหญ่เพียง 8%เท่านั้น

ขณะที่ งบประมาณที่ใช้ในมาตรการดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 1.83 หมื่นล้านบาท จากกรอบงบประมาณที่ตั้งไว้ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งโครงการนี้ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท และมีจำนวนประชาชนผู้ใช้สิทธิ์ผ่านมาตรการถึง 11,802,073 คน

นอกจากนี้ ยังมียอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะการเก็บบนฐานการใช้จ่ายภายในจังหวัดอยู่ที่ 41,983 ล้านบาท ขยายตัว 5.4% ต่อปี สะท้อนว่า มาตรการนี้มีส่วนช่วยพยุงการบริโภคภายในประเทศ มีผลในการช่วยดูแลเศรษฐกิจที่ถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกอย่างต่อเนื่อง

ส่วนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นการช่วยเหลือให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้อย่างสะดวก เม็ดเงินที่ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนบางส่วน เพื่อทำให้ประชาชนในส่วนนี้ได้มีกำลังใจในการพัฒนาความเป็นอยู่ของตนเอง โดยรัฐบาลได้จัดให้มีการส่งเสริมอาชีพในคนกลุ่มนี้ด้วย

เหนือสิ่งอื่นใดโครงการทั้งชิมช้อปใช้ หรือกระทั้งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อยู่บนฐาน เนชั่นแนล อี-เพย์เม้นต์ ซึ่งสามารถจ่ายเงินตรงถึงประชาชน ป้องกันการทุจริต และสำคัญคือทำให้ประชาชนกว่าสิบล้านคน ก้าวข้ามผ่านกำแพงดิจิทัล ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล และข้อมูลที่เราได้รับนั้นสามารถทำให้กำหนดนโยบายเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชานได้อย่างตรงกลุ่ม

"ผมขอเรียนว่า รัฐบาลจะทำงานอย่างหนักเพื่อฝ่าฟันมรสุมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไปให้ได้ พร้อมๆกับสร้างความเข้มแข็งในระยะยาวของประเทศต่อไป"