EPG แก้เกมธุรกิจชิ้นส่วนฯ หด เน้นสินค้า 'พรีเมี่ยม'

EPG แก้เกมธุรกิจชิ้นส่วนฯ หด เน้นสินค้า 'พรีเมี่ยม'

แหล่งสร้างเงินหลักหดตัว ! หลังอุตสาหกรรมยานยนต์ชะลอตัว 'เฉลียว วิทูรปกรณ์' นายใหญ่ 'อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป' ยอมรับรายได้ปี 2562/2563 พลาดเป้าหมาย 'ไม่เติบโต' บ่งชี้ผ่านลูกค้าลดคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ AEROKLAS แย้มปรับทัพเน้นสินค้าพรีเมี่ยม...

ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2563 (1 ต.ค.-ธ.ค.2562) 'กำไรสุทธิ' อยู่ที่ 213.93 ล้านบาท 'ลดลง 5%' และ -34% จากไตรมาสก่อน ส่งผลงวด 9 เดือน กำไรสุทธิลดลง 4.4% จากช่วงเดียวกัน เหตุอุตสาหกรรมรถยนต์หดตัว ! อาจจะเป็นต้นเหตุทำให้ราคา หุ้น อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป หรือ EPG ถึงร่วงลงมาทำ 'จุดต่ำสุด' (นิวโลว์) ในรอบ 9 เดือน ณ ราคา 5.05 บาทต่อหุ้น (12 ก.พ.ที่ผ่านมา) 

'กำลังซื้อหด-เศรษฐกิจไม่ฟื้น' ! ต้นเหตุรายได้ 'อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป' ไม่เติบโต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยายนต์ 'หดตัวถึง 20%' เหตุบริษัทมีสัดส่วนรายได้ 'ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์' มากสุด 

โดย EPG ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) มีการลงทุนหลักในธุรกิจแปรรูปพลาสติก 3 ธุรกิจหลัก คือ 'ธุรกิจผลิตและจำหน่ายฉนวนยางกันความร้อนและความเย็น' ดำเนินการโดย บริษัท แอร์โรเฟลกซ์ จำกัด (AFC) ซึ่งเป็นบริษัทแกน ภายใต้เครื่องหมายการค้า AEROFLEX 'ธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ชิ้นส่วนตกแต่งรถยนต์' ดำเนินการโดย บริษัท แอร์โรคลาส จำกัด (ARK) ภายใต้เครื่องหมายการค้า AEROKLAS และ 'ธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติก' ดำเนินการโดย บริษัท อีสเทิร์น โพลีแพค จำกัด (EPP) ภายใต้เครื่องหมายการค้า EPP

'เฉลียว วิทูรปกรณ์' รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป หรือ EPG เล่าให้ฟังว่า ยอมรับผลประกอบการปี 2562/2563 (เม.ย.2562-มี.ค.2563) พลาดเป้าหมายจากเดิมที่ตั้งเป้าเติบโต 5% เนื่องจากบริษัทได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่หดตัวถึง 20% ส่งผลให้ผลการดำเนินงานใน 3 ไตรมาสของปี 2562 ลดลง

อีกทั้งช่วงเดือนต.ค. 2562-ธ.ค.2562 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยรายงานยอดจำหน่ายรถกระบะ 1 ตันภายในประเทศ ปรับตัว 'ลดลง 19%' และยอดส่งออกยานยนต์ลดลง 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจเลือกซื้อรถใหม่ อาจด้วยความไม่มั่นใจในสภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงรอการเปลี่ยนโมเดลรถรุ่นใหม่ หรือรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามาทดแทนในอนาคต 

สำหรับปี 2563 สภาพัฒน์ฯ คาดการณ์เศรษฐกิจในประเทศเติบโตได้ 1.5%-2.5% จากผลกระทบโรคระบาดไวรัส COVID-19 และความล่าช้าของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 เป็นต้น จากปัจจัยดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าตั้งแต่ปลายปี 2562 ถึงปัจจุบันภาพรวมของเศรษฐกิจทั่วโลกมีความผันผวน

'ตลาดรถยนต์ไม่เติบโต เราจะโตฝืนตลาดไปได้อย่างไร ยังไม่รวมกับที่ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจเลือกซื้อรถใหม่ เพราะไม่มั่นใจเศรษฐกิจ รวมถึงรอการเปลี่ยนโมเดลรถรุ่นใหม่ หรือ รถยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามาทดแทนในอนาคต ทำให้ภาพรวมของเรารายได้ทรงตัวจากปีก่อน ไม่ติดลบก็ถือว่าเก่งแล้ว'

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่เหลือของปี 2562/2563 (1ม.ค.-31มี.ค.2563) ใน 'ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น' ภายใต้แบรนด์ Aeroflex บริษัทจะมุ่งทำการตลาดในกลุ่มสินค้าพรีเมี่ยมทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และ อาเซียน ขณะที่โรงงานแอร์โรเฟลกซ์ 5 ซึ่งเป็นโรงงานแห่งใหม่ใน จังหวัด ระยอง เริ่มทดสอบการผลิตแล้ว คาดว่าจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนมีนาคม 2563 เพื่อรองรับการเติบโตฉนวนกันความร้อน/เย็น และ ฉนวนกันความร้อนใต้หลังคา

ขณะที่โรงงาน AEROFLEX ในสหรัฐฯ ช่วงที่ผ่านมาได้มีการเพิ่มเครื่องจักรไฮสปีดเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และ มีแผนสร้างโรงงานแห่งที่ 2 เพิ่มหลังมองเห็นโอกาสการเติบโตในสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการปรังปรุงพื้นที่ และ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี (2563-2565) หลังแล้วเสร็จจะส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตในสหรัฐเพิ่มขึ้น '2 เท่า' มาอยู่ที่ 7,000 ตันต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 4,000 ตันต่อปี

สำหรับ 'ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์' ภายใต้แบรนด์ Aeroklas ไตรมาส 3 ปี 2562/2563 ที่ผ่านมา บรรดาค่ายรถยนต์ชะลอ 'การสั่งซื้อชิ้นส่วนยานยนต์' ส่งผลกระทบให้มีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำ แม้บริษัทจะได้รับประโยชน์จากราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลงก็ตาม แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ดำเนินการปรับปรุงควบคุมต้นทุน และ ค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว คาดว่าการบริหารต้นทุนของแอร์โรคลาสจะปรับตัวได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

'ธุรกิจ TJM Products Pty.Ltd (TJM)' บริษัทมีแผนขยายตลาดใน 'ต่างประเทศ' โดยเฉพาะทวีปเอเชียเพื่อขยายฐานลูกค้ารายใหม่ เพื่อเป็นการเสริมพอร์ตเพิ่มความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นอีก โดยเมื่อเดือนธ.ค. 2562 ได้บุกทำการตลาดเมืองไทย ด้วยการเปิดโชว์รูมแห่งแรก ณ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ไปแล้ว และ ในปลายเดือนก.พ. นี้ เตรียมจะเปิดแฟรนไชส์อีก 1 แห่ง ณ จ.ขอนแก่น และ มีแผนขยายแฟรนไชส์อีกหลายแห่งในประเทศไทย นอกจากนี้ ประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ แสดงความสนใจในการร่วมทำธุรกิจกับ TJM อีกด้วย 

และ 'ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก' ภายใต้แบรนด์ EPP ปัจจุบันบริษัทเร่งทำตลาดในกลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหาร ประเภทกล่องใส่อาหารและถ้วยน้ำดื่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยอดขายสำหรับกลุ่มสินค้าประเภทกล่องใส่อาหารเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ...!  เนื่องจากไลฟ์สไตส์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก โดยปัจจุบันเน้นการสั่งอาหารเดลิเวอร์รี่เพิ่มขึ้น 

อีกทั้ง EPP สามารถขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมได้มากขึ้นด้วยมีการรับรองมาตรฐานความสะอาด และ ปลอดภัยทางด้านอาหารจากองค์กรชั้นนำหลายแห่ง เช่น HACCP/ GMP และ BRC เป็นต้นอนึ่ง สัดส่วนรายได้ของ EPG สิ้นไตรมาส 3 ปี 2562/2563 แบ่งเป็น Aeroflex 31% Aeroklas 43% และ EPP 26% ซึ่งกลุ่มธุรกิจ Aeroflex และEPP ยังคงมีรายได้จากการขายเติบโตได้ดีเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ส่วน Aeroklas ยังไม่สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อย่างไรก็ตามบริษัทจะรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นให้ได้ตามเป้าหมายที่ 28%-30%

เขา บอกต่อว่า กรณีที่ บริษัท General Motors (GM) ประกาศปิดโรงงานและหยุดการหน่ายรถยนต์ยี่ห้อ 'เชฟโรเลต' ในประเทศไทยปลายปี 2563 นั้น บริษัทยืนยันว่าไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เนื่องจากบริษัทไม่มีรายการผลิต และส่งสินค้าให้กับบริษัทดังกล่าว แต่ว่าจะได้ผลดีจากการที่ Great Wall Motors (จีน) ลงนามสัญญาซื้อขายศูนย์การผลิตรถยนต์ และ เครื่องยนต์ไทยจีเอ็ม ซึ่งถือเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจให้กับบริษัท เนื่องจากที่ผ่านมา 'กลุ่ม เกรท วอลล์' เป็นคู่ค้ากับบริษัทอยู่แล้วส่วนการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยอมรับว่า ได้รับผลกระทบ เนื่องจากบริษัทมีโรงงานในจีน และ ในฮ่องกง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการปิดโรงงานไปแล้วชั่วคราวตามปราศของรัฐบาลจีน

ท้ายสุด 'เฉลียว' ทิ้งท้ายไว้ว่า แม้ตอนนี้สถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ยังไม่ดีขึ้น แต่ผลการดำเนินงานยังสามารถเติบโตมาจากการเดินเครื่องโรงงานใหม่ของ Aeroflex ซึ่งมีคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) รองรับเข้ามาแล้ว

โบรกฯ จ่อหั่นประมาณการณ์ ! 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี บอกว่า กรณีที่ บมจ.อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป หรือ EPG ประกาศตัวเลขผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2562/2563 ออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ปัจจัยหลักเป็นผลจากธุรกิจ Aeroklas ที่ต่ำกว่าคาดมาก รายได้อยู่ที่ 1,039  ล้านบาท ลดลง -26% จากปีก่อน และ -22% จากไตรมาสก่อน ซึ่งต่ำกว่าที่คาด -14% จากอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศที่ชะลอตัวโดยยอดผลิตรถยนต์ปรับตัวลดลง -22% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ -13% จากไตรมาสก่อน และยอดขายต่างประเทศได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท

ขณะที่ EPP แนวโน้มดีขึ้นแต่ต่ำกว่าคาดเล็กน้อย แต่ GPM อยู่ที่ 19.2% ต่ำกว่าคาดเล็กน้อยเนื่องจากผลจากการทำโปรโมชั่นช่วงปลายปี ส่วน Aeroflex ทำได้ดีตามคาด เป็นผลจากตลาดสหรัฐและญี่ปุ่นที่เติบโตแข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของธุรกิจ Aeroklas จะยังชะลอต่อในปีนี้ ทั้งตลาดรถยนต์ในประเทศ ตลาดออสเตรเลียที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าครั้งใหญ่ ทำให้ยอดขายชิ้นส่วนรถยนต์ใน TJM ปรับตัวลดลง ดังนั้นปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 (เม.ย.2562-มี.ค.2563) ลดลง -7% มาเป็น 958 ล้านบาท ส่วนแนวโน้มกำไรไตรมาส 4 ปี 2563 อยู่ที่ 201 ล้านบาท โต 79% จากช่วงเดียวกันปีก่อน  

ดังนั้น แนะนำ 'ถือ' ปรับลดราคาเป้าหมายเป็น 5.90 บาท จากเดิม 7.80 บาท เนื่องจากการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิลดลง และปรับลด PE ปี 2563 เป็น 17.3  เท่า (-1SD below 5-yr average PER)จากเดิมที่ 21 เท่าด้าน

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า บอกว่า ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิของ EPG ตั้งแต่ปี 2563 ลงเฉลี่ยปีละ 6.8% โดยภายใต้ประมาณการใหม่ อย่างไรก็ดีคาดช่วงไตรมาส 4 ปี 2563 กำไรสุทธิของ EPG จะฟื้นตัว 64.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากฐานที่ต่ำในปีก่อน รวมทั้งได้รับปัจจัยบวกจากการเติบโตของ Aeroflex และ EPP ที่ทำได้ดี โดยในช่วงไตรมาส 4 ปี 2563 โรงงาน Aeroflex 5 (เฟสแรก) จะเริ่มดำเนินงาน (กำลังการผลิต 2,000 ล้านตันต่อปี) 

โดยส่วนใหญ่จะเน้นผลิตสินค้า 'มาร์จินสูง' ซึ่งมีคำสั่งซื้อรองรับแล้ว และคาดอัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มจะปรับดีขึ้นเป็น 27.8% จาก 25.8% ในปีก่อน จากต้นทุนเม็ดพลาสติกที่ลดลงและการใช้กำลังการผลิตของ Aeriflex และ EPP ที่ดีขึ้น หนุนให้ทั้งปี 2563 คาด EPG จะมีกำไรปกติ 990 ล้านบาท โต 9% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน  

ดังนั้น แนะนำ 'ซื้อ' ราคาเป้าหมาย 7.80 บาท คิดเป็นระดับ PER ที่ 19.7 เท่า ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยในช่วง 3 ปีย้อนหลัง-1 S.D. อีกทั้งคาดมีปันผลจ่ายอีกหุ้นละ 0.22บาท คิดเป็น Div. Yield 3.9%