‘แกร็บ' บุกธุรกิจการเงิน สยายปีก 'ขายประกัน-กองทุน'

‘แกร็บ' บุกธุรกิจการเงิน สยายปีก 'ขายประกัน-กองทุน'

“แกร็บ ไฟแนนเชียล” บุกธุรกิจสินเชื่อออนไลน์เต็มสูบ ทั้งสินเชื่อบุคคล ผ่อนสินค้า และสินเชื่อธุรกิจรายย่อย ตั้งเป้าปล่อยกู้ใหม่ปีนี้ 3 พันล้านบาท โต 6เท่าตัวจากปีก่อน กางแผนรุกหัวเมืองรองทั่วประเทศ  จ่อเปิดขายประกัน  "GrabInsure"  ขยายธุรกิจวางแผนลงทุน

นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการ แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยว่า แม้ว่าในปี 2563 จะมีความเสี่ยงทั้งจากเศรษฐกิจชะลอตัว และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ธุรกิจของแกร็บยังเติบโตได้ดี โดยตั้งเป้ายอดปล่อยสินเชื่อใหม่ 3 พันล้านบาท เติบโต 6 เท่าตัว และมีจำนวนพาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่และร้านค้ากว่า 1 แสนราย เติบโต 5 เท่าตัว

สำหรับธุรกิจสินเชื่อภายใต้ แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป มี 3 รูปแบบ  ได้แก่ 1. สินเชื่อเงินสดผ่านแอพ สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดอกเบี้ย18% ผ่อนไม่เกิน 6 เดือน วงเงินไม่เกิน1แสนบาท 2. บริการผ่อนชำระสินค้ารายวันสำหรับโทรศัพท์มือถือและเครื่องใช้ไฟฟ้า ดอกเบี้ย 0% และ3. สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย ดอกเบี้ยต่ำ 15% วงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท  

โดยได้เริ่มทดลองตลาดช่วง 3 เดือนสุดท้ายปีที่ผ่านมา มียอดสินเชื่อใหม่ 500 ล้านบาท และมีจำนวนพาร์ทเนอร์ฯ 2 หมื่นราย  ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อผ่อนชำระสินค้ารายวัน โดยเฉพาะโทรศัพท์มือ รองลงมาเป็นสินเชื่อเงินสด วงเงินต่อราย 2-3 หมื่นบาท  ส่วนสินเชื่อเอสอ็มอียังมีน้อย

158220723362

เขากล่าวว่า คาดแนวโน้มอีก 3-5 ปีข้างหน้า ยอดสินเชื่อใหม่และจำนวนพาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่และร้านค้าจะเติบโตขึ้นอีก 4-5 เท่า ตามแผนการขยายธุรกิจไปจังหวัดหัวเมืองรองทั่วประเทศ จากปัจจุบันมีธุรกิจใน 20 จังหวัดในหัวเมืองใหญ่ และธุรกิจของพาร์ทเนอร์มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยในอีก 1-2 ปีข้างหน้า มีโอกาสที่จะขยายบริการดังกล่าวไปยังลูกค้ารายย่อยทั่วไปที่ไม่ใช่พาร์ทเนอร์หรือลูกค้าของแกร๊บ

ด้านหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำมากไม่เกิน 2% แม้จะเป็นการให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ที่ธนาคารพาณิชย์มองเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงและผู้ประกอบการนอนแบงก์ที่เคยให้บริการสินเชื่อดังกล่าวไปก่อนหน้านี้มี NPL สูงไปแล้ว แต่มั่นใจในระบบเครดิตสกอริ่งของแกร็บ ทำให้รู้รายได้และพฤติกรรมของพาร์ทเนอร์อย่างดี จึงสามารถกำหนดวงเงินสินเชื่อได้ตามความสามารถในการชำระหนี้ 

ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลของแกร็บ เชื่อว่าพาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่และร้านค้าของแกร็บ มีพฤติกรรมและวินัยทางการเงินดี  มีความสามารถหารายได้มากกว่าหนี้ที่ต้องจ่ายรายวัน แม้ยามป่วยทำงานไม่ได้ ด้วยระบบตัดหนี้อัตโนมัติผ่านวอลเล็ต ทำให้สามารถสะสมรายได้ไว้ล่วงหน้าเพื่อชำระหนี้ได้ด้วย หากตรวจพบการชำระหนี้ล่าช้า จะใช้ศูนย์บริการผู้ขับขี่ติดต่อทันทีเพื่อช่วยเหลือในเบื้องต้น ทำให้ NPL อยู่ในระดับต่ำ

ส่วนแผนขยายธุรกิจส่วนอื่นในปีนี้ บริษัทยังเตรียมเปิดตัว GrabInsure เร็วๆนี้ ขายประกันให้กับพาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่และร้านค้า รวมถึงผู้โดยสาร ในลักษณะไมโครอินชัวร์หรือประกันภัยรายย่อย จ่ายเบี้ยรายวันเพียงไม่กี่บาท เช่น ประกันชดเชยรายได้รายวันเมื่อผู้ขับขี่ป่วยต้องขาดรายได้ สามารถซื้อประกันให้สมาชิกในครบครัวได้ด้วย ทางด้านความร่วมมือกับบริษัทประกันนั้นคงเปิดกว้างหลายบริษัท เพื่อได้ความคุ้มครองที่ตอบโจทย์ที่สุด ในปัจจุบันบริษัทมีประกันภัยให้ผู้ขับขี่ฟรี

อีกทั้งบริษัทยังคงมองหาโอกาสและศึกษารูปแบบขยายธุรกิจทางด้านวางแผนการลงทุนหรือ Grab Investment สร้างมั่งคั่งยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย เช่น ผู้ขับขี่รายได้คงค้างในวอลเล็ต 1,000 บาท สามารถแบ่งมาลงทุนผ่านกองทุนขั้นต่ำ 100-200 บาท เป็นต้น