‘บ้าน’ ไม่ใช่แค่ที่อาศัย แต่กำหนดการใช้ชีวิต

‘บ้าน’ ไม่ใช่แค่ที่อาศัย แต่กำหนดการใช้ชีวิต

เปิดงานวิจัยการใช้ชีวิตและผังพื้นที่การใช้งานของคนเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) จะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?

หากพูดถึงคำว่า ‘ที่อยู่อาศัย’ ภาพในจินตนาการของคุณเป็นแบบไหน ภาพของการอยู่อาศัยร่วมกันเป็นครอบครัว ที่พ่อ แม่ ลูก ปู่ ย่า ตา ยาย อาศัยอยู่ร่วมกันหลายๆ รุ่น หรือเป็นภาพห้องขนาดกระทัดรัดที่อยู่ตัวคนเดียวหรือกับพาร์ทเนอร์สักคน

ด้วยบริบทของที่อยู่อาศัยของสังคมเมืองในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐิณี กาญจนาภรณ์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นักวิจัยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และคณะ จึงทำการศึกษาที่อยู่อาศัยแบบแนวตั้ง คอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนท์ หรือแฟลต ในเมืองหลวง 3 ประเทศ กรุงเทพมหานคร สิงคโปร์ และกัวลาลัมเปอร์ ว่าการใช้ชีวิตและผังพื้นที่การใช้งานของคนเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) จะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร จากกรณีศึกษาที่อยู่แนวตั้งที่มีการอยู่อาศัยจริงจำนวน 50 ตัวอย่าง ในโครงการวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของวิถีการอยู่อาศัยในสังคมเมือง กรณีศึกษากรุงเทพมหานครเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของที่อยู่อาศัยในสามมหานครของกลุ่มประเทศอาเซียน

สิงคโปร์และกัวลาลัมเปอร์ เป็นเมืองที่มีบริบททางวัฒนธรรมคล้ายกันด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์และเชื้อสายของผู้อยู่อาศัย ทั้งสองพื้นที่มีระบบการจัดการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์แบบ HBD (Housing and Development Board) หรือระบบที่รัฐบาลเข้ามามีส่วนในการควบคุม (คล้ายกับการเคหะแห่งชาติของบ้านเรา)

โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐิณี อธิบายว่า ทั้งสองเมืองมีที่อยู่อาศัยแบบแนวตั้งอยู่มากเหมือนกับกรุงเทพฯ โดยสิ่งที่เป็นจุดร่วมของทั้ง 2 เมือง คือ ที่อยู่อาศัยจะเน้นการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวขยาย หรือการอยู่ร่วมกันของผู้อยู่อาศัยหลายรุ่น มี 2-4 ห้องนอน ในพื้นที่ประมาณ 75-100 ตารางเมตร และมีห้องครัวแบบปิดสามารถทำอาหารได้จริง มีการถ่ายทอดการทำอาหารกันรุ่นต่อรุ่น คนอินเดียก็ยังทำอาหารอินเดีย คนจีนก็ยังทำอาหารจีน การออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านจะเกิดขึ้นเพื่อการสังสรรเป็นครั้งคราวเท่านั้น การใช้ชีวิตจะเน้นการอยู่ร่วมกันมากกว่าการมีพื้นที่ส่วนตัว พื้นที่ห้องนั่งเล่นจึงมีขนาดใหญ่กว่าห้องอื่นๆ

ไม่เพียงการใช้ชีวิตในบ้านที่แตกต่าง แต่การส่งเสริมด้านอสังหาริมทรัพย์ก็แตกต่างเช่นกัน “ในสิงคโปร์จะมีการส่งเสริมเรื่องการอยู่เป็นครอบครัวขยายและครอบครัวใหญ่ มีการดูแลเกื้อกูลกัน ดังนั้นแล้ว หากรุ่นพ่อแม่ซื้อที่อยู่อาศัยในพื้นที่ตรงไหน แล้วรุ่นลูกซื้อในพื้นที่เดียวกันหรือละแวกใกล้ชิดก็จะได้ส่วนลดเป็นพิเศษด้วย นอกจากนั้นเมื่อผ่านไปประมาณ 20 ปี บางอาคารก็จะมีการสร้างต่อเติมพื้นที่ส่วนของระเบียบให้เป็นห้องเพิ่มเติม เพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น และทุกที่อยู่อาศัยทั้งของรัฐและเอกชนจะมีการสร้างห้องหลบภัยที่มีอยู่ในทุกห้องชุด (Bomb shelter) ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้สามารถใช้ชีวิตได้จริงเตรียมไว้เสมอ เพื่อพร้อมรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหรือสงคราม ด้วยความเชื่อว่าประชาชนของเขาจะต้องมีชีวิตรอด”

ภาพของครอบครัวที่อบอุ่น การได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน หากมองที่กรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย จากกรณีศึกษาและข้อมูลเชิงสถิติในปัจจุบัน จะพบว่าสถานการณ์ของกรุงเทพฯ แตกต่างออกไป การอยู่อาศัยในกรุงเทพฯ การอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่มีแนวโน้มลดลงอย่างมาก คนส่วนใหญ่เลือกที่จะอาศัยอยู่คนเดียวหรือกับพาร์ทเนอร์สักคน ด้วยข้อจำกัดของราคาที่อยู่อาศัยและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป พื้นที่แนวราบถูกแปลงไปเป็นพื้นที่อยู่อาศัยแนวตั้งและเป็นอสังหาริมทรัพย์สร้างผลกำไรมหาศาล ที่พักอาศัยเติบโตในแนวตั้ง คนรุ่นใหม่หลายคนจำยอมอย่างมีความสุขที่จะสละคุณภาพชีวิตบางอย่างเพื่อแลกกับความสะดวกสบายของเมืองหลวง

รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐิณี อธิบายถึงการอยู่อาศัยในพื้นที่แนวตั้งของคนกรุงเทพฯ ว่า จากการสำรวจที่อยู่อาศัยสำหรับคนที่มีเงินเดือนประมาณ 35,000 บาท จะสามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้ขนาด 25-35 ตารางเมตร มีห้องนอน 1 ห้อง และมีครัวแบบเปิดเป็นส่วนใหญ่ ด้วยข้อจำกัดเรื่องขนาดของที่อยู่อาศัยทำให้บ่อยครั้งเกิดการซ้อนทับของพื้นที่ใช้งาน (Overlapping Functions) เช่น โต๊ะอาหาร เป็นทั้งที่รับประทานอาหาร ที่ทำงาน ที่วางของ หรือใช้งานอเนกประสงค์ เป็นต้น

ครัวแบบเปิดที่ไม่สามารถทำครัวไทยหรือปรุงอาหารต่างๆ ได้สะดวก ทำให้ผู้คนเลือกจะใช้บริการส่งอาหารหรือทานอาหารแช่แข็งที่สามารถซื้อมาตุนและอุ่นรับประทานได้สะดวก นอกจากนั้นคนเมืองยังเลือกที่จะใช้พื้นที่อำนวยความสะดวกภายนอกที่อยู่อาศัยมากกว่าการทำกิจกรรมในห้องขนาดกะทัดรัด เพราะพื้นที่ในแนวราบไม่กี่ร้อยตารางเมตรกลับกลายเป็นที่อยู่อาศัยแนวตั้งที่มีปริมาณคนอยู่อาศัยแทบเทียบเท่าระดับตำบลของต่างจังหวัด ดังนั้นสิ่งอำนวยความสะดวกย่อมไม่เพียงพอต่อการรับจำนวนคน สถานที่ที่คนเมืองนิยมไปใช้บริการ เช่น การไปทำงานที่ Co-working space ตามย่านต่างๆ รับประทานอาหารและพักผ่อนหย่อนใจที่ห้างสรรพสินค้า และใช้บริการฟิตเนสเพื่อออกกำลังกาย เป็นต้น

“สาเหตุที่ทำให้คนส่วนใหญ่ ‘จำยอมอย่างมีความสุข’ ที่จะอยู่อาศัยในพื้นที่ลักษณะนี้โดยต้องสละคุณภาพชีวิตบางอย่างไป ก็เพื่อให้ได้มาซึ่งการเดินทางที่สะดวก การได้อยู่ใกล้ที่ทำงาน สถานศึกษา และการได้อยู่ใกล้ชิดแหล่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของเมือง”

แต่กระนั้นการจำยอมก็ต้องแลกมากับคุณภาพชีวิตบางอย่างด้วยเช่นกัน รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐิณี สะท้อนว่า จะพบเห็นได้ว่าปัจจุบันมีคนเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจมาจากความเหงาของการที่ต้องแยกจากครอบครัวมาอยู่อาศัยเอง, การอยู่ตัวคนเดียว, ความเหนื่อยล้าจากการทำงานที่ทำให้ขี้เกียจออกไปสังคมกับเพื่อนฝูง , ขี้เกียจออกกำลังกาย และอีกสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือสุขภาพที่แย่ลงจากการรับประทานอาหารที่ไม่มีคุณภาพ ที่เน้นความเร็วและความสะดวกเป็นหลัก 

ดังนั้นแล้ว หากจะเลือกซื้อที่อยู่อาศัย นอกจากการมองถึงความสะดวกในเรื่องการเดินทาง และแหล่งอำนวยความสะดวกของเมืองหลวงแล้ว ยังควรคำนึงถึงการลงทุน แผนการใช้ชีวิตในระยะยาว และยังควรศึกษาข้อมูลของที่อยู่อาศัยให้ดี เพื่อให้ไม่ต้องอยู่หรืออยู่ภายใต้ข้อจำกัดในการใช้ชีวิตให้น้อยที่สุด ทั้งเรื่องของการออกแบบพื้นที่ใช้สอย ภายในห้องชุดที่ตรงโจทย์การใช้ชีวิต และการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งทั้งหมดล้วนมีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย

ผลจากการทำวิจัยร่วมกับในครั้งนี้ จึงเกิดการขยายผลไปสู่การทำกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบได้ตระหนักถึงการออกแบบที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตจริง โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย และขยายผลไปถึงการชักชวนผู้ประกอบการทางด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่มาร่วมสร้างความตระหนักในด้านนี้ ซึ่งเราอาจได้เห็นอสังหาริมทรัพย์รูปแบบใหม่ที่มีราคาจับต้องได้ และเอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพให้เห็นในบ้านเราในอนาคต