'เฟทโก้' ชง 'คลัง' เพิ่มขาดดุลงบปี 64 ปลุกเศรษฐกิจ

'เฟทโก้' ชง 'คลัง' เพิ่มขาดดุลงบปี 64 ปลุกเศรษฐกิจ

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เสนอ คลัง เข็นมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจก้อนใหญ่-จัดทำงบประมาณปี 64 เน้นขาดดุลมากขึ้น หวังฟื้นเศรษฐกิจ เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน พร้อมชงรัฐเร่งกู้เงินมาลงทุน หลังดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำ

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยภายหลังได้เข้าพบนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในงานโครงการตลาดทุนพบภาครัฐครั้งที่ 1/2563 ภายใต้หัวข้อกระทรวงการคลังพบนักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบัน ซึ่งมีการเชิญรมว.คลังมาให้ข้อมูลเรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจไทยและการขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐ” ว่าหลังจากที่ฟังข้อมูลจากท่านรมว.คลัง เชื่อว่าจะทำให้นักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบันในประเทศเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้นถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งก่อนหน้านี้มีหลายประเด็นที่นักลงทุนเป็นห่วงว่าภาครัฐจะมีมาตรการออกมารองรับปัจจัยเสี่ยงอย่างไร ซึ่งท่าน รมว.คลังได้ตอบคำถามได้เคลียร์ทั้งหมดทั้งมาตรการรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19, ภัยแล้ง และงบประมาณปี 2563 ที่จะเบิกจ่ายได้ตามปกติ

ทั้งนี้จากการหารือในครั้งนี้มี 2 เรื่องที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทยได้เสนอต่อรมว.คลังไป ได้แก่ 1.เสนอให้ภาครัฐรวบรวมมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นก้อนใหญ่เหมือนกับในต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุนมากขึ้นว่าภาครัฐจะมีมาตรการรองรับที่ชัดเจน และอยากเสนอให้ภาครัฐมีการจัดทำแผนสำรองในการรองรับปัจจัยเสี่ยงต่างๆทั้งปัญหาภัยแล้ง,โรคระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 และงบประมาณ รวมถึงกำหนดเป้าหมายหรือตัวชี้วัดมาตรการที่ออกมาว่ามีผลอย่างไรบ้าง

“ที่ผ่านมารัฐบาลก็ออกมาตรการมาค่อนข้างเยอะ แต่เป็นในลักษณะทยอยประกาศจึงทำให้ไม่เห็นเม็ดเงินก้อนใหญ่เข้ามาในระบบและทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ซึ่งตอนนี้จึงคิดว่าที่รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาหลังจากนี้ควรเป็นแบบภาพรวมใหญ่ไปเลย เพราะจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนมากขึ้น”

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่าขณะที่ถัดมาคือ 2.เสนอให้รัฐบาลทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ให้มีการขาดดุลมากกว่างบปีประมาณ 2563 เนื่องจากเชื่อว่าเวลานี้เป็นเวลาที่ต้องใช้งบประมาณในการช่วยพยุงเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะหากภาครัฐไม่จัดทำงบขาดดุลเศรษฐกิจก็คงจะเดินหน้าไปไม่ได้ ขณะที่มองว่าข้อดีของการขาดดุลในเวลานี้คือต้นทุนการเงินที่ปรับตัวลดลงมาก หลังจากบอนด์ยิลด์พันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีลดลงมาระดับต่ำแค่ระดับ 1% ซึ่งสนับสนุนให้รัฐบาลควรจะเร่งการกู้เพื่อมาลงทุน ซึ่งไม่ต้องห่วงว่าจะเป็นภาระต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศให้เพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันหนี้ของไทยยังค่อนข้างน้อย

“เราสนับสนุนให้รัฐบาลจัดทำงบประมาณปี 2564 ขาดดุลมากขึ้นจากปีนี้ไปเลย เพราะคาดว่าการขาดดุลเท่าเดิมไม่ได้แล้ว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบในหลายๆเรื่อง รวมถึงเสนอให้รัฐต้องมีแผนที่ชัดเจนว่าจะเอาเงินไปทำอะไร และจะมีผลอะไรกลับมาบ้าง”