นวัตกรรมเกษตรครบวงจร ไดเร็คชั่น 100 ปี ‘เจียไต๋’

นวัตกรรมเกษตรครบวงจร ไดเร็คชั่น 100 ปี ‘เจียไต๋’

ในปีหน้า “เจียไต๋” จะเป็นองค์กรอายุร้อยปี แต่สิ่งที่ต้องการก็คือ ภาพขององค์กร “เก่า” ที่ไม่ “แก่” โดยมีเป้าหมายปรับตัวไปสู่ “เซอร์วิส โพรวายเดอร์ โซลูชั่น”

โดยจะนำเสนอนวัตกรรมการเกษตรแบบครบวงจร ให้บริการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เริ่มจากปัจจัยผลิตที่มีคุณภาพไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ แปลงผัก ไปจนถึงการส่งมอบผลผลิตที่สดใหม่มีความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค


"การทำให้เมล็ดผักของเราเดินไปสู่ความครบวงจร คือสิ่งที่อยากจะทิ้งเอาไว้เพื่อให้เป็นตำนานสำหรับการทำงานของตัวผมเองและของเจียไต๋ด้วย เป็นชาเลนจ์ว่าเมื่อครบร้อยปี บริษัทเราจะต้องมีทิศทางที่ชัดเจนยอมรับในวันนี้ก็ยังไม่ชัดเจน มีแต่ความฝัน"


“มนัส เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจียไต๋ จำกัด กล่าวว่า ในภาพรวมกระแสดิจิทัล ดิสรัปชั่นถือเป็นโจทย์ใหญ่ของทุกอุตสาหกรรม แต่สำหรับวงการเกษตรของไทยนั้น มนัสมองว่าอาจยังอยู่ระดับ 2.0 เจียไต๋จึงต้องการพัฒนาเกษตรกรไปสู่ระดับ 4.0 มีการนำเอาดิจิทัลเข้ามาใช้


"ต้องบอกว่าเกษตรบ้านเราไม่เท่ากัน ข้าวก็อีกแบบ พืชไร่ข้าวโพด อ้อยก็ไปอีกแบบ ผักก็อีกแบบ องค์กรภาครัฐ และเอกชนเองก็ให้ความสนใจต่างกันไป ข้าวในวันนี้พัฒนาไปเยอะมากมีการทำนาบนมือถือแล้ว อ้อยและข้าวโพดก็พัฒนาไปได้ไกลมากเหมือนกัน ตรงกันข้ามที่ผักยังไม่ค่อยมีการพัฒนา ผมเองอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มา 42 ปีแล้วในหัวใจก็คือผัก ทว่าผักกลับมีการพัฒนาน้อยมาก เราได้ยินคำว่าสมาร์ท ฟาร์มเมอร์แต่ยังอยู่ในวงที่ยังเล็กมาก ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากจะทำในวันนี้มากที่สุกก็คือยกระดับการปลูกผักในประเทศไทยอย่างครบวงจร"


ด้วยการรวมกลุ่มเกษตรกรให้เข้ามาเป็นสมาชิกของเจียไต๋ มนัสบอกว่า ทุกวันนี้เกษตรกรไทยเปรียบก็เหมือน “ไม้จิ้มฟัน” ที่หักได้ง่ายดายไม่แข็งแรง จึงมีแนวคิดว่าควรนำมา “มัดรวม” กันเพื่อให้มีความเข้มแข็งขึ้น หักได้ยากขึ้น และทางเจียไต๋ก็จะให้บริการแบบครบวงจร นำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรมต่าง ๆช่วยพัฒนาจากต้นถึงปลายน้ำ เพื่อทำให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น คุณภาพที่ดีขึ้น มีการสูญเสียลดลง และมีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ถือเป็นการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร


"ความฝันของผมก็คือ เกษตรกรจะมีองค์กรที่เข้ามาช่วยเตรียมทุกอย่างให้เขา ตั้งแต่เตรียมแปลง ขึ้นร่อง เตรียมกล้าให้ ลงกล้าให้ หน้าที่เขาก็คือดูแลตามหลักการ และผลิตผลทั้งหมดก็มีคนมารับไป เขาสามารถขายได้ทั้งหมด ซึ่งเรื่องแพ็คกิ้งเฮ้าส์ในการคัดแยก บรรจุ ส่งสู่ตลาดก็มีความสำคัญ เราอยากเห็นผลผลิตที่สวยงามบรรจุในกล่องส่งมอบให้ผู้บริโภค ไม่ใช่ผักที่โยนขึ้นรถแล้วก็ขึ้นไปเหยียบจนผักช้ำ ดำ สกปรก ทุกวันนี้บ้านเรายังไม่ได้มีการทรีตพืชผลว่าเป็นอาหาร ถ้าใครเคยไปญี่ปุ่นจะเห็นการทรีตพืชผลว่ามีค่ามากสำหรับเขา เราต้องทำให้สินค้าของเรามีค่า ต้องทำให้ดีทั้งต้นทางและปลายทาง"


ซึ่งเขาเองก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ดีแค่ไหน เพราะสิ่งที่ยากและท้าทายมากๆ ก็คือการไปเปลี่ยนเกษตรกร ไปเปลี่ยนลูกค้า และผู้บริโภค


"เรารู้ว่าเราอยากทำอะไร ตอนนี้เรากำลังหาวิธีการที่จะทำและสิ่งที่เราอยากจะทำไม่ใช่จะทำได้เลย ก็ต้องโน้มน้าวคน แน่นอนคนที่เคยทำมาแบบเดิม ๆเขาก็ไม่อยากเปลี่ยน เกษตรกรเขาก็ไม่อยากเปลี่ยน ลูกค้าก็ไม่อยากเปลี่ยน เราก็ต้องค่อยๆซึมเข้าไปก่อน ต้องใช้เวลา แต่ละก้าวมันยากลำบากมาก เพราะการพัฒนามันต้องไปเป็นขบวน ใครไปคนเดียวไม่ได้ เราเองอยากไปเร็ว แต่บางทีมันก็ไม่เร็วอย่างที่คิด"


สำคัญที่สุดภายในองค์กรของตนเองต้องดีเสียก่อน ต้องมีระบบที่ดี มีการเตรียมตัว ปรับปรุง เวลานี้เจียไต๋ผุดโครงการทรานส์ฟอร์มเมชั่นมากถึง 9 โปรเจ็ค ทำทั้งเรื่องการเงิน การตลาด การขาย ด้าน HR ฯลฯ เพื่อก้าวสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน และได้มอบหมายให้พนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่วัยหนุ่มสาวช่วยกันเวิร์คสร้างให้เกิดผลสำเร็จ


"มีคนถามว่าเราจะลงทุนเท่าไหร่ มีกำไรเท่าไหร่ ตอบเลยว่าไม่รู้ ยังไม่รู้จริงๆ ว่าทำแล้วจะกำไรหรือเปล่า แต่ที่รู้ก็คือมันต้องทำ ต้องมีใครทำ แม้โลกในยุคนี้จะพูดถึงเรื่องสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง เรื่องของดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มเมชั่น หรือดิจิทัล ดิสรัปชั่น แต่ผมว่าเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับคนทุกคน หนีไม่พ้นเรื่องปากท้อง เราต้องมั่นใจว่าสิ่งที่เราจะบริโภคดี มีคุณภาพดี มีวิตตมิน แต่ถ้ามันไม่เซฟตี้ผมว่าก็ไม่ได้"


เขาบอกว่าธุรกิจเมล็ดพันธ์อาจไม่ได้เป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ แต่มันต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก ในสมัยก่อนธุรกิจเมล็ดพันธ์ก็มุ่งขายสินค้าของให้กับเกษตรกรและคู่ค้าเป็นหลัก แต่ในวันนี้เขาบอกว่าสิ่งที่ได้เน้นย้ำทีมงานก็คือ ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า เมล็ดพันธุ์ไม่ได้ขายให้เกษตรกรแต่เป็นผู้บริโภค และต้องให้ข้อมูลทุกอย่าง สร้างภาพธุรกิจให้มีความทันสมัย มีทางเลือกที่มากขึ้น


จากนี้เจียไต๋จะมีการสื่อสารมากขึ้นจากเมื่อก่อนที่ไม่ค่อยสื่อสารอะไรมากนัก เพราะในยุคที่ว่าด้วยข้อมูล คนต้องการบริโภคข้อมูลและอยากรู้ความจริง ซึ่งการไม่พูด ไม่สื่อสารหลายครั้งก็เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เกิดความเข้าใจที่ผิดๆ ยกตัวอย่างเช่น กระแสที่พูดว่าเจียไต๋ทำเมล็ดพันธุ์ “หมัน” ไม่สามารถนำไปปลูกได้อีก ซึ่งมนัสยืนยันว่าไม่เป็นจริง เพียงแค่ที่ผ่านมาไม่ได้มีการออกมาพูด


“จริง ๆแล้วเมล็ดพันธุ์ของเราจะเอาปลูกต่อเมื่อไหร่ก็ได้ เราตัดสินใจว่าเราต้องออกมาพูดเอง ต้องพูดในสิ่งที่มันถูกต้อง ให้คนเข้าใจถูกต้อง ผมเองก็ต้องปรับมายด์เซ็ท จากคนไม่ค่อยพูดมาพูดให้มากขึ้น”


นอกจากนี้เขายังมองว่า คนยุคปัจจุบันมีโอกาสได้เดินทางรอบโลก และได้เคยพบเห็น ลิ้มลองของแปลก ๆ ใหม่ๆ ซึ่งมีความจำเป็นต้องให้พวกเขาเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง และต้องรู้ว่าพวกเขาต้องการอะไร


"ผักที่มีคุณภาพ สดใหม่ มีความปลอดภัยต้องการทุกคนมาช่วยกันขับเคลื่อน ถามว่าในวันนี้ทุกคนมีแบรนด์หรือบริษัทในใจหรือไม่ว่าถ้าไปซื้อแล้วมั่นใจได้เลย ผมเองก็ถามตัวเองเหมือนกัน คำตอบก็คือไม่มี แล้วเราจะทำอย่างไร ซึ่งผลลัพธ์ต้องไม่มุ่งที่เรา แต่ต้องเป็นทุกคนที่ต้องได้ประโยชน์ ตัวเกษตรกรที่มาร่วมเขาต้องได้อะไร"


หมายเหตุเป็นบทสัมภาษณ์ภายในงาน “Chia tai International Field Day 2020” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ที่สถานีวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชของบริษัท ณ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ งานนี้มีวัตถุประสงค์ต้องการแสดงศักยภาพในเรื่องเมล็ดพันธุ์คุณภาพ โดยภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการ โชว์งานวิจัยและพัฒนาสายพันธ์ สำหรับสายพันธ์ที่นำมาจัดแสดงครั้งนี้มี 25 ชนิดพืช และ 410 สายพันธ์ ครอบคลุมตลาดในภูมิภาคเอเชียและเซาท์อีสต์เอเชีย