บิ๊กท่องเที่ยว 'กางสูตรสู้วิกฤติไวรัส' 'ลดต้นทุน-อัดโปร' ลุ้นครึ่งหลังฟื้น

บิ๊กท่องเที่ยว 'กางสูตรสู้วิกฤติไวรัส' 'ลดต้นทุน-อัดโปร' ลุ้นครึ่งหลังฟื้น

ครบรอบ 1 เดือนพอดีหลังจากรัฐบาลจีนมีคำสั่งห้ามบริษัทนำเที่ยวพานักท่องเที่ยวจีนออกต่างประเทศเมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยวไทยทันที

เนื่องจากตลาดจีนเที่ยวไทยครองสัดส่วนมากเป็นอันดับ1เกือบ30%ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ด้วยจำนวน11ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว ไม่เพียงจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ลดลง นักท่องเที่ยวชาติอื่นก็ลดลงเช่นกันจากความกังวลการแพร่ระบาดของโรค

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จำต้องปรับลดคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2563 จากจำนวน 40.78 ล้านคน ลดลงเกือบ 5 ล้านคน เหลือ 36 ล้านคน รายได้ตลาดต่างประเทศลดลงจาก2.03ล้านล้านบาท เหลือ1.78ล้านล้านบาท หายไปถึง2.5แสนล้านบาท เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญฉุดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีในไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่จีดีพีทั้งปีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าจะเติบโตไม่ถึง 2 %

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและทันทีมีถึง9ธุรกิจหลัก ได้แก่ สายการบิน 30 ราย ผู้ประกอบการขนส่งทางบก ไม่ว่าจะเป็นรถบัส รถตู้ รถเช่า กิจการเช่ารถทั้งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และรถส่วนบุคคลที่ให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยว รวมถึงเรือท่องเที่ยว ผู้ให้บริการกิจกรรมนันทนาการท่องทะเล อาทิ เจ็ตสกี ร่มบิน เรือแคนนู ฯลฯ ราว 10,000 ราย ผู้ประกอบการธุรกิจที่พักโรงแรมที่มีใบอนุญาต 6,000 แห่ง และที่ไม่มีใบอนุญาตกว่า 20,000 แห่ง รวมกว่า 26,000 แห่ง

ธุรกิจให้บริการเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยว สถานบันเทิง และธุรกิจสปาทุกประเภทรวมกว่า 5,000 แห่ง บริษัทนำเที่ยวทั้งระบบประมาณ 8,500 บริษัท มัคคุเทศก์และผู้นำเที่ยวที่ได้รับผลกระทบทั้งผู้ที่มีใบอนุญาต 70,000รายและที่ทำงานอยู่ในระบบอีก 32,000 ราย ร้านอาหาร 15,000 ร้าน ร้านขายสินค้าและของที่ระลึก 5,000 แห่ง และธุรกิจโรงพยาบาลอีกกว่า 30 แห่ง

ชี้วิกฤติท่องเที่ยวหนักสุด30ปี

นายจิระเดช ห้วยหงษ์ทอง กรรมการผู้จัดการ หงษ์ทองกรุ๊ป หนึ่งในผู้ให้บริการเช่ารถบัสนำเที่ยวรายใหญ่ของไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19ถือเป็นวิกฤติครั้งใหญ่และหนักที่สุดนับตั้งแต่เขาอยู่ในวงการท่องเที่ยวมากว่า30ปีซึ่งผ่านมรสุมมาหมด เช่น เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ภัยพิบัติ สงครามอ่าวเปอร์เซีย และการแพร่ระบาดของโรคซาร์สซึ่งขณะนั้นมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปทั่วโลกน้อยกว่าปัจจุบันมาก

“หงษ์ทองกรุ๊ปให้บริการรถบัสนำเที่ยวแก่กรุ๊ปทัวร์จีนในสัดส่วน35-40%รองจากตลาดยุโรป แต่พอเกิดวิกฤตินี้ ส่งผลกระทบต่อทุกตลาด ไม่ใช่แค่จีน ทำให้มีอัตราการใช้งานรถบัสลดลงเหลือ25%ของจำนวนรถที่บริษัทมีทั้งหมด280คัน ปัจจุบันยังรับกรุ๊ปทัวร์จากยุโรปกับเกาหลีบางส่วน และรับวิ่งรถให้กับรัฐวิสาหกิจ”

ธุรกิจรถนำเที่ยวลดต้นทุนทุกมิติ

เมื่อนักท่องเที่ยวหายไป หงษ์ทองกรุ๊ปจึงต้องปรับตัวด้วยการลดต้นทุนทุกด้าน รวมถึงค่าใช้จ่ายแก่พนักงานด้วยการขอให้พนักงานขับรถซึ่งมีทั้งหมด280คน ผลัดกันลาหยุดโดยไม่รับค่าจ้าง (Leave without Pay)อย่างเช่นตอนนี้ได้อนุญาตให้พนักงานขับรถบางส่วนราว80คนลากลับภูมิลำเนาเพื่อทำธุรกิจที่บ้านและเกษตรกรรมช่วยครอบครัว ส่วนอีก180-200คนยังประจำการเพื่อให้บริการลูกค้า พร้อมถือโอกาสนี้เร่งซ่อมแซมรถบัส

เร่งบริหารหนี้พยุงธุรกิจ

“ยอมรับว่าปีนี้บริษัทต้องปรับเป้ารายได้อีกครั้ง จากปกติเคยได้450ล้านบาทต่อปี แต่คาดว่าปีนี้จะหายไปถึง30-40%โดยปัญหาตอนนี้คือเราต้องบริหารหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายคงที่ซึ่งมีกว่า10-20ล้านบาทต่อเดือน แต่มีรายได้เข้ามาแค่4-5ล้านบาทต่อเดือน” นายจิระเดชกล่าว

ดุสิตฯรับมียกเลิกจองห้องพัก

ด้านนางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงแรมในเครือดุสิตธานีได้รับผลกระทบจากโควิด-19ทำให้มีจำนวนลูกค้าที่ขอยกเลิกการจองห้องพักเข้ามาบ้างในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.นี้ โดยบริษัทฯได้วางแผนปรับเปลี่ยนการทำตลาด จัดแคมเปญและโปรโมชั่นเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“แม้จะเป็นการยากที่จะคาดเดาว่าสถานการณ์นี้จะดีขึ้นเมื่อไร แต่ในเบื้องต้นบริษัทฯประเมินว่ากว่าสถานการณ์จะค่อยๆ พลิกฟื้น น่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-6 เดือน ถึงจะเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงปลายเดือน พ.ค. หรือต้นเดือน มิ.ย.นี้ ทำให้บริษัทฯจำเป็นต้องปรับประมาณการณ์รายได้และกำไรลง”

รักษาสภาพคล่อง-พยุงจ้างงาน

นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ภาพรวมการปรับตัวของผู้ประกอบการโรงแรมในไทยช่วงนี้ มุ่งไปที่การประหยัดต้นทุน หลายแห่งเลือกไม่ลงทุนซื้อสินค้าเพื่อนำมาปรับปรุงโรงแรมเพิ่มเติมในช่วงนี้เพื่อรักษาสภาพคล่องในช่วงที่ดีมานด์นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป ยอมเฉือนเนื้อเพื่อให้องค์กรอยู่รอด

ด้านต้นทุนค่าจ้างพนักงาน บางโรงแรมที่แบกต้นทุนไม่ไหว ได้ทำความเข้าใจกับพนักงานเกี่ยวกับความจำเป็นในสถานการณ์นี้ และขอให้พนักงานลาหยุดแบบLeave without Payเพื่อพยุงการจ้างงานในภาพรวมขององค์กรเอาไว้

คาดก.พ.-มี.ค.อัตราเข้าเหลือ50%

ขณะที่สถานการณ์เข้าพักโรงแรมในกรุงเทพฯ เบื้องต้นทีเอชเอคาดว่าเดือน ก.พ.-มี.ค.นี้จะมีอัตราเข้าพักเฉลี่ยใกล้เคียง50%ลดลงจากปกติที่ควรได้70-80%ส่วนโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวหลักอื่นๆ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ซึ่งเป็นจุดหมายที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมไปก็เจอสถานการณ์ย่ำแย่เช่นกัน หนึ่งในแนวทางการปรับตัวคือการทำตลาดคนไทย โดยทาง ททท.จะมีการจัดทำแคมเปญส่งเสริมการตลาดให้โรงแรมต่างๆ นำเสนอโปรโมชั่นลดราคาห้องพัก และเพิ่มมูลค่าผ่านบริการต่างๆ เช่น บริการLate Check-outและฟรีดินเนอร์

สอดคล้องกับนายวิชิต ประกอบโกศล ประธานกลุ่มบริษัท ซี.ซี.ที. กรุ๊ป ผู้ประกอบการทัวร์รายใหญ่ตลาดจีนเที่ยวไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ลูกค้ากรุ๊ปทัวร์จีนหายไปในเดือนก.พ.-เม.ย.นี้บริษัทฯจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการลดค่าใช้จ่ายเพื่อให้องค์กรยังเดินต่อไปได้ ควบคู่กับการปรับปรุงองค์กร พร้อมจัดเตรียมสินค้าท่องเที่ยวใหม่ๆ หาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในเมืองรองมาเสนอขายนักท่องเที่ยวทันทีที่สถานการณ์แพร่ระบาดยุติ

บินไทยหันเพิ่มเที่ยวบินในประเทศ

ด้านแหล่งข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้ปรับลดเที่ยวบินสู่เมืองต่างๆ ในเอเชียเพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ หลังยอดผู้โดยสารลดลงต่อเนื่อง โดยจะนำเครื่องบินไปใช้สำหรับการเพิ่มเที่ยวบินเส้นทางภายในประเทศ เส้นทางสู่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และยุโรปซึ่งเป็นตลาดที่ยังมียอดจองตั๋วเครื่องบินเข้ามา และไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดที่เกิดขึ้น

“ตอนนี้จนถึงเดือน มี.ค. การบินไทยจำเป็นต้องเลี้ยงอาการไปก่อน โดยคาดว่ายอดผู้โดยสารจะเริ่มฟื้นตัวในเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ และเตรียมแผนการทำตลาดในช่วงครึ่งปีหลังให้ตีตื้นกลับมา หลังจากช่วงครึ่งปีแรกอยู่ในภาวะทำใจ”

ไทยไลอ้อนฯบินจีนลดมากกว่า10% 

ก่อนหน้านี้ นางนันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้จัดการทั่วไปสายการพาณิชย์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ กล่าวว่า ได้ปรับลดความถี่เที่ยวบินเส้นทางไปจีนมากกว่า10%จากความถี่ในช่วงปกติซึ่งให้บริการ25เส้นทางสู่15จุดบิน โดยตลอดเดือน ก.พ.นี้คาดเส้นทางจีนมีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (โหลดแฟคเตอร์) ลดลงเหลือ 30-40% ขณะที่จำนวนผู้โดยสารรวมลดลง20%ไทยไลอ้อนแอร์จึงปรับตัวด้วยการหันไปเพิ่มเที่ยวบินเส้นทางสู่อินโดนีเซียและเอเชียใต้เพื่อชดเชยตลาดจีน พร้อมโปรโมทตลาดนักท่องเที่ยวไทยเพิ่ม และดูแลความเรียบร้อยและความสมบูรณ์ของเครื่องบิน