'ดิจิทัลประเทศไทย' พร้อมแบบไหน

'ดิจิทัลประเทศไทย' พร้อมแบบไหน

ไทยเปิดรับเทคโนโลยีอย่างท่วมท้น แต่คนไทยใช้ไปในทิศทางที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สักเท่าไหร่ โดยคำค้นหาที่มีสถิติสูงมักเกี่ยวกับการพนันและบันเทิง หากไทยหาแนวทางนำเทคโนโลยีมาใช้ในทางสร้างสรรค์ น่าจะช่วยดึงประเทศให้ดีขึ้นจากปัจจัยรุมเร้าต่างๆ

ปัจจุบันโลกไม่ได้เผชิญแค่เฉพาะปัจจัยเสี่ยงที่อุบัติขึ้นใหม่อย่างการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือสงครามการค้าที่ยังไม่จบดีล หากแค่ปัจจัยเหล่านี้ก็ทำให้เศรษฐกิจโลกทรุดลงอย่างรวดเร็ว ประเทศไหนที่ไม่แข็งแรง ไม่มีมาตรการรับมือที่ดีพอ ก็ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ “สุ่มเสี่ยง” พร้อมล้มได้ทุกเวลา แต่วันนี้เรายังต้องเผชิญอีกความท้าทายที่ซัดกระหน่ำของ “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” ที่ยังแรงต่อเนื่อง แน่นอนว่า โลกยุคต่อไปเป็นยุคที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี และนวัตกรรมในการขับเคลื่อน มีคำถามมากมายว่า ประเทศไทยพร้อมหรือยังกับการรับมือกับโลกยุคดิจิทัล พร้อมหรือยังที่จะ “ทรานส์ฟอร์ม” รับโลกยุคใหม่

ล่าสุด We are social เอเจนซีทางด้านโซเชียลมีเดีย สรุปสถิติการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั่วโลก รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งอัตราการใช้อินเทอร์เน็ต การใช้มือถือ การใช้สื่อสังคมออนไลน์ การใช้แอพพลิเคชันต่างๆ ออกรายงานมาล่าสุด ทำให้เราเห็นบางมุมของประเทศไทย ที่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลไม่เป็นรองใครในโลก

ไทยมีประชากรมากกว่า 60 ล้านคน คิดเป็น 75% ของคนไทยที่ ‘ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ในปัจจุบัน’ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ 59% และมีการใช้โทรศัพท์มือถือสูงถึง 134% กล่าวคือ มีจำนวนเบอร์มากกว่าจำนวนประชาชน การใช้อินเทอร์เน็ตต่อวัน ไทยมีอัตราที่ค่อนข้างสูง คือ ใช้เวลาเฉลี่ยจากการใช้ผ่านทุกอุปกรณ์สูงถึง 9 ชั่วโมง 1 นาทีต่อวัน สูงมากเมื่อเทียบอัตราเฉลี่ยทั่วโลกที่ 6 ชั่วโมง 43 นาทีต่อวัน สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก

เมื่อดูการใช้อินเทอร์เน็ตของไทย พบว่า เราใช้เวลาเฉลี่ยถึง 2 ชั่วโมง 55 นาทีต่อวันกับการเล่นโซเชียลมีเดีย และ 99% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เข้าชมวิดีโอออนไลน์ทุกเดือน เว็บไซต์ที่นิยมเข้าสูงสุด คือ กูเกิล เฟซบุ๊ค และยูทูบ แต่คำค้นหาที่มักมีสถิติที่สูงมากในบ้านเรา คือ “ตรวจหวย” หรือเกี่ยวกับการพนัน บันเทิง เป็นส่วนใหญ่ สื่อโซเชียลมีเดียที่คนไทยใช้มากสุด คือ เฟซบุ๊ค อัตราการใช้ 95% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด ตามด้วยยูทูบ 94% ไลน์ 85% อินสตาแกรม 65% และทวิตเตอร์ที่ 55%

เมื่อดูในฝั่งอีคอมเมิร์ซ พบว่า 90% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยเคยค้นหาสินค้าและบริการทางออนไลน์ เคยซื้อสูงถึง 82% หรือประมาณ 34.8 ล้านคน โดย 69% ซื้อผ่านมือถือ คาดว่า มูลค่าสินค้าที่ซื้อออนไลน์สูงถึง 4.31 พันล้านดอลลาร์ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ชำระเงินผ่านบัตรเครดิต 32% ตามด้วยอี-วอลเล็ต 25% ชำระเงินสดเพียง 12% และพบว่า ใช้บริการยานพาหนะผ่านทางแอพพลิเคชั่น หรือ ride-hailing ปีที่ผ่านมาโตถึง 33% มีผู้ใช้บริการถึง 4.7 ล้านคน และมีมูลค่าตลาดสูง 682 ล้านดอลลาร์ 

ข้อมูลเหล่านี้ สะท้อนว่า ประเทศไทยเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัลกันอย่างท่วมท้น แต่หากลงลึกดูข้อมูลแล้ว จะเห็นว่าคนไทยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลไปในทิศทางที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์มากสักเท่าไหร่ ยังเป็นเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก เราไม่เคยมีสถิติคำค้นหาบนอินเทอร์เน็ตว่า คนไทยนิยมค้นหาเรื่องราวที่สะท้อนถึงการปรับตัว องค์ความรู้ การวิเคราะห์วิจัย หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ

เราอาจต้องหาแนวทางให้คนไทยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลไปในแนวทางที่สร้างสรรค์ สร้างศักยภาพให้ตัวเอง สร้างศักยภาพการแข่งขันประเทศ ที่จะเป็นมูลค่าเพิ่มช่วย “ดึง” ให้ประเทศดีขึ้นท่ามกลางปัจจัยลบรอบตัวที่ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด