‘จีน-เอเชียใต้’ แหล่งรวมฝุ่น PM2.5 โลก

‘จีน-เอเชียใต้’ แหล่งรวมฝุ่น PM2.5 โลก

ผลการศึกษาคุณภาพอากาศโลก ปี 2562 พบว่า เกือบ 90% ของ 200 เมืองที่ถูกจัดว่ามีฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เป็นอันตรายสูงที่สุดในโลก กระจุกตัวอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากไทย คือในจีนและอินเดีย ส่วนที่เหลืออยู่ในปากีสถานและอินโดนีเซีย

ฝุ่น PM2.5 ซึ่งมีขนาด 2.5 ไมครอน หรืออธิบายให้เห็นภาพคือประมาณ 1 ส่วน 30 ของความกว้างเส้นผมมนุษย์ ถือเป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายมากที่สุด เนื่องจากมีขนาดเล็กมากจนสามารถผ่านเนื้อเยื่อปอดเข้าไปในกระแสเลือด ทำให้เกิดอากาารหอบหืด โรคมะเร็งปอด และโรคหัวใจ ตามมาได้

ในวันนี้ (25 ก.พ.) “ไอคิวแอร์กรุ๊ป” และ “กรีนพีซ” ร่วมกันเผยแพร่รายงาน “คุณภาพอากาศโลก” ที่อ้างอิงข้อมูลเมืองต่าง ๆ เกือบ 5,000 แห่งทั่วโลก พบว่า หากคำนวณตามจำนวนประชากร ประเทศที่มีฝุ่น PM2.5 เลวร้ายที่สุดในโลกคือบังกลาเทศ ตามด้วยปากีสถาน มองโกเลีย อัฟกานิสถาน และอินเดีย

ขณะที่จีนอยู่อันดับที่ 11 หากนับเฉพาะเมืองใหญ่ที่มีประชากร 10 ล้านคนขึ้นไป กรุงนิวเดลีของอินเดียมี PM2.5 มากที่สุด ตามด้วยเมืองลาฮอร์ของปากีสถาน กรุงธากาของบังกลาเทศ เมืองโกลกาตาของอินเดีย เมืองหลินอี้และเทศบาลนครเทียนจินของจีน กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย เมืองอู่ฮั่น เมืองเฉิงตูและกรุงปักกิ่งของจีน

แฟรงค์ แฮมเมส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ไอคิวแอร์ กล่าวว่า มลพิษทางอากาศเป็นภัยคุกคามสุขภาพอันดับต้น ๆ ของโลก และทุกวันนี้ ประชากรโลก 90% กำลังหายใจเอาอากาศอันตรายเข้าปอด

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะมลพิษทางอากาศ 7 ล้านคนทั่วโลก ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากฝุ่น PM2.5 ซึ่งเกิดจากพายุฝุ่น การเกษตร อุตสาหกรรม ไฟป่า และการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล 

ทั้งนี้ WHO กำหนดเกณฑ์ฝุ่น PM2.5 ว่า ไม่ควรเกินระดับ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (25 mcg/m3) ในช่วง 24 ชั่วโมง หากพื้นที่ตอนเหนือของอินเดีย และตอนกลางค่อนไปทางเหนือของจีนสามารถปรับปรุงคุณภาพอากาศให้เป็นไปตามเกณฑ์นี้ จะช่วยให้คนมีอายุขัยเพิ่มขึ้น 6-7 ปี

ส่วนในกลุ่มประเทศร่ำรวย 36 ประเทศในองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ประเทศที่มีฝุ่น PM2.5 มากที่สุดคือ เกาหลีใต้ มีเมืองมลพิษทางอากาศ 105 เมืองจากเมืองที่แย่ที่สุด 1,000 เมือง โปแลนด์มี 39 เมือง อิตาลีมี 31 เมือง

ส่วนแอฟริกาและตะวันออกกลางไม่มีข้อมูลมากเพียงพอ เพราะมีสถานีวัดคุณภาพอากาศน้อยมาก

“สิ่งที่ไม่สามารถตรวจวัดได้ ก็หาทางจัดการไม่ได้” แฮมเมสเผย “ปัจจุบัน แอฟริกา ซึ่งเป็นทวีปที่มีประชากร 1,300 ล้านคน มีสถานีวัดคุณภาพอากาศที่เปิดเผยข้อมูล PM2.5 ต่อสาธารณะแบบเรียลไทม์ รวมกันไม่ถึง 100 แห่ง”

นับถึงปี 2561 เฉพาะจีนประเทศเดียวมีสถานีวัดคุณภาพอากาศกว่า 1,000 แห่งใน 200 เมืองทั่วประเทศ