‘ซิกซ์บริว คอฟฟี่’ พลิก Pain Point ลูกค้าสู่โมเดลธุรกิจใหม่

‘ซิกซ์บริว คอฟฟี่’ พลิก Pain Point ลูกค้าสู่โมเดลธุรกิจใหม่

ธุรกิจที่ปรึกษาเปิดร้านกาแฟ ให้เช่าบาริสต้า ส่งอาหารพร้อมทานแบบโฮมเมดให้กับร้านคาฟ่ กลายเป้าหมายใหม่ของ ‘ซิกซ์บริว คอฟฟี่’ ร้านกาแฟที่ มองเห็นถึง Pain Point ลูกค้าในแต่ละกลุ่มและสามารถแก้ปัญหาให้ได้ตรงจุด

พรรณลักษณ์ ตลาภา ผู้ก่อตั้งร้านกาแฟ Six Brew Coffee กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของซิกซ์บริว คอฟฟี่เกิดจากไอเดียที่ต้องการดีไชน์ชั้น1 ของออฟฟิศให้เป็นดิสเพลย์ขายของตกแต่ง แต่กลัวลูกค้าจะไม่กล้าเข้าร้าน เพราะคนส่วนใหญ่มักคิดว่าของตกแต่งบ้านราคาแพง จึงเปิดเป็น ร้านกาแฟ Six Brew Coffee ขึ้นมาดึงลูกค้าเข้าร้าน และอีกเหตุผลหนึ่งต้องการทำเป็นสวัสดิการให้กับพนักงาน ไม่ได้คิดจะทำธุรกิจจริงจัง จึงมีโต๊ะให้ลูกค้านั่งแค่3 โต๊ะ 14 ที่นั่ง

หลังจากเปิดร้านได้ 2 สัปดาห์ ปรากฏว่า ที่นั่งเริ่มไม่เพียงพอกับจำนวนของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ ทำให้ต้องเพิ่มจำนวนโต๊ะ ส่งผลให้ปัจจุบันมีโต๊ะจำนวน27 โต๊ะ 150 ที่นั่ง กลายเป็นว่า ปัจจุบันมีงานอีเว้นท์ต่างๆ กองถ่ายภาพยนตร์ละคร จัดวันเกิด เข้ามาขอใช้พื้นที่ ทุกเดือน ในลักษณะการบอกต่อ(viral marketing) ทำให้ต้องขยายไปรูปแบบการให้บริการไปหลายรูปแบบ

ต่อมาพรรณลักษณ์ เกิดไอเดียจัดฟรีคอนเสิร์ตทุกเดือนๆละครั้งช่วงวันอาทิตย์ ยิ่งทำให้คนรู้จักร้านและเข้ามาใช้บริการมากขึ้นจนต้องรื้อส่วนที่วางของตกแต่งบ้านชั้น 2 ออกไป เพื่อรองรับกับจำนวนลูกค้าที่เข้ามา พรรณลักษณ์ มองว่า ทำเลในย่านลาดปลาเค้า มีจุดเด่นในแง่ของการเป็นย่านที่พักอาศัย มีโรงเรียน สำนักงาน จำนวนมาก ทำให้ร้านกาแฟของเธอกลายเป็น “จุดรับแขก” ของคนในย่านนี้ เวลาที่ใครมีเพื่อน หรือญาติมามักจะมานั่งดื่มกาแฟที่นี่

ปัจจุบันร้านกาแฟแห่งนี้ มียอดขาย 6แสนบาทต่อเดือน (ยังไม่หักค่าใช้จ่าย) เฉลี่ยขายได้วันละ 100กว่าแก้ว เสาร์ อาทิตย์ 300 แก้ว กลุ่มลูกค้า 25- 40ปีส่วนใหญ่จะเป็นขาประจำ 70% ที่เหลือ 20% เป็นขาจร สิ่งที่ดึงดูดให้คนมาร้านคือมีที่นั่งเยอะ มีปลั๊ก ไวไฟ เพดานสูงดูโปร่งน่านั่งทำงาน ที่นี่ไม่ไล่ลูกค้าและจุดแข็งสุดคือมีที่จอดรถถึง 43 คัน และวันเสาร์ -อาทิตย์เปิดให้บริการห้องประชุมชั้น3

“ตอนนี้รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการรับจัดอีเว้นท์ ถ่ายละคร แต่เราจะไม่ให้จัดงานติดกัน เพื่อไม่ให้กระทบกับลูกค้าประจำ ปัจจุบันรายได้ของบริษัทไม่ได้มาจากการขายกาแฟ เริ่มคงที่แล้ว เพราะกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นคนที่อยู่อาศัยในย่านนี้”

พรรณลักษณ์ ยังบอกว่า การทำร้านกาแฟยุคนี้ “ไม่ใช่เรื่องง่าย” เพราะลูกค้ามีความรู้เรื่องกาแฟเยอะขึ้น หากทำร้านกาแฟจริงจังต้องศึกษาหาความรู้ให้มากขึ้น ทำให้ตนและทีมบาริสต้า15 คนที่เทรนขึ้นมาไปเรียนโซเชียล คอฟฟี่ แอสโซซิเอชั่น จากนั้นตนเองยังต้องไปเรียนที่สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนามเพื่อตั้งแต่ศึกษาเมล็ดกาแฟ ซ่อมเครื่องยันการดมกลิ่นเมล็ดกาแฟเพื่อแบ่งเกรดเมล็ดกาแฟในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญเหมือนคนดมกลิ่นไวน์

ด้วยพื้นฐานการเป็น ผู้ประกอบธุรกิจส่งออกของตกแต่งบ้านมา 18ปี และประสบการณ์ ซึ่งต้องทำงานกับชาวต่างชาติทำให้จุดเริ่มต้นการทำร้านของเธอ จึงทำอย่างเป็นระบบ มีการเทรนนิ่ง การคิดต้นทุนวัตถุดิบในแต่ละเมนูอย่างละเอียด แม้แต่การทำโปรโมชั่น ทำให้มีโนฮาวน์ที่พร้อมจะให้บริการแก่คนที่ สนใจทำธุรกิจ จึงกลายเป็นธุรกิจใหม่ภายใต้ชื่อบริษัท Nosh ซึ่งเพิ่งตั้งในปีนี้

“ความที่เป็นร้านเปิดลูกค้าทุกคนจะเห็นกระบวนการทำงานที่เป็นระบบ ซึ่งมีลูกค้าบางรายที่มีเงินทุน อยากให้เราช่วยทำแบรนด์ร้านกาแฟ ออกแบบให้ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามีประสบการณ์จากลองผิดลองถูกในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สามารถเป็นที่ปรึกษาได้ ว่าควรใช้เครื่องแบบไหน เงินทุนเท่าไร”

พรรณลักษณ์ ระบุว่า ปัจจุบันเทรนด์ของการทำร้านกาแฟยังดีอยู่ ซึ่ง การลงทุนร้านกาแฟขึ้นอยู่ขนาด มีตั้งแต่ขนาด S ลงทุนเฉพาะตัวบาร์และการ ตกแต่ง 3.5-4แสนบาท ขนาด M ลงทุน ประมาณ 5แสนบาท และขนาด L ลงทุน ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป

"การลงทุนร้านกาแฟ ต้องคำถึงกำไร ที่เข้ามาด้วย ราคากาแฟแก้วละ 60 -100 บาท เมื่อไรจะคืนทุน เริ่มต้นไม่ควรลงทุนมากนัก รอให้ทุกอย่างลงตัวแล้ว ลงทุนเพิ่มจะดีกว่า ยกเว้นมีเงินทุนหนา ต้องการสร้างความแตกต่างที่มีจุดขายที่โดดเด่น แต่ถ้าเป็นเอสเอ็มอีค่อยๆทำจะปลอดภัยกว่าที่สำคัญต้องทำเป็น ทุกอย่าง จนหาคนมาช่วยบริหารจัดการได้ "

ปัจจุบันบริษัทมี 3 แบรนด์ให้คนที่สนใจลงทุนเลือก แบรนด์ GOOSE ราคากาแฟแก้วละ 50- 60 บาท แบรนด์ umbrella จะอยู่ในห้างสรรพสินค้าโรงพยาบาล ราคากาแฟแก้วละ 80- 90 บาทส่วน แบรนด์ Six Brew มีจำนวน 7-8โต๊ะ เป็นร้านกาแฟสแตนอโลน ราคาแก้วละ 80- 200 บาท เพราะเป็นกาแฟนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้บริษัทเปิดให้บริการ ยืมตัวบาริสต้า สำหรับร้านที่มีปัญหา บาริสต้า มีการเข้าออกบ่อย

ขณะเดียวกันแตกไลน์ไปยังธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มด้วยการนำเสนอเมนูอาหารคาวให้กับร้านคาเฟ่ ที่มีปัญหาฝีมือเชฟไม่เสถียร หรือเชฟเข้าออกบ่อยทำให้ควบคุมคุณภาพอาหารไม่ได้ ในรูปบบของอาหารแช่แข็ง( Frozen) ที่นำไปอุ่นแล้วออกมาเหมือนอาหารโฮมเมด ในร้านที่มีแค่เตาไมโครเวฟจะ ได้อาหารประมาณ8เมนู มีตั้งแต่ซี่โครงหมูย่าง สปาเก็ตตี้ ข้าวอบ น้ำยาปู ไก่ตะไคร้ แต่ถ้ามีหม้อทอดด้วยจะได้ 10 เมนู ถ้ามีหัวเตาด้วยจะได้ถึง 70 เมนู

“ราคาขายส่งไม่แพงทำให้ร้านค้าสามารถรับไปขายต่อได้ในราคาที่ยังมีกำไร 40-50% แต่ทั้งนี้อยู่ที่โวลุ่มการสั่งซื้อด้วย ขณะนี้มีลูกค้า 2-3 รายที่ใช้ บริการอยู่ ”

โดยเธอสรุปว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นล้วนเกิดจาก Pain Point ของลูกค้า เพราะลูกค้าที่เข้ามาร้านกาแฟนานอยากรับประทานอาหารคาว จึงเริ่มจากการลองทำอาหารแค่ 5 เมนูล่าสุดมีถึง70 เมนูที่พร้อมให้บริการแก่ร้านที่มีปัญหาเชฟเข้าออกบ่อย ต่อไปอาจมีเชฟส์ เทเบิล (Chef's Table)เทรนด์การกินที่ต้องตามใจเชฟ