ชี้เข็มฉีดยา-หลอดบรรจุเลือด เป็นมูลฝอยติดเชื้อ ต้องทิ้งและกำจัดให้ถูกวิธี

ชี้เข็มฉีดยา-หลอดบรรจุเลือด เป็นมูลฝอยติดเชื้อ ต้องทิ้งและกำจัดให้ถูกวิธี

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย ผ้าพันแผล สำลี เข็มฉีดยา หลอดบรรจุเลือด เป็นมูลฝอยติดเชื้อ ต้องมีการทิ้งและกำจัดให้ถูกวิธี ห้ามทิ้งตามแหล่งทั่วไปหรือพื้นที่สาธารณะเด็ดขาด

แพทย์หญิงพรรณพิมล  วิปุลากร  อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงกรณีพบเข็มฉีดยา หลอดบรรจุเลือด  จำนวนมากถูกนำมาทิ้งน้ำบริเวณตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ว่า จากข้อมูลศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี ได้รายงานว่า ขณะนี้สาธารณสุขอำเภอสัตหีบกำลังตรวจสอบคลินิกเสริมความงามหรือหมอกระเป๋าที่ลักลอบให้บริการในพื้นที่ เนื่องจากเข็มที่พบบางส่วนเป็นเข็มที่มีลักษณะยาว คล้ายเข็มร้อยไหม ส่วนหลอดบรรจุเลือดที่พบไม่ใช่ยี่ห้อ ที่โรงพยาบาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใช้กัน โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลช่องแสมสารได้ลงบันทึกประจำวันกับตำรวจเพื่อหาผู้กระทำผิดต่อไปแล้ว ทั้งนี้ การจัดการมูลฝอยติดเชื้อที่เกิดจากการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์หรือการรักษาพยาบาลที่ถูกวิธี จะต้องมีการคัดแยกเป็น 2 ประเภท คือ 1) มูลฝอยติดเชื้อมีคม ได้แก่ เข็มฉีดยา ใบมีด ต้องบรรจุลงในภาชนะที่เป็นกล่องหรือถัง ที่ทนทานต่อการแทงทะลุ มีฝาปิดมิดชิดและป้องกันการรั่วไหลของของเหลวภายในได้ โดยบรรจุไม่เกินสามในสี่ส่วนของภาชนะแล้วปิดฝา ให้แน่น และ 2) มูลฝอยติดเชื้อไม่มีคม ได้แก่ สำลี ผ้ากอซ ที่ปนเปื้อนเลือดหรือสารคัดหลั่งต่างๆ ต้องบรรจุลงในภาชนะที่เป็นถุงพลาสติกที่มีความเหนียว ไม่ฉีกขาดง่าย ไม่รั่ว ไม่ซึม โดยบรรจุไม่เกินสองในสามส่วนของภาชนะ   แล้วมัดปากถุงด้วยเชือกให้แน่น เมื่อมีการคัดแยกและเก็บรวบรวมแล้วจะต้องมีการขนและกำจัดให้ถูกต้องตามวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545

               ชี้เข็มฉีดยา-หลอดบรรจุเลือด เป็นมูลฝอยติดเชื้อ ต้องทิ้งและกำจัดให้ถูกวิธี              

“สำหรับประชาชน การเข้ารับบริการด้านความงามควรตรวจสอบข้อมูลผู้ให้บริการทั้งความรู้ ความสามารถ มีหลักแหล่งในการให้บริการที่ตรวจสอบได้ ลดความเสี่ยงจากผลกระทบของการให้บริการที่ไม่ได้มาตรฐาน อันจะส่งผลทั้งต่อตัวผู้รับบริการและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมดังที่ปรากฏเป็นข่าว ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติ การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือ มูลฝอย อาจดำเนินการเก็บ ขน หรือกำจัดมูลฝอยติดเชื้อเอง หรืออนุญาตให้เอกชนดำเนินการได้ รวมทั้งมีอำนาจ ในการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการ เก็บ ขน และกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ โดยไม่เกินกว่าที่กฎกระทรวงสาธารณสุขกำหนดเพื่อควบคุม กำกับ ให้มีการจัดการ มูลฝอยติดเชื้อในพื้นที่ได้อย่างถูกสุขลักษณะ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว