‘ดิเอราวัณ’ ตั้งการ์ดสู้ 'โควิด-19' ดัน 'ฮ็อปอินน์' โต-ลดเสี่ยงวิกฤติ

‘ดิเอราวัณ’ ตั้งการ์ดสู้ 'โควิด-19' ดัน 'ฮ็อปอินน์' โต-ลดเสี่ยงวิกฤติ

เมื่อวิกฤติโควิด-19 กระทบภาคท่องเที่ยวไทยทั้งห่วงโซ่ ยอดผู้โดยสารขาเข้าสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ระหว่างวันที่ 25 ม.ค.-18ก.พ.ที่ผ่านมาลดลง38%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หลังรัฐบาลจีนสั่งห้ามบริษัทนำเที่ยวพาคนจีนออกต่างแดนเพื่อควบคุมโรค

ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปรับลดคาดการณ์ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติปี2563จากเป้าเดิม40.8ล้านคน เหลือ36ล้านคน ติดลบ9.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

เพชร ไกรนุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ระบุว่า สถานการณ์ดีมานด์นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป บริษัทฯจึงคาดว่าทั้งรายได้และรายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR)ปี2563น่าจะติดลบ จากเดิมเคยตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโต10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จากเป้าRevPARโตระดับ Mid-Single Digit

โดยบริษัทได้ตั้งการ์ดสู้โควิด-19ด้วยการปรับ“แอคชั่นแพลน” ช่วง5-8เดือนนี้ในทุกมิติ ทั้งการเพิ่มรายได้ด้วยการโฟกัสลูกค้าคนไทย ยุโรป รัสเซีย ตะวันออกกลาง และอินเดีย หลังประเทศในเอเชียอย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีได้รับผลกระทบจากการเป็นพื้นที่เสี่ยงของโรค พร้อมทำราคาขายห้องพักให้สามารถแข่งขันได้ มอนิเตอร์แต่ละตลาดอย่างใกล้ชิด เมื่อเห็นสัญญาณการฟื้นตัวก็พร้อมประชิดดึงลูกค้าตลาดนั้นๆ กลับทันที

ควบคู่ไปกับการลดต้นทุน เช่น ลดต้นทุนปฏิบัติการสอดคล้องกับอัตราเข้าพักเพื่อประหยัดการใช้พลังงานในโรงแรม ส่วนแผนการบริหารสภาพคล่อง ปัจจุบันบริษัทฯมียอดกู้เงินธนาคารรวม1หมื่นล้านบาท ได้ทำเรื่องไปยังธนาคารขอผ่อนผันเลื่อนการชำระเงินกู้ทั้งส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นจำนวน790ล้านบาทออกไปก่อน จากภาระที่ต้องจ่ายทั้งหมด1,000ล้านบาทในปีนี้ โดยเสนอขอเลื่อนไปจ่ายในปีสุดท้ายของระยะเวลากู้แทน หลังจากรัฐบาลขอความร่วมมือจากภาคธนาคารให้ช่วยดูแลผู้ประกอบการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ยังต้องระมัดระวังเรื่องการลงทุนมากขึ้นแต่ยังโฟกัสกลยุทธ์ขยายเน็ตเวิร์กโรงแรมราคาประหยัดหรือบัดเจ็ตโฮเทล ภายใต้แบรนด์ “ฮ็อปอินน์” อย่างต่อเนื่อง จนเป็นบัดเจ็ตโฮเทลที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุดในไทย!

ด้วยการเปิดเพิ่มอีก 7 แห่งใหม่ในไทยปีนี้ส่งผลให้สิ้นปี2563 มีจำนวนโรงแรมฮ็อปอินน์ทั้งหมด50แห่ง ครอบคลุม37จังหวัดทั่วไทย และเมื่อรวมกับอีก5แห่งที่เปิดให้บริการไปแล้วในฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดศักยภาพ จะมีจำนวนห้องพักเฉพาะแบรนด์นี้รวมกว่า4,706ห้องพักจากทั้งหมด55แห่ง ครองสัดส่วน14%ของรายได้ธุรกิจโรงแรมของบริษัทฯ โดยต้องการผลักดันให้มีลูกค้าตลาดในประเทศฟิลิปปินส์เพิ่มสัดส่วนจาก60%เป็น80%เหมือนกับฮ็อปอินน์ในไทย เผื่อเวลามีปัญหาจากปัจจัยภายนอก จะได้ไม่สั่นไหว

“ถือเป็นกลยุทธ์ของดิเอราวัณกรุ๊ปที่มาถูกทางหลังเริ่มเปิดฮ็อปอินน์แห่งแรกในไทยเมื่อปี2557ช่วยให้เจาะลูกค้าคนไทยได้มากขึ้นจนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ1ที่20%ในปัจจุบัน กระจายความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก และลดผลกระทบตลาดลูกค้าจีนซึ่งมีสัดส่วน12%มากเป็นอันดับ2 ของพอร์ตลูกค้า”

ทั้งนี้ ยังเดินหน้าลงทุนโรงแรมฮ็อปอินน์แห่งใหม่ทั้งในไทยและฟิลิปปินส์อีกปีละ7-10แห่ง แต่ละแห่งใช้งบฯลงทุนเฉลี่ย80-100ล้านบาท เฉพาะปีนี้วางค่าใช้จ่ายในการลงทุน(CAPEX)ที่1,400ล้านบาท แบ่งเป็นในไทยและฟิลิปปินส์เท่ากันที่50% หนุนให้ในอีก3-4ปีข้างหน้า บริษัทฯจะมีโรงแรมทั้งหมดทะลุ100แห่ง เพิ่มจากสิ้นปีนี้ที่จะมี77แห่ง แบ่งเป็นในไทย72แห่ง และฟิลิปปินส์5แห่ง คิดเป็นห้องพักรวมกว่า1หมื่นห้อง

โดยปัจจุบันมีจำนวน17โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง เป็นฮ็อปอินน์ในไทย11แห่ง ส่วนในฟิลิปปินส์มีอีก6แห่ง แบ่งเป็นฮ็อปอินน์4แห่ง และอีก2แห่งเป็นโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์และฮ็อปอินน์ เซบู ซิตี้ ภายใต้คอนเซ็ปต์“คอมโบโฮเทล” แห่งแรกในฟิลิปปินส์ ต่อยอดโมเดลการพัฒนาโรงแรม2แบรนด์ในอาคารเดียวจากในกรุงเทพฯซึ่งเปิดให้บริการแล้ว3แห่ง

วรมน อิงคตานุวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ สายการเงินและเทคโนโลยีสารสนเทศ ดิ เอราวัณ กรุ๊ป เล่าเสริมว่า สำหรับโรงแรมแบรนด์อื่นๆ นอกเหนือจากฮ็อปอินน์ ซึ่งให้เชนรับบริหารโรงแรมดูแล มีทั้งแบรนด์ระดับราคาประหยัด มิดสเกล และลักชัวรี รวม22แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องพักกว่า5,343ห้อง ครองสัดส่วนรายได้ถึง86%ของรายได้ธุรกิจโรงแรมทั้งหมด พบว่าอัตราเข้าพักเดือน ม.ค.ที่ผ่านมามี80%ส่วน ก.พ.อยู่ที่60%ลดลงเพราะโควิด-19ต่างจากแบรนด์ฮ็อปอินน์ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ทำให้ตลอดทั้งปีน่าจะมีอัตราเข้าพักเฉลี่ย75%ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว