เอสเอ็มอีจีน เหยื่อ 'โควิด-19'

เอสเอ็มอีจีน เหยื่อ 'โควิด-19'

กระทรวงพาณิชย์จีนกล่าวว่าการแพร่ระบาดของโรค "โควิด-19" มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวด้านการค้าของจีนในไตรมาสแรกปีนี้

ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ กำลังเล่นงานหัวใจเศรษฐกิจของจีน ซึ่งก็คือธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ล่าสุด ธุรกิจกลุ่มนี้กว่า 85% คาดการณ์ว่า กระแสเงินสดหมุนเวียนในมือจะหมดภายใน3เดือน หากการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้ไม่บรรเทาเบาบางลง เอสเอ็มอีกว่า85%ที่ว่านี้อาจเป็นปัญหาระดับชาติ ที่รัฐบาลปักกิ่งต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ

“แดนนี หลอ” เจ้าของโรงงานผลิตอลูมิเนียม ในเมืองตงกวน เผชิญหน้าผลพวงจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยตรง เมื่อเขากลับมาเปิดโรงงานผลิตอีกครั้งหลังจากปิดโรงงานเพื่อฉลองเทศกาลตรุษจีน แต่ปรากฏว่าแรงงานที่กลับมามีไม่ถึง 1 ใน3 ของแรงงานทั้งหมดที่มีประมาณ200คน

“แรงงานจำนวนมากไม่กลับมาทำงาน และในจำนวนนี้ มีหลายคนบอกว่า ถูกห้ามให้ออกจากบ้านเนื่องจากทางการจีนกำลังเร่งบรรเทาปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่” แดนนี นักธุรกิจชาวฮ่องกง กล่าว

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ธุรกิจอลูมิเนียมของแดนนีได้รับผลกระทบ เมื่อครั้งที่สหรัฐและจีนทำสงครามการค้ากัน ธุรกิจอลูมิเนียมของแดนนีก็บอบช้ำมาแล้วครั้งหนึ่ง ด้วยการเจอมาตรการภาษีศุลกากรในอัตรา 25% พอมาถึงวันนี้ สิ่งที่แดนนี วิตกกังวลคือกลัวว่า ผลผลิตอลูมิเนียมที่ลดลงจะทำให้ลูกค้าชาวอเมริกันมีเหตุผลที่จะระงับคำสั่งซื้อสินค้า และหันไปสั่งซื้ออลูมิเนียมจากผู้ผลิตรายอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน และเมื่อเป็นเช่นนี้ แดนนีจึงบอกว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ทางธุรกิจของเขาอยู่ในภาวะที่ “เลวร้ายที่สุด”

158243666153

ด้าน “หลิว จินถัง” รองอธิบดีสำนักอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศเมืองตงกวน เห็นต่างว่า “การแพร่ระบาดของไวรัสไม่กระทบต่อการพัฒนาโดยรวมในอนาคตของเมืองตงกวน” โดยภาคอุตสาหกรรมของเมืองตงกวนมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 7.4% ต่อปี รวมถึงครองสัดส่วน 13.3% ของมูลค่าเพิ่มของบริษัทอุตสาหกรรม ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของมณฑลกวางตุ้ง 

ขณะที่มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูงและการผลิตไฮเทคคิดเป็นสัดส่วน 54.2% และ 42.2% ตามลำดับ ซึ่งหลิว กล่าวว่า “ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจเมืองตงกวนสามารถต้านทานความเสี่ยงและฟื้นตัวได้ดี” พร้อมกับคาดการณ์ว่า การระบาดของไวรัสจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในระดับหนึ่งในช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะในไตรมาสแรก แต่ในระยะยาว รากฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและการพัฒนาอย่างมีคุณภาพสูงจะไม่สั่นคลอน

“หลี่ ซิงเฉียน” ผู้อำนวยการสำนักงานการค้าต่างประเทศในสังกัดกระทรวงพาณิชย์จีน  กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวด้านการค้าของจีนในไตรมาสแรกปีนี้ แต่เชื่อว่าผลกระทบดังกล่าวนั้นสามารถจัดการได้ โดยการขยายตัวด้านการค้าในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้อาจชะลอตัวลง เนื่องจากการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์หยุดชะงัก และกิจกรรมทางธุรกิจได้ถูกเลื่อนออกไป

ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ของจีนได้ออกนโยบายต่างๆ เพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจด้านการค้าให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจและจัดส่งสินค้าตามคำสั่งได้อีกครั้ง และคาดว่าจะมีนโยบายช่วยเหลือตามมาอีก

158243667889

หลี่ กล่าวว่า อุตสาหกรรมการค้ากำลังอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว โดยบริษัทการค้าทั่วประเทศได้ทยอยกลับมาเริ่มดำเนินธุรกิจอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทในพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกกที่มีรายงานความคืบหน้ารวดเร็วกว่าบริษัทในพื้นที่ตอนกลางและฝั่งตะวันตก

“จากการติดตามข้อมูลของเราพบว่า ขณะนี้ยังไม่มีการปลดพนักงานครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมการค้า” หลี่ กล่าว และเสริมว่า  จีนกำลังอยู่ในระหว่างเตรียมจัดงานแสดงสินค้านำเข้าและส่งออกของจีนหรือแคนตันแฟร์ครั้งที่ 127 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนเม.ย. โดยงานแคนตันแฟร์จะจัดขึ้นที่เมืองกว่างโจวในฤดูใบไม้ผลิและใบไม้ร่วงของทุกปี ซึ่งงานนี้เป็นดัชนีชี้วัดการค้าต่างประเทศของจีน

158243669640

“หู เฉิงกวง” เจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคมของจีนกล่าวว่า บริการขนส่งสาธารณะ รวมถึงการขนส่งผู้โดยสารทางถนน รถประจำทาง ระบบราง และแท็กซี่ จะกลับมาให้บริการเต็มรูปแบบอีกครั้งในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงของการแพร่ระบาดต่ำ โดยขณะนี้มีประมาณ 30 มณฑลที่เริ่มให้บริการขนส่งผู้โดยสารบนเส้นทางถนนระหว่างมณฑล

ขณะที่ผลสำรวจความเห็นเอสเอ็มอี จำนวน 1,506  แห่งในช่วงต้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยชิงหัวและปักกิ่งร่วมกันจัดทำ บ่งชี้ว่า เอสเอ็มอี 85% คาดว่าเงินสดหมุนเวียนที่ถือครองอยู่จะหมดไปภายใน 3เดือน และ1ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19จะทำให้รายได้ตลอดทั้งปีของบริษัทลดลงกว่า50% 

“เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ในจีนพึ่งพารายได้จากการดำเนินงานและพวกเขามีสายป่านทางธุรกิจไม่ยาวนักแตกต่างจากบริษัทรายใหญ่ๆและรัฐวิสาหกิจของจีน ”จู อู๋เสียง ศาสตราจารย์คณะบริหารจัดการและเศรษฐกิจจากมหาวิทยาลัยชิงหัว ให้ความเห็น