สธ.กำชับนร.-นศ.กลับจาก 4 ประเทศต้องหยุดอยู่บ้าน 14 วัน ป้องกันไวรัสโคโรน่า

สธ.กำชับนร.-นศ.กลับจาก 4 ประเทศต้องหยุดอยู่บ้าน 14 วัน ป้องกันไวรัสโคโรน่า

สธ.กำชับกลุ่มนักเรียน-นักศึกษากลับจาก 4 ประเทศเสี่ยง ต้องหยุดเรียนอยู่บ้าน 14 วัน คนไทยทั่วไปต้องเฝ้าระวังตัวเอง 14 วัน งดไปที่ชุมชน-ใช้ขนส่งสาธารณะ-ใช้สิ่งของร่วมผู้อื่น สกัดไวรัสโคโรน่า(โควิด-19) ผู้ป่วยหายดีกลับบ้านได้อีก 1ราย เพิ่มคัดกรอง5เท่า

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 (COVID19)ว่า ผู้ป่วยยืนยันสะสมยังคงที่ 35 ราย แต่แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้อีก 1 รายเป็นนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีน อายุ54ปี รักษาที่สถาบันบำราศนราดูร ทำให้ขณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันรักษาหายกลับบ้านแล้ว 21 ราย คิดเป็น 60 % ของผู้ป่วยในประเทศไทย เหลือนอนในโรงพยาบาล 14 ราย ส่วนใหญ่อาการดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก 2 ราย อาการคงที่ ยังคงใช้เครื่องช่วยหายใจทั้ง 2 ราย

ส่วนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 22 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 1,355 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 1,071 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 284 ราย และยังคงเข้มมาตรการเฝ้าระวัง คัดกรองต่อไป โดยทุกด่านตรวจคัดกรองแล้วกว่า 3 ล้านคน จากที่มีการคัดกรองไปแล้ว 3,046,342 ราย


เฝ้าระวังตัวเอง14วัน
“การเดินทางระหว่างประเทศนั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่มีคำแนะนำห้ามการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด ตลอดจนยังไม่มีการกำหนดเป็นมาตรการที่จำเพาะสำหรับผู้เดินทางระหว่างประเทศ ในส่วนของประเทศไทยในฐานะสมาชิกองค์การอนามัยโลก ได้ดำเนินการตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และได้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังและคัดกรอง ผู้เดินทางระหว่างประเทศ ในทุกช่องทางเข้าออกประเทศ ครอบคลุมทั้งด่านบก เรือ อากาศ ตลอดจนการเฝ้าระวังที่โรงพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน”นายแพทย์สุขุมกล่าว 


นายแพทย์สุขุม กล่าวอีกว่า การป้องกันควบคุมโรคของประเทศไทย จะประสบความสำเร็จไม่ได้หากขาดความร่วมมือจากประชาชน จึงขอให้ประชาชนที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดอย่างต่อเนื่องหรือมีการระบาดภายในประเทศ (local transmission)ในขณะนี้มี 4 ประเทศแต่อาจจะมีการประกาศเพิ่มเติม ได้แก่ จีน (รวม ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน) ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ขอให้ท่านรับผิดชอบสังคม โดยการเฝ้าระวังอาการตนเองอย่างน้อย 14 วัน งดไปที่ชุมชน งดใช้ขนส่งสาธารณะ งดใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น หากมีอาการสงสัยป่วยขอให้สวมหน้ากากอนามัย วัดไข้ทุกวัน หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ แจ้งประวัติการเดินทาง หรือโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 โดยจะได้รับการตรวจฟรี

นร-นศ.ต้องหยุดอยู่บ้าน 14 วัน
นายแพทย์สุขุม กล่าวด้วยว่า สำหรับสถานศึกษาที่มีนักเรียนนักศึกษาที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดขอให้ปฏิบัติตนดังนี้ 1. ขอความร่วมมือให้นักเรียน นักศึกษา บุคลากรที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีรายงานการระบาด พักอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน (self quarantine at home) 2. สถานศึกษาควรจัดให้มีมาตรการคัดกรองนักเรียน นักศึกษา บุคลากรทุกวันโดยวัดไข้และสังเกตอาการ ไอ มีน้ำมูก เพื่อจะแยกตัวไปยังสถานที่เตรียมไว้ได้ทันที 

158244038176
3.นักเรียน นักศึกษา บุคลากรที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีรายงานการระบาด ให้สังเกตอาการป่วยของตนเอง งดออกไปในที่สาธารณะ ที่มีคนอยู่จำนวนมาก งดใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น วัดไข้ทุกวัน ไม่ใช่ของร่วมกับผู้อื่น ไม่ใช้ขนส่งสาธารณะ หากอาการไม่ดีขึ้นให้ใส่หน้ากากอนามัยและรีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง หรือโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 4. สถานศึกษา ควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่หรือครูอนามัยเพื่อประสานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ และ5. สถานศึกษาต้องจัดให้มีอุปกรณ์สำหรับการล้างมือและแอลกอฮอล์เจลอย่างเพียงพอ สำหรับนักเรียน นักศึกษา บุคลากร


“การที่มีคำแนะนำแตกต่างกันระหว่างคนไทยทั่วไปที่ให้เฝ้าระวังอาการตัวเอง 14 วัน กับกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่ให้ยุดเรียนอยู่บ้าน 14 วันนั้น เพราะโอกาสเสี่ยงของนักเรียนนักศึกษาที่ไปทัศนศึกษาร่วมกันมาจากต่างประเทศ ซึ่งมีการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นระยะเวลานานและอยู่ในสถานที่เดียวกัน จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดและแพร่เชื้อได้มากกว่าคนเดินทางทั่วไป อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคหรือไม่ สำคัญที่สุดอยู่ที่วินัยของคนไทยทุกคนด้วย จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องการป้องกันตนเองและลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้ออย่างเคร่งครัด ”นายแพทย์สุขุมกล่าว


ไม่มีอาการอย่าตรวจ
นายแพทย์สุขุม กล่าวด้วยว่า ในส่วนที่มีข้อกังวลเรื่องการติดเชื้อ โดยมีหลายสถานศึกษาที่ให้นักเรียน นักศึกษา และบุคลากร ไปโรงพยาบาลเพื่อขอตรวจหาเชื้อและขอใบรับรองแพทย์ก่อนไปโรงเรียนนั้น กระทรวงสาธารณสุขไม่แนะนำให้ไปขอตรวจและขอใบรับรองแพทย์เนื่องจาก 1. การไปตรวจหาเชื้อในช่วงที่ไม่มีอาการ โอกาสพบเชื้อน้อยมาก หรือหากตรวจแล้วพบว่าเป็นลบก็ไม่ได้ยืนยันว่าจะไม่ป่วยจึงไม่มีความจำเป็นที่จะไปขอตรวจ ในขณะที่ไม่มีอาการ 2. การไปโรงพยาบาลโดยไม่มีความจำเป็น จะเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการได้รับเชื้อจากโรงพยาบาล และที่สำคัญอาจนำเชื้อต่างๆ ไปติดผู้ป่วยในโรงพยาบาลซึ่งมีร่างกายไม่แข็งแรงได้ 3.ควรรีบไปตรวจเมื่อมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข 

ตรวจเพิ่มขึ้น 5 เท่า
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ระบบการเฝ้าระวัง คัดกรองและตรวจจับผู้ป่วยของประเทศไทยมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นและเพิ่มความเร็วขึ้น จากการที่มีการขยายเกณฑ์การเฝ้าระวังมากขึ้นเพื่อให้สามารถตรวจเจอได้เร็วหากมีผู้ป่วย ทำให้จากเดิมที่มีการพบผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรควันละราว 20 ราย ปัจจุบันเพิ่มเป็นอย่างน้อย 100 รายต่อวัน เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า แต่จนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563 ก็ยังไม่เจอผู้ป่วยยืนยันเพิ่มเติม ยังคงอยู่ที่ 35 ราย


พร้อมเพิ่มคัดกรองทุกพื้นที่เสี่ยง
ผู้สื่อข่าวถามถึงการประเมินสถานการณ์ในประเทศอิตาลีที่พบจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นและมาตรการคัดกรองผู้เดินทางเข้ามาประเทศไทย นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า มีการติดตามสถานการณ์ประเทศต่างๆทั่วโลกและไม่ได้เป็นห่วงเฉพาะสถานการณ์ในประเทศอิตาลีเท่านั้น ยังห่วงอิหร่าน สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยเองด้วย แต่การที่จะเริ่มดำเนินการเฝ้าระวัง คัดกรองในประเทศใด จะพิจารณาจากความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะมีผู้เดินทางเข้ามามากน้อยแค่ไหน ซึ่งการดำเนินการไม่สามารถปิดได้ทุกอย่าง บางเรื่องถ้าลงแรงไปกับเรื่องที่มันเล็กน้อยมากๆก็ไม่คุ้ม แทนที่จะไปปิดจุดใหญ่ แต่กลับไปพยายามปิดจุดเล็กๆ ทรัพยากรก็จะถูกใช้ไปหมดกับเรื่องเล็กๆน้อยๆ แทนที่จะสามารถปิดเรื่องใหญ่ได้ ดังนั้น การจะดำเนินการใดจะมีการจัดลำดับความสำคัญเต็มที่ของแต่ละเรื่อง


“สำหรับประเทศที่มีการจับตามองตอนนี้ก็ตรงไปตรงมา คือ อิตาลีและอิหร่านที่เริ่มมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและชัดเจน ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่พบว่าประเทศต่างๆเหล่านี้ เริ่มมีการแพร่ระบาดภายใปนระเทศชัดเจน ต่อเนื่อง และประมาณการว่าประเทศเหล่านี้น่าจะมีผู้ป่วยภายในประเทศค่อนข้างมากแล้ว ก็จะเริ่มคัดกรองและเฝ้าระวังผู้เดินทางจากประเทศนั้น โดยไม่รีรอ อยากให้ความมั่นใจ อยากให้เข้าใจว่าแต่ละครั้งที่มีการเพิ่มประเทศเฝ้าระวังมีการคิดอย่างไร ไม่ได้ละเลย และไม่ได้ดำเนินการแบบหว่านไปหมดสุ่มสี่สุ่มห้า“ นายแพทย์ธนรักษ์กล่าว