'ไทย' ประกาศ 'โควิด-19' เป็นโรคติดต่ออันตราย

'ไทย' ประกาศ 'โควิด-19' เป็นโรคติดต่ออันตราย

คกก.โรคติดต่อฯมติเอกฉันท์ประกาศ “โควิด-19” เป็นโรคติดต่ออันตราย ช่วยเพิ่มเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่ทำงานป้องกันโรคมากขึ้น นำเข้ายาจำเป็นกรณีฉุกเฉินได้ มีอำนาจกักตัวคนป่วย คุมเข้มคนดื้อไม่ยอมรักษา มุ่งคุ้มครองสังคมโดยรวม สกัด“ซุปเปอร์ สเปรดเดอร์” ในไทย

เมื่อเวลา 16.40 น. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างมากในการช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการประกาศนี้ไม่ได้แปลว่าประเทศเข้าสู่การระบาดระยะที่ 3 แต่อย่างใด เป็นการประกาศเพื่อให้การทำงานของเจ้าหน้าที่จะสามารถชะลอหรือยืดระยะเวลาการเข้าสู่ระยะที่ 3 ไว้ให้ได้นานที่สุด และเกิดประโยชน์อย่างมากสำหรับประเทศไทย โดยจะมีผลหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นำเข้ายาได้กรณีฉุกเฉิน

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อประกาศแล้ว กรณีที่มียาในต่างประเทศที่มีสรรพคุณในการสามารถช่วยการรักษาผู้ป่วยได้ นอกจากยาที่มีอยู่ในประเทศ เพราะผู้ป่วยแต่ละคนอาจจะตอบสนองต่อยาแต่ละชนิดที่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจไม่ตอบสนองกับยาที่มีอยู่ในประเทศ หากมียาอื่นในต่างประเทศแม้จะยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน หรือผ่านการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แต่ตามประกาศนี้จะสามารถนำเข้ามาใช้ในการรักษาผู้ป่วยได้ เพราะถือเป็นกรณียกเว้นเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินหรือสถานการณ์ระบาด รวมถึง กรณีที่เป็นผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัย และเจ้าหน้าที่ลงความเห็นว่าจะต้องเข้ารับการกักกันโรค 14 วัน ผู้ป่วยรายนั้นที่อาจจะลูกจ้างก็สามารถใช้เป็นหลักฐานยื่นกับผู้ว่าจ้างได้ เป็นต้น

“การประกาศนี้เป็นไปตามความเห็นทางวิชาการทางการแพทย์ที่มีเหตุผลรองรับ ในส่วนของประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก ไม่ได้มุ่งที่จะหาคนผิดมาลงโทษ เป็นการป้องกันเหตุ แต่ต้องการให้คนตระหนักมากขึ้น ในการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการป้องกัน ควบคุมโรค เพื่อให้การดำเนินการสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าปัจจุบันที่มีประสิทธิภาพดีอยู่แล้ว เพราะเราต้องการให้ประเทศไทยยืนอยู่ในระยะที่ 2 แบบปัจจุบันให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับมากกว่าสถานการณ์จริงไว้ 1 ระดับเสมอ เพราะเราต้องการนำหน้าสถานการณ์ไม่ใช่มาวิ่งตามสถานการณ์”นายอนุทินกล่าว

ห้ามปฏิเสธรักษา
ผู้สื่อข่าวถามว่าในระดับบุคคลจะต้องไม่มีพฤติกรรมเช่นไรจึงจะถือว่าไม่เป็นการกระทำความผิดหลังมีประกาศนี้แล้ว นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนยิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า เมื่อประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว จะสามารถดำเนินการในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ตามพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 อาทิ มาตรา 34(1) กำหนดให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย รวมถึงผู้ที่เป็นผู้สัมผัสโรคหรือเป็นพาหะ มารับการตรวจหรือรักษา หรือรับการชันสูตรทางการแพทย์ และเพื่อความปลอดภัยอาจดำเนินการโดยการแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกตในสถานที่ที่เจ้าหน้าที่กำหนดจนกว่าจะได้รับการตรวจและการชันสูตรทางการแพทย์ว่าพ้นระยะติดต่อของโรคหรือสิ้นสุดเหตุอันควรสงสัย อย่างไรก็ตาม การประกาศตามกฎหมายนี้ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะเป็นการเอาผิดใคร แต่เป็นการดำเนินการเพื่อคุ้มครองสังคมโดยรวม 


นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การประกาศนี้เป็นเครื่องสำคัญจริงๆในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ในการป้องกัน ควบคุมโรคเป็นการช่วยยืดสถานการณ์ระยะที่ 2ให้ได้นานที่สุด หรือหากเข้าสู่ระยะที่ 3 ก็จะสามารถช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยได้อย่างดี ส่วนการกระทำของประชาชนโดยทั่วไปที่จะถือว่ามีความผิดหลังมีการประกาศ เช่น เจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วเห็นสมควรให้ผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัยต้องอยู่ในสถานที่ใดที่จัดให้ แต่บุคคลนั้นปฏิเสธ หรือกรณีเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เดินทางไปในสถานที่ใด แต่ก็ยังเดินทางไป เป็นต้น


รองศาสตราจารย์(พิเศษ)นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นจริงแล้วคือที่ผ่านมาจากที่มีการคัดกรองคนไข้ ที่เป็นชาวต่างชาติ และเจ้าหน้าที่ลงความเห็นว่าบุคคลนั้นจะต้องเข้ารับการรักษาและเฝ้าระวังในสถานพยาบาลโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่บุคคลดังกล่าวปฏิเสธด้วยข้ออ้างว่าอาการป่วยไม่มาก หรือกรณีชาวต่างชาติมีประวัติไปแวะพักที่ประเทศหนึ่งก่อนเข้ามาไทย เจ้าหน้าที่แนะนำให้เข้ารับการรักษา แต่ก็ปฏิเสธด้วยข้อที่ว่าอาการไม่มากเช่นกัน กรณีเช่นนี้หากไม่มีการประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีอำนาจที่จะไปบังคับหรือกักกันผู้ที่ไม่ยินยอมเข้ารับการรักษาได้ แต่เมี่อประกาศแล้วก็จะมีอำนาจในการสั่งให้เข้ารับการรักษาได้ ซึ่งกรณีคนที่ปฏิเสธการรักษาเช่นนี้ถือว่าอันตรายมาก เสี่ยงที่จะทำให้เกิดซุปเปอร์ สเปรดเดอร์(Super Spreader)




ขณะที่ นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค อธิบายถึงระดับการระบาดของโรคว่า ระยะที่ 1 หมายถึง มีการระบาดเกิดขึ้นในต่างประเทศ และมีผู้ป่วยนำเข้าจากต่างประเทศ ระยะที่ 2 หมายถึง เริ่มมีคนไทยติดเชื้อจากภายในประเทศจากการที่สัมผัสใกล้ชิดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่ไม่ได้ติดต่อเนื่อง เช่น ประเทศไทยมีผู้มีอาชีพขับรถแท็กซี่ติดจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และระยะ 3 หมายถึง คนไทยติดเชื้อจากภายในประเทศ และเริ่มแพร่ให้คนในประเทศด้วยกันเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีการประกาศ โรคติดต่ออันตรายแล้ว 13 โรค ได้แก่ 1.กาฬโรค 2.ไข้ทรพิษ 3.ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก 4.ไข้เวสต์ไนล์ 5.ไข้เหลือง 6.โรคไข้ลาสซา 7.โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ 8.โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก 9. โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา 10.โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา 11.โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือโรคซาร์ส 12.โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส และ 13.วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก หากโรคโควิด-19 ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการฯก็จะเป็นลำดับที่ 14 ทั้งนี้ ตามพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กำหนดโทษผู้ที่ฝ่าฝืน โดยมีโทษตั้งแต่ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หนื่องหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ