“วชิรบารมี” อำเภอต้นแบบตามสโลแกน “ทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น”

“วชิรบารมี” อำเภอต้นแบบตามสโลแกน “ทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น”

อำเภอต้นแบบที่นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ให้เกิดประโยชน์สุขกับคนในพื้นที่

หากพูดถึงเรื่องความเป็นอยู่ของชุมชน ถือได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญที่หลายๆคนจะต้องช่วยกันพัฒนาและแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน ซึ่งในปัจจุบันหลายพื้นที่ยังคงประสบปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้ง ปัญหาความขัดแย้ง ปัญหายาเสพติด ฯลฯ การที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวเหล่านี้ให้หมดไป ประการแรก ต้องเริ่มต้นจากคนในชุมชนก่อน โดยการสร้างความสามัคคีเพื่อให้เกิดเป็นชุมชนเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ช่วยเหลือกัน และนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชุมชน ประการต่อมา หน่วยงานของภาครัฐต้องเข้าไปให้การสนับสนุนให้ความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อผลักดันให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

“อำเภอวชิรบารมี” จังหวัดพิจิตร เป็นอีกหนึ่งอำเภอต้นแบบที่การันตีด้วยรางวัลอำเภอดีเด่นระดับประเทศ โดยชื่ออำเภอที่ได้รับพระราชทานจากพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และยังเป็น 1 ใน 12 อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ที่กรมการปกครอง ได้ดำเนินจัดกิจกรรม 10 โครงการนำร่องต้นแบบ “10 Flagships for DOPA Excellence 2020”  โดย ธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง มอบนโยบายในการทำงานโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ภายใต้สโลแกน “ทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น”

โดย 10 โครงการนำร่องต้นแบบ ได้แก่ 1.​โครงการจิตอาสาพระราชทาน 2.​ การขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 3.​ การปกป้องเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ  4.​ งานสัญชาติและสถานะบุคคล 5.​ การเสริมสร้างหมู่บ้านเข้มแข็ง (แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง) 6.​ อำเภอคุณธรรม 7.​ อำเภอมั่นคง (เสริมสร้างความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงภายในทุกมิติ) 8.​ อำเภอสีขาวปลอดยาเสพติด 9.​ อำเภอสะดวก (ยกระดับการบริการประชาชน) 10. อำเภอดำรงธรรม (ยกระดับศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ)

158234092668

คนในชุมชนอำเภอวชิรบารมี ได้มีการน้อมนําศาสตร์พระราชาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สุขกับประชาชนในพื้นที่ โดยมีหมู่บ้านชุมชนต้นแบบ ได้แก่ หมู่บ้านทับเกวียนทอง เป็นหมู่บ้านเทิดพระเกียรติ โดยมีผู้นำหมู่บ้าน เป็นแกนนำในการผลักดันให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ และมีคณะกรรมการหมู่บ้านที่สามัคคีและเข้มแข็ง

เมื่อย้อนกลับไปในอดีตของหมู่บ้านทับเกวียนทอง ชาวบ้านหลายคนขาดทุนจากการทำเกษตร แต่จากการน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ชาวบ้านก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ในปัจจุบัน แต่หมู่บ้านทับเกวียนทองก็ไม่เคยรับความเดือดร้อนจากปัญหานี้เลย เพราะมีธนาคารน้ำใต้ดิน ที่ทำหน้าที่เก็บกักน้ำไว้ใต้ดินในช่วงฤดูที่น้ำฝนมีปัญหาน้ำล้นน้ำท่วม และสามารถนำน้ำมาใช้ในฤดูแล้งได้ 

158234092633

“หมู่บ้านที่ไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน เขาไม่เคยเดือดร้อนออกมาโวยวาย ส่วนใหญ่ที่มีปัญหาเดือดร้อน คือ บริเวณที่มีแม่น้ำ เวลาถึงฤดูแล้งแม่น้ำแห้ง ซึ่งเกิดจาก 1 ฤดูแล้งฝนก็ไม่ตก 2 การบริหารจัดการน้ำ แต่ของเราไม่มีแม่น้ำ เราหาวิธีเก็บน้ำลงใต้ดิน เวลาต้องการใช้ ใช้วิธีเจาะบ่อบาดาล ต้นทุนเราแพงกว่า แต่เราไม่มีความเดือดร้อน เราสามารถดูแลหมู่บ้านของเราได้” สุภัทร  จันทวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านทับเกวียนทอง ได้เผยถึงประโยชน์จากโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน

นอกจากโครงการธนาคารน้ำใต้ดินแล้ว ยังมีหลายโครงการที่หมู่บ้านทับเกวียนทองได้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เช่น  โครงการอนุรักษ์โคและกระบือ คือการรวบรวมโคและกระบือ โดยมีบัญชีควบคุม ดูแล รักษา แจกจ่ายให้ยืม เพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตรและเพิ่มปริมาณโคและกระบือ นอกจากนี้มูลของโค-กระบือ ชาวบ้านยังได้นำไปตากแห้ง นำมาทำเป็นปุ๋ยและขายเสริมรายได้ให้กับชาวบ้าน อีกทั้งยังสามารถเอามูลสดไปทำแก๊สชีวภาพใช้ในครัวเรือน เป็่นการลดค่าใช้จ่ายจากการซื้้อแก๊สหุงต้มตามท้องตลาดที่มีราคาแพงไปได้อีกด้วย

จะเห็นได้ว่าหมู่บ้านทับเกวียนทอง ได้มีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับจุดแข็งและจุดอ่อนของหมู่บ้าน ทั้งนี้การจะทำให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็งได้ ชาวบ้านในหมู่บ้านจะต้องมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อความมั่นคงและยั่งยืน

158234092461

ในอำเภอวชิรบารมี แม้จะอยู่ห่างจากแม่น้ำใหญ่แต่ก็มี คลองวังพยอม บ้านคุยกระชาย ตำบลวังโมกข์ ซึ่งเป็นคลองที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันกว่า 1,500 ครัวเรือน ปัจจุบันมีการแพร่ขยายของผักตบชวาจำนวนมาก จึงได้มีการทำกิจกรรมจิตอาสา เพื่อเป็นการเตรียมแหล่งน้ำช่วยเหลือบรรเทาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง และพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อไว้สำหรับกักเก็บในช่วงฤดูฝน  ตลอดจนมีการระบายน้ำที่ดี และยังเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสืบสาน รักษาต่อยอด ตามโครงการจิตอาสาพระราชทานอีกด้วย

นอกจากนั้น ในเรื่องคุณธรรมของอำเภอวชิรบารมี หมู่บ้านดงกลาง ก็เป็นอีกหนึ่งในหมู่บ้านตามหลัก อำเภอคุณธรรม เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวรูปแบบวิถีชุมชน โดยพื้นที่ของชุมชนมีศักยภาพเหมาะสมทั้งในด้านทรัพยากร มีคลองข้าวตอกเป็นคลองธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และผู้คนที่อยู่อาศัยมีความสามัคคีกันภายในชุมชน ทำให้สามารถที่จะขับเคลื่อนในด้านการท่องเที่ยวระดับท้องถิ่น ให้ก้าวขึ้นไปสู่การท่องเที่ยวระดับจังหวัดได้

158234092490

นอกจากนี้ชุมชนยังมีกิจกรรมที่ส่งเสริมคุณธรรมอีกอย่างหนึ่งคือ การตักบาตรทางน้ำ ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวพุทธปฏิบัติกันมานาน ถือกันว่าเป็นการสร้างบุญกุศล และรำลึกถึงบรรยากาศในอดีตที่มีอยู่ในชุมชน และยังเป็นกิจกรรมเพื่อประโยชน์ในการรักษาน้ำอีกด้วย 

ทั้งหมดที่เรานำเสนอนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอต้นแบบที่ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้และได้ผลลัพธ์คือทำให้ประชาชนหรือคนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และยังเป็น1 ใน 12 อำเภอตามภารกิจกรมการปกครอง 10 โครงการนำร่องต้นแบบในปี 2563 หรือ 10 Flagships for DOPA Excellence 2020 ที่มุ่งสร้างอำเภอในฝันให้แก่ประชาชน ภายใต้นโยบายของอธิบดีที่ว่า “หน้าที่ของฝ่ายปกครองคือทำให้ประชาชนทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น”