บินไทยระส่ำหนัก เตือนพนักงาน 'เตรียมรับผลกระทบ' !!

บินไทยระส่ำหนัก เตือนพนักงาน 'เตรียมรับผลกระทบ' !!

"บินไทย" เจอพิษโควิด -19 ฉุดธุรกิจหนัก ประธานบอร์ดส่งสารแจ้งพนักงาน เตรียมออกมาตรการที่อาจได้รับผลกระทบ ด้านสหภาพฯ หวั่นถูกปรับลดเงินเดือน และวันทำงาน เตรียมขู่ฟ้องละเมิดสิทธิ์จ้างงาน

นายนเรศ ผึ้งแย้ม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (20 ก.พ.) พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ส่งสารแจ้งมายังพนักงานการบินไทย โดยระบุว่า ขณะบริษัทกำลังประสบปัญหาด้านผลประกอบการ และอยู่ระหว่างดำเนินการแผนฟื้นฟู แต่กลับเจอปัจจัยภายนอกกระทบธุรกิจ คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเป็นผลกระทบทั้งอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก และหลายสายการบินต้องออกมาตรการพยุงธุรกิจ

ขณะที่การบินไทย ปัญหาไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อบริษัทอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อีกทั้งยังไม่ทราบว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงเมื่อไหร่ ดังนั้นเพื่อรับมือกับวิกฤติครั้งนี้ บริษัทจำเป็นต้องดำเนินมาตรการต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อผู้บริหารและพนักงาน โดยจะประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการหลังจากนี้ และขอความร่วมมือจากพนักงาน เพื่อรักษาการบินไทยและไทยสมายล์ และเพื่อให้ทุกคนอยู่รอด

"ประธานบอร์ดได้ส่งสารมายังพนักงานทุกคนให้เตรียมรับมือกับมาตรการที่กำลังจะประกาศออกมา ซึ่งหลังจากได้รับสารพนักงาน เกิดความตื่นตระหนก ตกใจ กลัวว่าจะมีผลกระทบต่อการทำงาน และรายได้ ล่าสุดยังมีกระแสข่าวว่าบริษัทเตรียมที่จะให้พนักงานปรับลดระยะเวลาการทำงาน และลดเงินเดือนลง ทำให้ตอนนี้มีสมาชิกหลายคนเริ่มทยอยถอนเงินออกสหกรณ์แล้ว เพราะกลัวปัญหาจะเกิดขึ้น"

นายนเรศ ยังกล่าวอีกว่า สหภาพฯ ได้มีการประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาและพยายามทำความเข้าใจกับพนักงานทุกคน โดยเมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา สหภาพฯ ได้ออกแถลงการณ์ไปยังสมาชิก และพนักงานของการบินไทยทุกคน โดยแจ้งให้ทราบว่า ตาม พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 บริษัทไม่มีอำนาจในการออกประกาศและ/หรือคำสั่งลดเวลาทำงาน หรือลดเงินเดือนได้ เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างงาน

อย่างไรก็ตาม การปรับลดวันทำงานหรือลดเงินเดือน พนักงานจะต้องยินยอมเป็นรายบุคคลเท่านั้น ส่วนกรณีพนักงานไม่ยินยอมที่จะลดวันทำงานหรือลดเงินเดือน สหภาพฯ ก็จะเป็นแกนนำให้ความช่วยเหลือฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทต่อไป เพราะถือว่าเป็นการละเมิดสภาพการจ้างงาน ทั้งนี้ แนวทางที่บริษัทสามารถทำได้เพื่อลดค่าใช้จ่าย คือการปรับลดโอที ซึ่งจะไม่ผิดกฎหมาย เพราะไม่ใช่สภาพการจ้างงาน โดยพนักงานทุกคนก็พร้อมจะช่วยเหลือ