ดัชนีหุ้นไทย 'ผันผวน' หนัก โบรกฟันธงตลาดยัง 'ขาลง'- ไร้ 'แอลทีเอฟ' ช่วยพยุง

ดัชนีหุ้นไทย 'ผันผวน' หนัก โบรกฟันธงตลาดยัง 'ขาลง'- ไร้ 'แอลทีเอฟ' ช่วยพยุง

“หุ้นไทย” เหวี่ยงแรงกว่า 30 จุด สะท้อนตลาดเปราะบาง ไร้กองทุนแอลทีเอฟช่วยพยุง ประเมินแนวโน้มดัชนียังเป็น “ขาลง” จับตาแนวรับถัดไป 1,420 จุด ด้าน “เฟทโก้” เสนอ กลต. เร่งส่งเสริมการลงทุนระยะยาว ลดความผันผวนของหุ้นไทย ชงขอสิทธิเว้นภาษีเงินปันผล

การเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยวานนี้ (25ก.พ.) เต็มไปด้วยความผันผวน โดยดัชนีเหวี่ยง “ขึ้น-ลง” แรงกว่า 30 จุด ซึ่งช่วงเช้าแม้ดัชนีสามารถเปิดในแดนบวกได้ แต่หลังจากนั้นไม่นานเริ่มมีแรงขายออกมาอย่างหนัก กดดันให้ดัชนีลงไปทำจุดต่ำสุดของวันที่ 1,416.40 หรือ ลดลง 19.16 ก่อนจะเริ่มมีแรงซื้อกลับเข้ามาอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงการซื้อขายภาคบ่าย ส่งผลให้ดัชนีเริ่มปรับขึ้นร้อนแรง โดยทำจุดสูงสุดของวันที่ 1,446.63 เพิ่มขึ้น 11.07 แต่หลังจากนั้น ก็เริ่มมีแรงขายออกมาอีกเล็กน้อย กดดันให้ดัชนีอ่อนตัวมาปิดตลาดที่ระดับ 1,439.10 เพิ่มขึ้น 3.54 คิดเป็น 0.25% ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่หนาแน่นกว่า 80,866.05 ล้านบาท

สำหรับนักลงทุนสถาบันเริ่มกลับมาซื้อสุทธิจำนวน 3,279.23 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนต่างประเทศ ขายสุทธิ 1,256.96 ล้านบาท พอร์ตลงทุนบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ 2,447.20 ล้านบาท และนักลงทุนในประเทศ ซื้อสุทธิ 424.93 ล้านบาท

นางสาวธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ดัชนีหุ้นไทยที่ผันผวนสูง สะท้อนความเปราะบางของตลาด โดยสาเหตุส่วนหนึ่งจากการที่ไม่มีนักลงทุนสถาบัน เช่น กองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) มาช่วยซัพพอร์ตเหมือนในอดีต เพราะหากมี LTF เชื่อว่าจะเห็นนักลงทุนสถาบันเข้ามาซื้อหุ้นบ้าง และอาจช่วยบรรเทาผลกระทบจากดัชนีที่ปรับตัวลงแรงได้

158264382737

ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในระยะข้างหน้า คาดว่าดัชนีฯยังมีสัญญาณ "ขาลง" อยู่นับตั้งแต่ดัชนีฯหลุดระดับ 1,500 จุดลงมา ซึ่งทิศทางการเคลื่อนไหวของดัชนีฯก็ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่(โควิด-19) ว่าไปในทิศทางไหน โดยคาดว่าวันนี้ (26 ก.พ.63) ดัชนีฯน่าจะแกว่งตัวในกรอบ 1,420 – 1,450 จุด พร้อมแนะนำให้นักลงทุนที่รับความเสี่ยงไม่ได้ชะลอการลงทุนออกไปก่อน ส่วนนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้แนะนำทยอยสะสมหุ้นโดยเฉพาะหุ้นที่แข็งแกร่งกว่าตลาด เช่น หุ้นปันผลสูงหรือหุ้นที่ราคาปรับตัวลดลงมามากแล้ว

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า นักลงทุนเริ่มมีแรงขายทำกำไรออกมาในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำและพันธบัตร หลังจากก่อนหน้านี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง และเม็ดเงินบางส่วนน่าจะโยกกลับมาในตลาดหุ้น ขณะที่มองว่ามูลค่าของหุ้นไทย (แวลูชั่น) ที่บริเวณดัชนีฯระดับ 1,430-1,435 จุดถือว่าเป็นจุดที่น่าเข้าซื้อรอบใหม่ เพราะคิดเป็นอัตราส่วนกำไรต่อราคาต่อหุ้น(พี/อี)เพียงระดับ 14.8 เท่า

ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นวันนี้ประเมินว่าดัชนีฯน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,420 -1,460 จุด เนื่องจากมีแรงกดดันจากโรคโควิด-19 อยู่เป็นระยะๆ ซึ่งทำให้การปรับตัวขึ้นของดัชนีฯคงไม่ง่าย ส่วนกลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้แนะนำให้นักลงทุนรอเข้าซื้อที่ระดับ 1,430 จุด

“คาดว่าการที่ตลาดหุ้นเคลื่อนไหวรุนแรงนั้น ส่วนหนึ่งมาจากขาดพวกกองทุนมาประคอง ซึ่งการที่ไม่มีกองทุน LTF ก็ส่งผลให้เม็ดเงินในระบบหายไปและไม่มีเบาะมารองรับ ซึ่งเชื่อว่าหากมีกองทุน LTF อยู่ในวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมาอาจไม่เห็นหุ้นตกแรงๆขนาดนั้น”

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ กล่าวว่าอยากเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ส่งเสริมให้นักลงทุนระยะสั้นในตลาดหุ้นไทยหันมาเป็นนักลงทุนระยะยาวมากขึ้น เช่น การให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินปันผลสำหรับนักลงทุนที่ซื้อหุ้นระยะยาว จากเดิมที่ต้องจ่ายภาษีเงินปันผลในอัตรา 10% เพื่อการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจะเป็นแรงจูงใจในการเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนในรูปแบบการลงทุนระยะยาวมากขึ้น หลังจากมองว่าปัจจุบันนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นกลุ่มลงทุนระยะสั้นมากเกินไป และยังจะส่งผลดีต่อภาวะตลาดหุ้นให้มีเสถียรภาพและลดความผันผวนสูงได้