CIMBT หั่น 'จีดีพี' เหลือ 1.7% พิษ 'โควิด-19' กระทบหนัก จี้รัฐเร่งฉีดวัคซีนศก.

CIMBT หั่น 'จีดีพี' เหลือ 1.7% พิษ 'โควิด-19' กระทบหนัก จี้รัฐเร่งฉีดวัคซีนศก.

“ซีไอเอ็มบีไทย” หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ1.7%จาก2.3% เหตุโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หวังนโยบายการเงินกนง. ลดดอกเบี้ยอีกรอบในเดือนมี.ค.ลงมาแตะระดับ0.75% และมาตรการภาครัฐฉีดวัคซีน ช่วยประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวแรง

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า สำนักวิจัยฯปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ลงอีกครั้งจาก 2.3% เหลือ 1.7% จากปัจจัยกดดันเพิ่มเติมคือผลกระทบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่  หรือโควิด-19 ที่กระทบการท่องเที่ยวและจะลามมาสู่ภาคการผลิตที่จะหดตัวจากการขาดวัตถุดิบจากจีนอีกทอด

เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะการถดถอยทางเทคนิคช่วงครึ่งปีแรก แต่จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเป็นรูปตัว V ในช่วงครึ่งปีหลัง การฟื้นตัวในมุมที่เรามองนี้ ไม่สามารถรอฟ้าฝนให้เป็นใจ จีนหายป่วย การส่งออกและท่องเที่ยวขยายตัวแล้วจะฟื้นได้ แต่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องสามัคคีกันหาหนทางกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม หาไม่แล้วเศรษฐกิจไทยอาจฟื้นตัวในรูปตัว U หรือเติบโตทั้งปีนี้ได้เพียง 0.7% "

ขณะนี้มองว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะการถดถอยทางเทคนิค คือ การที่ GDP หดตัวเทียบไตรมาสต่อไตรมาสหลังปรับฤดูกาล สองไตรมาสติดต่อกันขึ้นไป จากปัญหาไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 ที่กระทบภาคการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง จำนวนนักท่องเที่ยวอาจหดตัวมากกว่า 50% ในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่ภาคการส่งออกมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและจากการที่ผู้ผลิตไม่สามารถนำเข้าสินค้าขั้นกลางและวัตถุดิบจากจีนได้เนื่องจากภาคธุรกิจในจีนยังไม่เปิดทำการเต็มที่และทำให้ผู้ประกอบการไทยจำต้องลดกำลังการผลิตหรืออาจถึงขั้นปิดกิจการชั่วคราว

เมื่อภาคการผลิต การส่งออกและการท่องเที่ยวไทยเสี่ยงหดตัว การจ้างงานในกลุ่มนี้และรายได้นอกภาคเกษตรมีโอกาสหดหาย ซ้ำเติมปัญหาภัยแล้งที่มีผลเสียต่อรายได้ภาคเกษตร กำลังซื้อครัวเรือนกำลังอ่อนแอและจะกระทบภาคการบริโภคอีกทอดหนึ่ง ส่วนนี้จะเติบโตได้ดีในช่วงไตรมาส 4 มาจากกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเป็นหลัก เช่นโรงแรม ร้านอาหาร และขนส่ง แต่กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับคนไทยทั่วไปกลับโตช้าหรือหดตัว เช่น อาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้าและรถยนต์

ขณะที่ภาคเอกชนกำลังมีปัญหา ภาครัฐก็เผชิญความท้าทายจากงบประมาณที่ล่าช้า และอาจไม่สามารถนำเงินมากระตุ้นการลงทุนและบรรเทาปัญหาการตกต่ำของกำลังซื้อในช่วงนี้ได้ การบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐเสี่ยงหดตัวต่อเนื่องอย่างน้อยก็ช่วงไตรมาสแรกนี้  

ดังนั้น  ในภาวะเช่นนี้คงเหลือเพียงมาตรการทางการเงินในการพยุงเศรษฐกิจ โดยทางคณะกรรมการทางการเงิน(กนง.) ได้เห็นแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.00% ต่อปีในเดือนก..63   สำนักวิจัยฯคาดว่า กนง. มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งสู่ระดับ0.75% ต่อปีภายใน 3 เดือนข้างหน้า เร็วที่สุดอาจเป็นการประชุมรอบหน้าวันที่ 25 มี.. 63  เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ตลาดการเงินและลดต้นทุนผู้ประกอบการ อีกทั้งคงพยายามให้เงินบาทอ่อนค่าเทียบสกุลอื่นเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก

นอกจากนี้ มองว่า ควรมีมาตรการภาครัฐเข้ามาช่วยดูแลประคับประคองเศรษฐกิจ  เช่น การสร้างงาน การบรรเทาผลกระทบช่วยเหลือภาคธุรกิจ ปรับรูปแบบการท่องเที่ยวแนวใหม่ และการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มกำลังซื้อกำลังซื้อระดับกลาง-กลางบน

เชื่อว่าการลดดอกเบี้ยช่วยประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวแรง แต่ยากที่จะเปลี่ยนทิศเศรษฐกิจขาลงในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จึงมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะการถดถอยทางเทคนิคในช่วงครึ่งปีแรกนี้ แต่ภาวะนี้ไม่ใช่วิกฤติเศรษฐกิจที่ GDP หดตัวแรงจนเกิดปัญหาต่อสถาบันการเงินหรือภาคธุรกิจจริง เพราะยังเชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีจากงบประมาณที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและจากการคลี่คลายของปัญหาไวรัสโควิด-19 ที่นักท่องเที่ยวและการส่งออกจะกลับมาเติบโตได้ดีในช่วงครึ่งปีหลัง