'ทัวร์เอาท์บาวด์' ดิ้นสู้โควิด-19 เบรกขายทัวร์ใหม่ลดเสี่ยง

'ทัวร์เอาท์บาวด์' ดิ้นสู้โควิด-19 เบรกขายทัวร์ใหม่ลดเสี่ยง

“ทีทีเอเอ” เผยธุรกิจทัวร์เอาท์บาวด์เครื่องรวน เจอภาวะ Dead Lock หลังพบยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ใน “ญี่ปุ่น-เกาหลี” มากขึ้น ฉุดความมั่นใจเดินทางของนักท่องเที่ยวไทย ผู้ประกอบการเบรกขายทัวร์ใหม่ลดความเสี่ยง คาดซึมยาวถึงพีคซีซั่นหยุดยาวสงกรานต์

นายเจริญ วังอนานนท์ อุปนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) ซึ่งเป็นสมาคมที่เกี่ยวข้องกับบริษัทนำเที่ยวตลาดพาคนไทยไปต่างประเทศหรือทัวร์เอาท์บาวด์ เปิดเผยว่า หลังจากมีรายงานยอดผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีซึ่งเป็นจุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยวไทย ส่งผลให้ลูกค้าที่ซื้อแพ็คเกจทัวร์ไปพื้นที่เสี่ยง ติดต่อมายังบริษัททัวร์เพื่อขอยกเลิกการซื้อ บางส่วนยื้อไหว ลูกค้ายังตัดสินใจออกเดินทาง แต่บางส่วนก็ยื้อไม่ไหว โดยเฉพาะลูกค้าตลาดองค์กร เช่น บริษัทและโรงเรียนต่างๆ ซึ่งมีกำหนดออกเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงในช่วงนี้ เพราะไม่ต้องการให้บุคลากรต้องเผชิญกับความเสี่ยง

“สถานการณ์ตอนนี้มีแต่ทรงกับทรุด อาการไม่ดีขึ้นเลย เอเย่นต์ทัวร์ก็ไม่มีทางไป สายการบินก็ไม่มีทางไป นักท่องเที่ยวก็ไม่มีทางเลือก เหมือนเจอDead Lockหรือสภาวะติดตาย โดนบล็อกจากทุกทาง”

ขณะเดียวกันบริษัททัวร์ก็ไม่สามารถขายแพ็คเกจทัวร์ใหม่ๆ ไปยังพื้นที่เสี่ยงเพิ่ม ต้องชะลอไว้ก่อน เพื่อลดความเสี่ยงจากการทำธุรกิจ และดำเนินการขายเฉพาะแพ็คเกจทัวร์ไปประเทศที่มองว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เท่านั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ทีทีเอเอได้ประชุมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และผู้ประกอบการสายการบิน 3 ราย ได้แก่ ไทยไลอ้อนแอร์ ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ และนกสกู๊ต เพื่อหาทางออกของปัญหานี้ร่วมกันให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด หลังนักท่องเที่ยวไทยขอยกเลิกทัวร์ไปพื้นที่เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง

โดยทีทีเอเอได้เสนอขอให้ทั้ง3สายการบินพิจารณาปรับเงื่อนไขต่างๆ เช่น การกำหนดระยะเวลาเลื่อนตั๋วเครื่องบินให้นานขึ้นเป็นอย่างน้อย 1 ปี เพราะลูกค้าทัวร์หลายรายต้องการไปเที่ยวญี่ปุ่นและเกาหลีช่วงฤดูหนาวที่มีหิมะตก ไม่ได้ต้องการเลื่อนตั๋วเพื่อไปเที่ยวช่วงฤดูร้อนกลางปี นอกจากนี้ยังขอให้มีการเก็บเครดิตยอดเงินเอาไว้ ไม่อยากให้สายการบินยึดค่ามัดจำไป โดยสามารถเก็บไว้ใช้สำหรับเส้นทางบินอื่นๆ ในอนาคต เป็นต้น โดยทางสายการบินจะกลับไปทบทวนเงื่อนไขเพิ่มเติม และนำมาประชุมร่วมกันอีกครั้งในสัปดาห์นี้

นายเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงสร้างตลาดคนไทยเที่ยวญี่ปุ่น ปัจจุบันมีสัดส่วนเดินทางเป็นกรุ๊ปทัวร์ 30% ส่วนอีก 70% เป็นกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง โดยปี 2562 มีคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นกว่า 1.2 ล้านคน และจากคาดการณ์เดิมขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (เจเอ็นทีโอ) ก่อนจะเกิดการแพร่ระบาด ระบุว่าคนไทยมีแนวโน้มเที่ยวญี่ปุ่นในปี 2563 มากถึง 1.4-1.5 ล้านคน ได้ปัจจัยหนุนจากการเพิ่มเส้นทางบินใหม่ๆ เช่น กรุงเทพฯ-เซนได ของการบินไทย และกระแสโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียวกลางปีนี้

ส่วนเกาหลีซึ่งมีคนไทยไปเที่ยวไม่ต่ำกว่า 5 แสนคนต่อปี ล่าสุดสายการบินต่างๆ ที่ให้บริการเส้นทางบินจากไทยไปเกาหลี อาทิ การบินไทย, ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์, เอเชียน่า แอร์ไลน์, โคเรียนแอร์, เจจูแอร์ และอีสตาร์ เจ็ท ได้ทยอยประกาศยกเลิกเที่ยวบินบางส่วนไปพอสมควร รวมถึงไต้หวันซึ่งมีคนไทยไปเที่ยวกว่า 3 แสนคนต่อปีก็น่าจะได้รับผลกระทบเช่นกัน ส่วนเส้นทางไปยุโรป แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีคนไทยยกเลิกทัวร์ไปยุโรป แต่ก็กังวลเช่นกันว่าอาจเกิดผลข้างเคียงหรือไซด์เอฟเฟ็กต์ว่าคนยุโรปจะแอนตี้คนเอเชียที่เดินทางไปท่องเที่ยวหรือไม่ หลังบางประเทศได้ออกมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น

ด้านกระแสการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศของคนไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งถือเป็นพีคซีซั่น คาดว่าจะชะลอเหมือนกัน เนื่องจากยังอยู่ในช่วงที่สายการบินที่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดเที่ยวบินให้สอดคล้องกับดีมานด์ที่ลดลง กว่าจะตั้งหลักได้ ก็ใช้เวลาอย่างน้อย3เดือนนับจากนี้

“ยอมรับว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้บริษัททัวร์เอาท์บาวด์เตรียมแผนสำรองของธุรกิจยากมาก เพราะทายไม่ถูกว่าจะจบลงเมื่อไร สิ่งที่ทำได้อย่างเดียวคือการตั้งรับ พยายามคลี่คลายปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้ และเมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง ทีทีเอเอจะประเมินผลกระทบของตลาดคนไทยเที่ยวต่างประเทศอีกครั้ง จากเคยคาดการณ์ว่าตลอดปีนี้จะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 11 ล้านคน” อุปนายกทีทีเอเอกล่าว