'ฟิทช์' หั่นเรทติ้ง 'แบม' กระทบระยะสั้น-ดอกเบี้ยต่ำชดเชย

'ฟิทช์' หั่นเรทติ้ง 'แบม' กระทบระยะสั้น-ดอกเบี้ยต่ำชดเชย

เดินหน้าทำนิวไฮมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เข้าซื้อขายในตลาดเมื่อปลายปีก่อน สำหรับหุ้นบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM

จนหลายๆ คนยกให้เป็นหุ้นดาวเด่นประจำปีนี้ เพราะแสดงอภินิหารให้ผลตอบแทนมากกว่า “เท่าตัว” ภายในเวลาแค่ 2 เดือนกว่าๆ เท่านั้น เรียกว่าขอสวมหัวใจสิงห์ “โนสน-โนแคร์” บวกสวนกระดาน แม้ว่าปัจจัยลบจะท่วมตลาด ย้อนดูความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น BAM ประเดิมเข้าซื้อขายวันแรก 16 ธ.ค. 2562 อาจออกสตาร์ทไม่ร้อนแรงเท่าไหร่ เปิดตลาดที่ 18.40 บาท เหนือจอง 5.14% จากราคาไอพีโอที่ 17.50 บาท ก่อนปิดซื้อขายกลับมายืนที่ราคาจอง

แต่หลังจากนั้นก็ไล่ราคาเก็บเล็กผสมน้อยขึ้นมาโดยตลอด ท่ามกลางปัจจัยบวกที่เข้ามาสนับสนุน ทั้งดอกเบี้ยขาลงหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หั่นดอกเบี้ยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เหลือ 1% ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้หนี้เสียในตลาด เอ็นพีแอลหลายแบงก์เพิ่มขึ้น เป็นโอกาสให้ช้อปของถูกเข้ามาบริหาร

นอกจากนี้ ยังไปเข้าตาหลายๆ กองทุนเข้ามาเก็บหุ้นเข้าพอร์ต รวมทั้ง ยังมีประเด็นเตรียมบันทึกรายได้พิเศษจากการขายที่ดินตรงข้ามโรงกษาปณ์ รังสิต มูลค่า 1.5 พันล้านบาท ให้กับ “กลุ่มเซ็นทรัล” เข้ามาในงวดไตรมาส 4 ปี 2562 และแว่วว่าอาจใจดีแจกปันผลพิเศษให้กับผู้ถือหุ้นอีก

ปัจจัยบวกต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลให้ราคาหุ้นพุ่งติดจรวดขึ้นไปทำออลไทม์ไฮที่ 36.25 บาท เมื่อวันแห่งความรัก 14 ก.พ. หรือ ปรับตัวขึ้นกว่า 107% จากราคาไอพีโอ 17.50 บาท ทำให้นักลงทุนที่มีหุ้นอยู่ยิ้มแก้มปริไปตามๆ กัน

แต่ไม่ทันสิ้นวันวาเลนไทน์ เริ่มมีสัญญาณไม่ค่อยจะสู้ดี เพราะเริ่มมีแรงขายออกมา และทำให้ราคาหุ้นปิดติดลบไป 3.08% มาอยู่ที่ 31.50 บาท หรือ ลดลง 1 บาท และถูกถล่มขายหนักต่อทันทีในวันรุ่งขึ้น (17 ก.พ.) ราคาดิ่งแรงถึง 11.90% มาปิดที่ 27.75 บาท ลดลงไป 3.75 บาท ท่ามกลางความตื่นตระหนก หลัง “ทริส ทริสเรทติ้ง” ระกาศจัดอันดับความน่าเชื่อถือบริษัทเป็นครั้งแรกที่ระดับ A- แนวโน้ม “มีเสถียรภาพ”

ต่ำกว่าอีกสถาบัน “ฟิทช์ เรทติ้งส์” ที่เคยจัดอันดับไว้ก่อนหน้านี้ที่ระดับ AA- แนวโน้ม “เชิงลบ” ทำให้นักลงทุนกังวลว่า “ฟิทช์ เรทติ้งส์” อาจปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทลงตามมา เพราะหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ทำให้สูญเสียสถานะรัฐวิสาหกิจไปทันที หมายความว่ารัฐจะไม่สามารถเข้ามาให้ความช่วยเหลือทางการเงินได้เมื่อบริษัทเกิดปัญหา

แต่ต้องบอกว่าประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะหากใครได้อ่านในหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) มีบอกไว้อยู่แล้ว แรงถล่มขายที่ออกมาดูตลาดตอบสนองเชิงลบมากไปหน่อย ซึ่งก็เป็นไปได้ที่นักลงทุนบางส่วนอาจยังไม่ได้รับข้อมูลในส่วนนี้ เมื่อเห็นมีแรงเทขายออกมาเยอะๆ ก็เลยตัดสินใจขายตามๆ กันไป เพราะราคาหุ้นเองก็ขึ้นมาเยอะเหลือเกิน

ถัดมาอีกไม่กี่วัน (19 ก.พ.) ก็เป็นไปตามคาดหลัง “ฟิทช์ เรทติ้งส์” ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทลงมาอยู่ที่ BBB+ แนวโน้ม “มีเสถียรภาพ” หรือ ลดลงถึง 4 อันดับ และ ยังต่ำกว่าเรทติ้ง ของ “ทริส เรทติ้ง” อยู่ 1 อันดับ เหตุผลก็ตามเดิมเพื่อสะท้อนการสูญเสียสถานะรัฐวิสาหกิจ หลังสัดส่วนการถือหุ้นของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูลดลงจาก 99.99% เหลือ 45.8% จากการนำหุ้นเข้าไอพีโอ 

การหั่นเรทติ้งครั้งนี้ต้องยอมรับว่ามากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ว่าจะลงมาแค่ 2-3 อันดับ และที่กังวลกันมากที่สุดเป็นเรื่องต้นทุนทางการเงินที่จะเพิ่มสูงขึ้น กระทบถึงผลประกอบการในภาพรวม แต่ในมุมของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ผลกระทบดังกล่าวนี้จะถูกชดเชยจากทิศทางดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาลง แบงก์ชาติยังมีโอกาสหั่นดอกเบี้ยลงอีกในปีนี้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแรง

ทั้งนี้ บริษัทสามารถเลือกกู้เงินจากแบงก์ที่ดอกเบี้ยอิงตามดอกเบี้นนโยบายได้ หรือ ถ้าจะออกหุ้นกู้อาจเลือกใช้อันดับเรทติ้งของ “ทริส เรทติ้ง” ซึ่งให้อันดับเครดิตที่สูงกว่า ขณะที่ฐานะการเงินของบริษัทเองดูแล้วไม่ขี้เหร่ พอที่จะประคองตัวไปได้

ด้านบล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า การที่บริษัทถูก “ฟิทช์ เรทติ้งส์” ลดอันดับความน่าเชื่อถือเป็น BBB+ จะส่งผลให้ต้นทุนอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 1.51% หรือ หุ้นกู้ชุดใหม่ที่มีอายุมากกว่า 5 ปี จะมี Cost of fund ที่ 3.9% ทำให้กำไรปกติปี 2563 ลดลง 60 ล้านบาท หรือ คิดเป็น -0.9% ของประมาณการกำไรปี 2563 และกำไรปกติปี 2564 จะลดลง 105 ล้านบาท หรือ คิดเป็น -1.5% ของประมาณการกำไรปี 2564 จากมูลหนี้หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในระยะเวลา 1 ปี

แต่จะได้รับการชดเชยจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. ซึ่งยังไม่รวมอยู่ในประมาณการ แม้ในระยะสั้นราคาหุ้นจะถูกกดดันจากประเด็นถูกหั่นเรทติ้ง แต่ฝ่ายวิจัยคาดว่าระยะยาวราคาหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากต้นทุนการเงินที่ลดลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย