ธุรกิจสิ่งทอหนีตาย ต่อยอดผลิตป้อนอุตฯการแพทย์

ธุรกิจสิ่งทอหนีตาย  ต่อยอดผลิตป้อนอุตฯการแพทย์

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อยู่ในภาวะซบเซามานาน เพราะการแข่งขันในธุรกิจที่เปลี่ยนไป จากที่ไทยเคยได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่า จึงต้องปรับตัวไปสู่สิ่งทอที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น

ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า สถาบันฯได้เร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย ไปสู่สิ่งทอที่เน้นนวัตกรรม และมีคุณสมบัติพิเศษ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน โดยการปรับให้ตอบสนองและต่อยอดอุตสาหกรรม s-curve ที่เป็นเป้าหมายของรัฐบาล เช่น สิ่งทอทางการแพทย์ ที่มีแนวโน้มขยายตัวสูง โดยมีสินค้าที่โดเด่น คือ ชุดชั้นในเพื่อสุขภาพ ซึ่งในสินค้าชุดชั้นในสตรีเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เนื่องจากเป็นสินค้ามีชุดส่วนต้องตัดเย็บเยอะใช้ความประณีตสูง ทำให้ยังมีความได้เปรียบสูงกว่าประเทศอื่น

นอกจากนี้ จะเป็นสิ่งทอที่เป็นหน้ากากกันฝุ่น และแบคทีเรียต่างๆ แต่ยังไปไม่ถึงหน้ากากกันไวรัส ซึ่งจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่มีวัฎจักรการเกิดโรคบ่อยขึ้น ทำให้มีความต้องการสูง โดยจะไปร่วมมือกับห้องทดสอบด้านไวรัสของโรงพยาบาลชั้นนำ เพื่อวิจัยพัฒนาหน้ากากกันไวรัสของคนไทย รวมทั้งจะส่งเสริมสิ่งทอที่ใช้ในห้องผ่าตัด ชุดแพทย์ พยาบาล ผ้าปูเตียงในห้องผ่าตัด ที่ต้องมีคุณสมบัติพิเศษรองรับเลือดและของเหลวต่างๆ สามารถซักออกได้ง่ายและปลอดเชื้อ ซึ่งสิ่งทอเหล่านี้จะมีราคาสูงกว่าผ้าทั่วไป และหากผลิตในไทยจะมีราคาถูกกว่าการนำเข้า 30-50%

“ในขณะนี้ผู้ผลิตสิ่งทอไทยสามารถพัฒนาไปสู่การผลิตสิ่งทอทางการแพทย์ต่างๆได้ไม่ยาก แต่ที่ผ่านมายังขาดความรู้ในเรื่องความต้องการของแพทย์ว่าต้องการผ้าแบบไหน มีมาตรฐานคุณสมบัติในรายละเอียดอย่างไร ซึ่งสถาบันฯจะประสานงานกับบุคลากรการแพทย์ ให้โรงงานผลิตสินค้าได้ถูกต้องตรงต่อความต้องการของโรงพยาบาล และได้มาตรฐานสากล”

ทั้งนี้ การที่ไทยสามารถพัฒนาสิ่งทอทางการแพทย์ได้ด้วยตัวเอง จะช่วยรองสังคมผู้สูงอายุของไทย ที่จะมีความต้องการสิ่งทอทางการแพทย์ได้เป็นจำนวนมาก เช่น เสื้อผ้าผู้สูงอายุ และผู้ป่วย ผ้าพันแผลป้องกันแบคทีเรียสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ผ้าปูเตียงป้องกันเชื้อโรค รวมไปถึงวัสดุที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ผ้าอ้อมสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วมีความต้องการสินค้ากลุ่มนี้สูงมาก และไทยก็กำลังไปสู่ทิศทางนี้

158228720893

โดยล่าสุด สถาบันฯ ได้จัดทำ 10 โมเดลจับคู่ระหว่างโรงพยาบาลกับโรงงาน เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการจริงของโรงพยาบาลที่จะเข้ามาเป็นผู้ซื้อต่อไป ซึ่ง 10 โมเลยที่จะพัฒนา เช่น หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ , ชุดชั้นในผู้ป่าย ชุดกีฬาสำหรับคนพิการ , ผ้าปูเตียงผู้ป่วยและเตียงผ่าตัด , สิ่งทอรักษาอาการไฟไหม้น้ำร้อนลวก , ชุดเด็กแรกเกิดควบคุมอุณหภูมิ 

ในส่วนของสิ่งทอในยานยนต์สมัยใหม่นั้น เป็นกลุ่มที่ใหญ่มาก และผู้ประกอบการสิ่งทอไทยสามารถเข้าได้ง่ายกว่าการแพทย์ เช่า ผ้าที่นำไปผลิตเป็นเบาะรถยนต์ สิ่งทอตกแต่งภายในรถยนต์และรถไฟ ถุงลมนิรภัย และเข็มขัดนิรภัย เป็นต้น ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้จะต้องมีคุณสมบัติพิเศษตามที่ค่ายรถต่างๆต้องการ เช่น มีความทนทาน ทำความสะอาดง่าย และไม่ลามไฟ ส่วนสิ่งทอสำหรับอุตสาหกรรมอากาศยาย จะส่งเสริมการวิจัยผลิตผ้าสำหรับใช้ทำเบาะเครื่องบิน ผ้าม่ายในเครื่องบิน เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติพิเศษและมาตรฐานขั้นสูง

ด้านสิ่งทอที่เป็นชีวภาพ สถาบันฯจะเน้นการผลิตวัสดุต้นน้ำที่มาจากการแปรรูปสินค้าเกษตรของไทยไปสู่การผลิตเส้นใยชนิดพิเศษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตเส้นใยจากกัญชง เส้นไยจากเปลือกสับปะรด เส้นใยจากกล้วย เส้นใยจากมะพร้าว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร โดยเส้นใยเหล่านี้เป็นที่ต้องการในตลาดโลกสูง ตามกระแสการรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร

ในส่วนของสิ่งทอทางการทหารนั้น ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิจัยผลิตเสื้อเกราะกันกระสุนภายในประเทศ และชุดทหารป้องกันแบคทีเรีย ถุงเท้าดับกลิ่น ร่วมชูชีพ ผ้าปูรองนอน กระเป๋า และหมวกทหาร เป็นต้น ในขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบหากรัฐบาลปลดล็อกให้ผู้ผลิตทั่วไปผลิตยุทธภัณฑ์ป้อนกระทรวงกลาโหมได้ง่ายขึ้น ก็น่าจะมีสินค้าไทยในกลุ่มนี้ผลิตป้อนกองทัพมากขึ้น

ขณะที่สิ่งทอเซอร์คูลาร์อีโคโนมี เป็นโอกาสที่สำคัญของไทย โดยใช้เทคโนโลยีในการนำเส้นใยจากขยะพลาสติกมาผสมกับเส้นใยธรรมชาติให้มีคุณสมบันที่เหมาะสม โดยสถาบันฯได้มีการรวมกลุ่มคลัสเตอร์สิ่งทอเซอร์คูลาร์ไว้แล้วมีทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ ซึ่งตลาดยุโรปมีความต้องการสูงมาก แต่จะต้องให้ความรู้กับผู้ผลิตในกระบวนการผลิตแบบ Zero Waste และควรรู้ในเรื่องแฟชั่น ตลอดจนการโปรโมทสิ่งทอเซอร์คูลาร์ไทยในต่างประเทศ

ตลาดเซอร์คูลาร์แฟชั่นมาแน่ ผู้บริโภคโดยเฉพาะในยุโรป สหรัฐ มีความตื่นตัวในเรื่องนี้มาก ส่วนประเทศไทยกระแสนี้ก็มาแรง และอยู่ในช่วงกำลังเติบโต ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง ทำให้ไทยมีโอกาสในสิ่งทอกลุ่มนี้สูงมาก โดยสถาบันฯได้มีความร่วมมือกับที่ปรึกษาชาวอิตาลี เพื่อผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของยุโรป”

สิ่งทอ s-curve และเซอร์คูลาร์เป็นทางเดียวที่จะพัฒนาสิ่งทอไทยให้ยั่งยืนและมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยสิ่งทอคุณสมบัติพิเศษเหล่านี้ จะต้องพัฒนาร่วมกั้นทั้งซัพพลายเชน ตั้งแต่ผู้ผลิตเส้นใย ผู้ผลิตผ้าผืน ผู้ตัดเย็บ ไปจนถึงผู้จัดจำหน่าย จะต้องทำงานร่วมกันจึงจะเจาะตลาดในกลุ่มสิ่งทอพิเศษเหล่านี้ได้ ซึ่งหากต่างคนต่างทำก็จะผลักดันสินค้าใหม่ๆได้ยาก ดังนั้นสถาบันฯ จะรวมกลุ่มทั้งซัพพลายเชนเหล่านี้ให้ทำงานและร่วมกันวิจัยพัฒนา เพื่อให้ได้สินค้าฟังชั้นพิเศษตามต้องการ