เอ็นอีเอเสริมแกร่งผู้ประกอบการธุรกิจความงาม

เอ็นอีเอเสริมแกร่งผู้ประกอบการธุรกิจความงาม

เอ็นอีเอ จัดสัมมนาจัดทัพนักธุรกิจลุยแบ่งเค้กธุรกิจสุขภาพความงามแสนล้าน เผยตลาดจีน ซีแอลเอ็มวี ยังขยายต่อเนื่อง เอกชนแนะ Live Streaming  บุกตลาดจีน  

นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือเอ็นอีเอ ( NEA)  กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการเปิดอบรม โครงการจัดทัพธุรกิจความงามไทยไปตลาดโลก ว่า ธุรกิจสุขภาพความงามเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจโลก และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง โดยในปีที่ผ่านมา มูลค่าทางเศรษฐกิจของธุรกิจสุขภาพความงามไทยอยู่ที่ 2.8 แสนล้านบาท โดยเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนจากการค้าในประเทศ 1.68 แสนล้านบาท และส่งออกต่างประเทศ 1.12 แสนล้านบาท โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 17 ของโลก แต่เมื่อเทียบกับ มูลค่าตลาดของสินค้าความงามของโลกซึ่งอยู่ที่ประมาณ 9.3 ล้านล้านบาทแล้ว ยังถือว่าประเทศไทยมีสัดส่วนในมูลค่าตลาดน้อย ทางNEA จึงมองเห็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถขยายตลาดสินค้าไปยังต่างประเทศได้ โดยในแต่ละปีมูลค่าตลาดสินค้าดังกล่าวของไทย จะเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10%  ซึ่งในปีนี้คาดการณ์ว่า การเติบโตจะใกล้เคียงกับในปีที่ผ่านมา ทางNEAจึงได้มีการจัดโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการไทย สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ ผ่านการให้ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จและการนำเอาข้อมูล Big Data มาประกอบการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดในต่างประเทศให้มากขึ้น

โดยตลาดที่เห็นว่ายังมีโอกาสขยายตัวได้ดี ได้แก่ ตลาดจีน และ CLMV  ซึ่งในส่วนของตลาดจีนแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่จากข้อมูล Big Data ทำให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัว พัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น โดยปรับเปลี่ยนสินค้ากลุ่มความงาม มาเป็นสินค้าเน้นในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น เช่น การผลิตเจลล้างมือ หรือการผลิตสินค้าในการป้องกันเชื้อไวรัส

นายนันทพงษ์ กล่าวอีกว่าในส่วนของตลาดจีนนั้นที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นผลให้มีการใส่ใจสุขภาพ ความสวยความงาม และการดูแลสุขภาพผิว และยังทำให้ตลาดเครื่องสำอางในประเทศจีนขยายขนาดอย่าง ทั้งนี้ รัฐบาลจีนประกาศให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอาง ช่วยควบคุมพฤติกรรมของผู้ผลิตและปกป้องสิทธิของผู้บริโภค โดยเฉพาะคุณภาพสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาและเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนก่อนว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายชอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทใด ลักษณะใด เพื่อนำมาต่อยอดการพัฒนาสินค้าให้ดึงดูดใจผู้บริโภคชาวจีนได้ รวมทั้งดำเนินการติดต่อทำบัตรประจำตัวผู้ส่งออก-นำเข้า เพื่อความสะดวกในการติดต่อขอเอกสารกับหน่วยงานของรัฐ  ตลอดจนสร้างความน่าเชื่อถือทางธุรกิจให้แก่บริษัทคู่ค้าชาวจีน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจส่งออกที่ดี มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากเครื่องสำอางที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในจีนได้นั้น สินค้าทุกชิ้นจำเป็นจะต้องผ่านขั้นตอนการดำเนินการและตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มงวด การตรวจสอบมาตรฐานและคุณภาพเครื่องสำอางจากหน่วยงาน SFDA , ศุลกากร และ CIQ ที่ตรวจสอบความถูกต้องของผลิตภัณฑ์ทั้งเรื่องฉลากสินค้า ขนาด และปริมาณ เป็นต้น

นายพัชรพล สุทธิธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท Ireal Plus (Thailand) Co., Ltd กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจความงามเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปี 2020 ยังมีช่องทางขยายตัวได้อีกมาก เพราะปัจจุบันผู้คนหันมาให้ความสนใจกับความสวยงามของรูปร่างหน้าตา มากขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดรับสื่อต่าง ๆ ซึ่งไม่เพียงแต่ผู้หญิงเท่าสั้นที่สนใจเรื่องความสวยงาม แต่ผู้ชายก็มให้ความสนใจกับการใช้เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเช่นกัน ซึ่งผู้ประกอบการต้องศึกษาความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก เช่น พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการคือ ใช้ง่าย และรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและเห็นผลเร็ว ทำให้ผู้บริโภครู้สึกพิเศษเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ เป็นต้น รวมทั้งศึกษาแนวโน้มของการทำธุรกิจในอนาคตที่ทั่วโลกมีความกังวลในประเด็นของสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยล้างสารพิษเสริมภูมิคุ้มกันก็น่าจะมาแรงในปีนี้หรือผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด ทำให้นอนหลับง่ายก็น่าจะได้รับความนิยม เป็นต้น

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการต้องมีความพร้อมในการผลิตสินค้าด้วยการหาโรงงานที่มีความพร้อมได้มาตรฐานตามที่ต่างประเทศยอมรับมีกำลังการผลิตที่พร้อมรองรับคำสั่งซื้อ และที่สำคัญเจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้ครอบคลุ่มทุกประเทศที่จะส่งออก โดยเฉพาะประเทศจีนไม่เช่นนั้นอาจถูดเลียนแบบ ศึกษากฎหมายในการนำเข้าสินค้าของแต่ละประเทศ เช่น วัตถุดิบ และปริมาณที่อนุญาตให้นำเข้า รวมทั้งภาษี หาตัวอทนจำหน่ายสินค้าในประเทศนั้น ๆและพัฒนาสินค้าใหม่ ๆเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เป็นต้น

ทั้งนี้ บริษัท เป็นผู้รับผลิตเครื่องสำอางและอาหารเสริมแบบครบวงจร (OEM,ODM) ให้กับแบรนด์ต่าง ๆ มากกว่า 2,000 ผลิตภัณฑ์ทั่วโลก ด้วยการสร้างฐานการผลิตเครื่องสำอางที่มีความเข้มแข็ง มีกำลังการผลิต 5 ตันต่อวัน โดยใช้เทคโนโลยีทันสมัยล่าสุด จากประเทศเยอรมันและญี่ปุ่น  และสารสกัดธรรมชาติที่มีมาตรฐานและผ่านการวิจัยมีมาตรฐานการผลิตในระดับสากล โดยที่ผ่านมา  บริษัทได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากทางภาครัฐ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและ NEA

158220073624

               

นายรณกร แซ่ลี้ ผู้บริหาร บริษัท แอนนา เบลล่า จำกัด กล่าวว่า การขายสินค้าในแพลตฟอร์มทั่วไปล้าหลังไปแล้วแต่วิธีการขายที่มาแรงและได้ผลได้รับความนิยมจากสังคมโซเชียลจีนก็คือการ Live Streaming หรือการขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียด้วยการถ่ายทอดสด เป็นการตลาดที่มีอิทธิพลอย่างมาก เป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากที่สุด และสร้างความน่าสนใจเนื่องจากเป็นสถานการที่เกิดขึ้นจริงในแบบเรียลไทม์  Real-Time และสามารถตอบโต้กับคนที่รับชมได้ โดยในสังคมออนไลน์ขายสินค้าของจีน ทั้ง TAOBAO ,JD,T Mall,Kao la เป็นต้น ก็มีช่องทางให้ Live stream ซึ่งผู้ประกอบการสามารถสมัครเข้าไปขายสินค้าได้ทุกชนิด เช่น เครื่องสำอาง เสื้อผ้า อาหาร ของใช้ หรืออาจจ้างบุคคลที่มีชื่อเสียงทำการขายแทน ตนมองว่าเป็นช่องทางที่จะเข้าถึงสังคมออนไลน์ของจีนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคนิยมการซื้อสินค้าออนไลน์ที่มีความสะดวก และยิ่งมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 คนก็นิยมจะใช้ชีวิตอยู่บ้านมากกว่าการออกไปจับจ่ายนอกบ้าน ดังนั้นก็เป็นช่องทางของการขายสินค้าของผู้ประกอบการ ทั้งนี้บริษัทดำเนินธุรกิจในกลุ่มสกินแคร์ และธุรกิจความงาม อื่น ๆ ภายใต้แบรนด์ ชื่อแอนนา เบลล่า โดยจำหน่ายสินค้าทั้งในไทยและในประเทศจีน โดยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สินค้าภายใต้เครื่องหมาย แอนนา เบลล่า Anna BElla ในจำพวกที่ 3 ประเภท เครื่องสำอางค์

158220075543