'กมธ.แก้รธน.' เห็นร่วมแก้ระบบเลือกตั้ง กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ-เคาะจัด 6 เวทีฟังความเห็น

'กมธ.แก้รธน.' เห็นร่วมแก้ระบบเลือกตั้ง กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ-เคาะจัด 6 เวทีฟังความเห็น

กมธ.แก้รธน. เห็นร่วมแก้ระบบเลือกตั้ง กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง2 ใบ-เคาะจัด 6 เวทีจว.ฟังความเห็น "วัฒนา" แจงสาระฟังความเห็น ไม่เน้นกม. แต่ฟังปัญหาและแนวทางแก้ไข พร้อมชง 3 สถาบัน หาระบบเลือกตั้งที่เหมาะสมกับประเทศ ด้าน "ปิยบุตร" อาจได้สิทธินั่งกมธ. ต่อ พร

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 63 การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มี นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีราย พรรคพลังประชารัฐ ฐานะรองประธานกรรมาธิการฯ คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หมวด 7 ส่วนการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งนี้ ในที่ประชุมดังกล่าวได้สะท้อนความเห็นอย่างหลายหลาก และต้องการให้กลับไปใช้ระบบเลือกตั้ง ส.ส.​ด้วยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ แบบเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ เพื่อตอบสนองและสะท้อนเจตจำนงค์ของประชาชนที่แท้จริง นอกจากนั้นที่ประชุมยังลงมติเพื่อจัดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนในภูมิภาคต่างๆ

โดย นายวัฒนา เมืองสุข รองประธานกรรมาธิการ คนที่ 2 ฐานะประธานอนุกรรมาธิการฯ ประชาสัมพันธ์ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เปิดเผยว่า กรรมาธิการฯ จะจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชน ในภูมิภาคต่างๆ รวม 6 เวที โดยเริ่มจากเวที จ.อยุธยา ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา วันที่ 7 มีนาคม, เวที จ.ชลบุรี ที่มหาวิทยาลัยบูรพา วันที่ 8 มีนาคม, เวที จ.ขอนแก่น ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 14 มีนาคม, เวที จ.สงขลา ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วันที่ 15 มีนาคม, เวที จ.เชียงใหม่ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 18 มีนาคม และเวทีกรุงเทพฯ ​ที่อาคารรัฐสภา โดยยังไม่กำหนดวันที่ชัดเจน ทั้งนี้ กลุ่มบุคคลที่เข้าร่วมจะเป็นกลุ่มนิสิต นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไปโดยเวทีต่างๆ จะเน้นการรับฟังเสียงของประชาชน ต่อปัญหาที่เผชิญ และประเด็นที่ต้องการแก้ไข โดยไม่เน้นเรื่องของกฎหมาย ทั้งนี้ หลังจากรับฟังความเห็นแล้ว กรรมาธิการฯ จะนำประมวลความเห็นเพื่อนำเสนอเป็นรายงานส่งให้สภาฯ​ ต่อไป

นายวัฒนา ยังกล่าวถึงผลการหารือกรรมาธิการฯ ​ต่อปัญหาของส่วนการได้มาซึ่ง ส.ส. ว่า กรรมาธิการฯ จากทุกพรรคการเมืองเห็นร่วมกันต่อปัญหาของระบบเลือกตั้ง ซึ่งเพื่อให้เกิดความชัดเจนมีข้อเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ​(กกต.), มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันพระปกเกล้า ดำเนินการหาระบบเลือกตั้งที่เหมาะสมกับประเทศไทย ก่อนจะนำเสนอให้กรรมาธิการฯ พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ยอมรับว่าการหารือของกรรมาธิการฯ​ นั้นพิจารณาในสาระของรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา ส่วนการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นอาจเป็นข้อเสนอในขั้นตอนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงบรรยากาศการประชุมกรรมาธิการฯ ที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ฐานะกรรมาธิการฯ เข้าร่วมประชุมนัดดังกล่าวด้วย โดยภายหลังการประชุม นายไพบูลย์ ได้เข้าไปพูดคุย ซึ่ง นายปิยบุตร กล่าวด้วยรอยยิ้มว่า "หากพรรคอนาคตใหม่ถูกตัดสิน ผมยังมาประชุม เป็นกรรมาธิการได้ใช่หรือไม่" ซึ่ง นายไพบูลย์ กล่าวขึ้นได้ "ได้แน่นอนอยู่แล้ว" ทั้งนี้ นายปิยบุตร กล่าวกับสื่อมวลชนที่รอทำข่าวและสอบถามถึงความเห็นต่อการลงมติของศาลรัฐธรรมนูญช่วงบ่ายว่า "ในกระเป๋าผมมีคำแถลงที่แบ่งเป็น 2 เวอร์ชั่นไว้แล้ว"