สินค้าป้องโรคดันดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ เพิ่ม ส่งออกรถยนต์ ร่วงทุกตลาด

สินค้าป้องโรคดันดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ เพิ่ม ส่งออกรถยนต์ ร่วงทุกตลาด

สอท.เผยภาคอุตสาหกรรมยังผวากำลังซื้อในประเทศชะลอตัว ภัยแล้งและโควิด-19 ยืดเยื้อทำดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ต่ำสุดรอบ 44 เดือน ด้านยอดผลิตรถยนต์ ม.ค.ลดลง 12.99%

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนม.ค. 2563 อยู่ที่ระดับ 92.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 91.7 ในเดือนธ.ค. 2562 แต่ค่าดัชนีฯ ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการยังอยู่ในระดับที่ไม่ดี 

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 99.4 โดยลดลงจาก 100.1 ในเดือนธ.ค.2562โดยค่าดัชนีต่ำที่สุดในรอบ 44 เดือน นับตั้งแต่มิ.ย.2559 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการชะลอตัวของกำลังซื้อภายในประเทศ โดยเฉพาะในภาคเกษตรจากปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งการระบาดของไวรัสโควิด-19 หากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว การส่งออกและเศรษฐกิจในประเทศ

ทั้งนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการกลับมาเร่งปริมาณการผลิตหลังจากติดวันหยุดต่อเนื่องในเดือนธ.ค. และสินค้าที่ใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และฝุ่น PM 2.5มียอดขายเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องมือแพทย์ ยา และเคมีเพื่อการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ

 

นอกจากนี้ช่วงเทศกาลตรุษจีนยังส่งผลดีต่อการใช้จ่ายขณะที่สงครามการค้าเริ่มคลี่คลายลงจากการที่สหรัฐ และจีนได้บรรลุข้อตกลงการค้าเฟสที่1อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี2563ซึ่งจะกระทบต่อการลงทุนภาครัฐและการจ้างงาน ขณะที่ภัยแล้งยังส่งผลต่อกำลังซื้อในภาคเกษตร

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,210 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนม.ค. 2563 พบว่า ผู้ประกอบการ 46.0% มีความกังวลถึงสถานการณ์การเมืองภายในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ ปัญหาสภาวะเศรษฐกิจโลก 64.6% อัตราแลกเปลี่ยน ในมุมมองผู้ส่งออก 55.1%, ราคาน้ำมัน 35.5% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 19.9%  

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเสนอให้ภาครัฐยกเว้นการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมของลูกจ้างและผู้ประกอบการSMEsเป็นระยะเวลา6เดือน

 

 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การผลิตจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนม.ค.2563มีทั้งสิ้น156,266คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน 12.99% แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า16.44%

ส่วนการผลิตเพื่อส่งออก ผลิตได้85,143คัน สัดส่วน 54.49% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน15.74% ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือม.ค.2563ผลิตได้71,123คัน สัดส่วน45.51% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลง9.46% 

ขณะที่การส่งออก รถยนต์สำเร็จรูป จำนวน 65,295คัน สัดส่วน 76.69% ของยอดการผลิตเพื่อส่งออก ลดลง19.96% โดยส่งออกลดลงเกือบทุกตลาด เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ที่ชะลอตัวลง ยกเว้นตลาดตะวันออกกลาง ด้านมูลค่าการส่งออกรวม 32,271.37ล้านบาท ลดลง20.94%