นาทีทอง 0-6 ปี พัฒนาสมองเด็ก พ่อแม่ยุคใหม่ “เลี้ยงลูกเชิงบวก”

นาทีทอง 0-6 ปี พัฒนาสมองเด็ก พ่อแม่ยุคใหม่ “เลี้ยงลูกเชิงบวก”

สภาพสังคมเร่งรีบในปัจจุบัน ทำให้ความใกล้ชิดของครอบครัวยุคใหม่ลดน้อยลง มีเพียงเด็ก 1 ใน 3 เท่านั้นที่ถูกเลี้ยงดูจากพ่อแม่ ที่เหลือถูกเลี้ยงดูโดยปู่ย่าตายาย ผู้ปกครอง ช่วงวัย 0-6 ขวบ สำคัญต่อการพัฒนาสมองด้านความสัมพันธ์ ความรู้ปลอดภัย และตัวตน

ปัจจุบัน มีเด็กเพียง 1 ใน 3 หรือราว 30% ที่ได้อยู่กับพ่อแม่จริงๆ นอกนั้นคืออยู่กับปู่ย่าตายาย ผู้ปกครอง เด็กไม่มีความผูกพันที่มั่นคงกับคนเลี้ยงดู และเจอปัญหาการเลี้ยงดูในหลายรูปแบบ ได้แก่การตามใจเพราะพ่อแม่จะรู้สึกว่าตนเองไม่มีเวลา จึงทดแทนโดยการซื้อของให้ ตามใจ พาไปเที่ยว ด้านปู่ย่าตายาย ไม่มีแรงจะบ่น จะจบด้วยการตามใจ 

ซึ่งเป็นการสร้างและพัฒนา “เด็กไร้วินัย” กลายเป็นเด็กที่มีปัญหาเพราะโตมาจากการถูกตามใจ และอีกแบบคือการใช้อำนาจ ใช้ความรุนแรงตี ด่า เปรียบเทียบ ใช้การเลี้ยงดูเชิงลบ ซึ่งเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกมากับคนไทย คือ “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” สุดท้ายต้องมาชดใช้ กับสิ่งที่ได้ลงมือไป เพราะเด็กจะเติบโตมากับความไม่มั่นคงในตัวเอง ไม่แน่ใจกับความสัมพันธ์ที่มี เริ่มดื้อ ไม่เชื่อฟัง สู้ หนี หรือยอม

158221832769

แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และเจ้าของ เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน กล่าวในงานแถลงข่าวโครงการ “Central-UNICEF Together for Every Child” ว่า เด็กที่อยู่ในความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัย จะตอบสนอง 3 รูปแบบ คือ สู้ หนี หรือยอม “เด็กที่สู้” ก็จะสู้โดยการใช้กำลังกลับคืน แต่หากรู้ว่าสู้ไม่ได้ ก็จะต่อสู้ด้วยการดื้อ และเด็กจะอยู่ในภาวะนั้นมากเมื่อเขาสู่วัยรุ่น อยากให้กลับบ้านเร็วไม่กลับ อยากให้เรียนหนังสือไม่เรียน เพราะลึกๆ เหมือนได้เอาคืน เป็นรูปแบบที่พ่อแม่เจอเยอะมาก บางคนดื้อเงียบ ไม่เถียง แต่ก็ไม่ทำ

อีกรูปแบบหนึ่งก็คือ “เด็กหนี” เป็นเด็กที่โกหก ปกปิดความผิด ไม่ชอบอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย ให้ทำอะไรก็จะบอกว่าทำไม่ได้ ทำไม่เป็น ไม่รู้ ไม่ลอง ทำการบ้านก็จะเลื้อย แต่จริงๆ คือ หนี ไม่อยากเข้าไปในความเครียดตรงนั้น และสุดท้าย คือ “เด็กยอม” พ่อแม่มักจะเชื่อว่าตีแล้วได้ผล เด็กจะยอม แต่จริงๆ แล้วทุกครั้งที่เด็กยอม สิ่งที่แลกคือตัวตน เขารู้สึกไม่มีพาวเวอร์ ไร้ซึ่งอำนาจ สะสมความเป็นผู้แพ้ และโตขึ้นมาแบบรู้สึกว่าฉันไม่ได้เรื่อง ฉันสู้เขาไม่ได้ ฉันไม่มีความหมาย ฉันไม่ได้เป็นที่รัก

158221832362

“เด็กพวกนี้จะโตมาเป็นเด็กซึมเศร้าที่เราเจอกว่า 17% ของวัยรุ่นทั่วโลก ส่วนคนไทยมีราว 17 - 20 % หรือ 1 ใน 5 ของวัยรุ่น เพราะโตมาในแบบเด็กที่ไม่มีตัวตน อยากถูกยอมรับ ไขว่คว้าหาความรัก อยากมีแฟน อยากมียอดไลค์ในโซเชียลเยอะๆ มันเป็นปัญหา รากของมันคือ การถูกเลี้ยงดูในแบบที่ไร้ตัวตนในวัยเด็ก” แพทย์หญิงจิราภรณ์ กล่าว

  • 6 ปีแรกนาทีทองพัฒนาสมอง

แพทย์หญิงจิราภรณ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ช่วง 0 - 6 ปีแรก เป็นช่วงที่สมองพัฒนาด้านเซลล์ประสาทมากที่สุด รวมถึงด้านของจิตใจในการพัฒนาตัวตน ความเชื่อมั่นต่อโลก และความสัมพันธ์ โดยเฉพาะช่วง 0-2 ปีแรก เด็กจะพัฒนาเรื่องความมั่นคงของชีวิต การที่เด็กไว้ใจโลก เวลาหิวร้องแล้วมีนมให้ทาน ร้อนมีคนพัดให้ รู้สึกกลัวก็มีคนมาอุ้ม ทำให้รู้สึกปลอดภัย สมองที่เติบโตมาด้วยรากฐานมั่นคงปลอดภัย จะเป็นสมองของเด็กที่พัฒนาได้ดี

158221832811

สำหรับช่วง 2-3 ปี เป็นช่วงของการพัฒนาตัวตน เด็กจะมีพาวเวอร์ที่จะปฏิเสธ การมีตัวตนสำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่บอกว่าเรามีอำนาจที่จะทำอะไรในโลกนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้เด็กพัฒนาตัวเองไปข้างหน้า เด็กที่เชื่อมั่นว่าตัวเขาทำได้ และเป็นที่รัก คือ เด็กที่มีเซลฟ์ที่ดี สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่มาสร้างตอนโต แต่สร้างในวัยเด็กผ่านการที่เขารู้ว่ามีคนที่อยู่เคียงข้างเขาจริง

“ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในวัยตั้งต้นของชีวิต จึงเป็นรากฐานที่สำคัญ ซึ่งถ้าพ่อแม่พลาดโอกาสตรงนี้ไป เด็กที่ไม่มีความไว้วางใจพ่อแม่ บอกอะไรเขาก็ไม่ทำ เพราะไม่เชื่อว่าหวังดีจริง ไม่มีความเชื่อมโยงและความเชื่อใจที่มีต่อกัน การเลี้ยงดูลูกด้วยตัวเอง การพาทำกิจกรรม ในช่วงต้นของชีวิตจึงมีความสำคัญ”

  • เลี้ยงลูกเชิงบวก

แพทย์หญิงจิราภรณ์ กล่าวต่อไปว่า พ่อแม่ผู้ปกครองควรเข้าใจเรื่องการทำงานของสมองของเด็กและธรรมชาติของเด็กว่า สมองของเด็กจะมีการพัฒนาส่วนอารมณ์เร็วกว่าส่วนของเหตุผล หน้าที่ของพ่อแม่ คือ ช่วยให้เด็กใช้สมองส่วนเหตุผลมากขึ้น ช่วยให้เขารู้จักควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น ผ่านการเลี้ยงลูกเชิงบวก ซึ่งมีหลักการอยู่ 4 ข้อ ได้แก่

158221833389

1) การเข้าใจธรรมชาติของเด็ก

2) การมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวก เช่น ให้เวลาคุณภาพ กับเด็ก เล่น และทำกิจกรรมกับลูก รับฟังลูก 

3) การสื่อสารเชิงบวก การคุยกับลูกอย่างใจเย็นให้ลูกรู้สึกตนเองเป็นที่รัก มีพ่อและแม่อยู่เคียงข้าง

4) การฝึกวินัยเชิงบวกเพื่อให้ลูกรู้จักกติกาและรู้ว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ แทนที่จะลงโทษด้วยวิธีรุนแรง เช่น ตี ดุด่า ขู่ให้กลัว หรือเปรียบเทียบกับคนอื่น ซึ่งวิธีการเชิงลบนี้ จะส่งผลเสียต่อการพัฒนาสมองและอาจส่งผลต่อพฤติกรรมในระยะยาว

158221833059

ในยุคปัจจุบัน ที่พ่อแม่มีความจำเป็น ทำให้ไม่ได้อยู่กับลูก แพทย์หญิงจิราภรณ์ แนะนำว่า ทุกวันนี้มีเทคโนโลยี ให้โทรคุยกับลูก ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเขามีความหมาย หาทางที่จะได้อยู่กับลูกให้ได้มากที่สุด ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่การเลี้ยงดูที่ดีที่สุด แต่ทำอย่างไรให้เขาอยู่กับเรา ให้เขามีเราในชีวิต

“บางบ้านที่มีหลายเจเนอเรชั่นอยู่รวมกัน ทำให้มีแนวคิดในการเลี้ยงลูกหลานต่างกัน อาจจะต้องคุยกันและเอาประโยชน์ของเด็กเป็นหลัก พ่อแม่ต้องเอาตัวเองลงมาเลี้ยงให้มากที่สุด อยู่ในบ้านเป็นปัญหาก็เลี้ยงนอกบ้านเยอะหน่อย ให้อยู่ในสวน ขี่จักรยาน ต้องลงทุน ประเด็นสำคัญ คือ อย่ายอม เพราะสุดท้ายก็จะไม่เปลี่ยน“

สำหรับวิธีการลงโทษแบบนั่งเข้ามุม ไม่แนะนำ เพราะเป็นการส่งสัญญานบอกลูกว่าเวลาเธอไม่น่ารัก ฉันไม่เอาด้วย แม่จะต้อนรับหนูแค่เฉพาะตอนที่หนูน่ารักเท่านั้น ซึ่งนั้นไม่ควรเป็นแมสเซสที่เราจะส่งถึงลูก เขาต้องการคนที่บอกว่าต้องทำอย่างไร ดังนั้น สมัยนี้เขาจะนิยมวิธีที่ว่า โอเคลูกเสียใจได้ แม่จะรออยู่ตรงนี้ ให้แม่กอดไหม ช่วยบอกเขาว่าเขาต้องทำอย่างไร นั่นคือหลักการของการเรียนรู้ ไม่ใช้การตี หรือเอาเข้ามุม เด็กบางคนทำของพัง เดินไปเข้ามุมสำเร็จโทษตัวเองเสร็จสรรพ

158220266419

“พ่อแม่ต้องการฮาวทู เขารู้ว่าเล่นกับลูกแล้วดี แต่เขาเล่นไม่เป็น เขารู้ว่าไม่ควรตีลูก แต่ถ้าไม่ตีลูกแล้วทำอะไรได้ ดังนั้น หลักการสำคัญง่ายๆ คือ แค่สอนเขาว่าต้องทำอย่างไร แค่นั้นเอง จะตีเขาเพื่ออะไร พ่อแม่มีหน้าที่สอน ไม่ได้มีหน้าที่ทำร้ายและลงโทษ และเด็กไม่เคยเรียนรู้ผ่านการตี" แพทย์หญิงจิราภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย