สคร.ดันเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจลงระบบเศรษฐกิจ

สคร.ดันเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจลงระบบเศรษฐกิจ

สคร.เร่งเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ คาดทั้งปีจะเบิกจ่ายได้ 90%ของแผน 3.5 แสนล้านบาท ล่าสุดเบิกจ่ายได้กว่า 3.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่ จัดเก็บรายได้ส่งคลังแล้ว 50%ของเป้า 1.8 แสนล้านบาท พร้อมดันแผนลงทุนPPP 90 โครงการมู

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)เปิดเผยว่า เพื่อสนับสนุนให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ สคร.จะเร่งการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ
ให้เบิกจ่ายให้เร็วขึ้นในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ (Front-Loaded) และหาโครงการลงทุนใหม่ๆ มาเพิ่มเติมในปี 2563 รวมทั้ง สคร. ยังเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาที่ทำให้การลงทุนติดขัดอีกด้วย

นอกจากนี้ สคร.ได้ยกระดับกลไกการติดตามการลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เข้มข้นยิ่งขึ้นโดยร่วมกับกรมบัญชีกลางในการติดตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท เป็นต้นไป โดย สคร. จะรับผิดชอบในส่วนของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด
1.2 เพิ่มการติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของบริษัทในเครือขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจและรัฐวิสาหกิจประเภทสถาบันการเงิน เพื่อให้การติดตามการลงทุนของรัฐวิสาหกิจครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ปี 2563 มีแผนการเบิกจ่ายประมาณ 350,000 ล้านบาท โดย ณ สิ้นเดือนม.ค. 2563 มีแผนการเบิกจ่ายสะสม 35,339 ล้านบาท ซึ่งรัฐวิสาหกิจสามารถเบิกจ่ายได้ 37,279 ล้านบาท คิดเป็น 105% ของแผน
โดย สคร. ตั้งเป้าหมายให้การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 2563 จะต้องไม่น้อยกว่า 90%ของแผนเบิกจ่ายทั้งปี

ด้านการจัดเก็บรายได้แผ่นดินจากรัฐวิสาหกิจและกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่า50%ในปี 2563 สคร. มีเป้าหมายการจัดเก็บอยู่ที่ 188,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 20,800 ล้านบาท โดยผลการจัดเก็บ ณ วันที่ 19 ก.พ. 2563 อยู่ที่ประมาณ 95,635 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 50%ของเป้าหมายแล้ว ซึ่ง สคร. คาดว่า จะสามารถจัดเก็บรายได้นำส่งรัฐให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายต่างๆ ของภาครัฐและสามารถรักษาเสถียรภาพทางการคลัง

นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา รองผู้อำนวยการ สคร. รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนารัฐวิสาหกิจกล่าวว่า
การผลักดันโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP)ในปี 2563 คาดว่าแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนใหม่จะสามารถนำเสนอคณะกรรมการ PPP
ให้ความเห็นชอบได้ ซึ่งทำให้เห็นเป้าหมายของโครงการ PPP ที่ชัดเจน สนับสนุนการลงทุนของประเทศ โดยร่างแผนที่จะเสนอคณะกรรมการ PPP จะมีโครงการ PPP ประมาณ 90 โครงการ มูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะมีทั้งโครงการเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม และในปีนี้กฎหมายลำดับรองภายใต้พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
พ.ศ. 2562 น่าจะแล้วเสร็จทั้งหมด

ทั้งนี้ ในปี 2563 จะมีโครงการ PPP ที่สำคัญ ดังนี้ โครงการที่จะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ อย่างน้อย 6 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุน ประมาณ 385,000 ล้านบาท ได้แก่ โครงการ Motorway สายบางปะอิน-โคราช ในส่วนของ O&M ของกรมทางหลวง (ทล.)โครงการ Motorway สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ในส่วนของ O&M ของ ทล.
โครงการจัดประโยชน์ที่ดิน โรงแรมแกรมไฮแอท เอราวัณ ของสหโรงแรม โครงการการจัดให้เช่าที่ราชพัสดุสนามกอล์ฟบางพระ ของกรมธนารักษ์ โครงการศูนย์การขนส่งฯ นครพนม ของกรมการขนส่งทางบก โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

โครงการที่จะนำเสนอคณะกรรมการ PPP อย่างน้อย 4 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนประมาณ 31,000 ล้านบาท ได้แก่ โครงการเคหะชุมชนเชียงใหม่ (หนองหอย) ของการเคหะแห่งชาติ (กคช.)
โครงการศูนย์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ของกรมการแพทย์ โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมตามเส้นทางโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของ กคช.
โครงการการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ด้านการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ สคร. ยังคงติดตามการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจที่อยู่ในแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรอีก 5 แห่งต่อเนื่องอย่างใกล้ชิด และจะเสนอแต่งตั้งคณะอนุกรรมการของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ชุดใหม่ เพื่อดูแลรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาเป็นการเฉพาะเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและมีความต่อเนื่อง

โดยในปัจจุบันรัฐวิสาหกิจทั้ง 5 แห่ง มีความคืบหน้าที่สำคัญดังนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังคงต้องแก้ไขปัญหาเรื่องการเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและคุณภาพบริการ และที่สำคัญต้องเร่งให้มีการดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ให้ได้โดยเร็ว

การรถไฟแห่งประเทศไทย สามารถปิดงบการเงินเป็นปัจจุบันให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบงบได้แล้ว สำหรับสิ่งที่ยังคงต้องติดตามและกำกับอย่างใกล้ชิด คือ การจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ และการให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด มาดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความชัดเจนของแผนการก้ไขปัญหาขององค์กรที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการตามนโยบายของรัฐกระทรวงคมนาคม และแนวทางการจัดหารถโดยสารใหม่ตามแผนที่จะปรับปรุง

บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2563 ได้เห็นชอบการควบรวมแล้ว และต้องดำเนินการควบรวมให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน หลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ แต่ยังคงมีรายละเอียดจำนวนมากที่ต้องดำเนินการให้สามารถควบรวมได้อย่างไม่มีปัญหา