ถึงเวลา Transform Healthcare

ถึงเวลา Transform Healthcare

แม้การ Transform ระบบนิเวศของอุตสาหกรรม Healthcare จะเริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าระยะทางจะยาวไกลแค่ไหน กว่าที่จะเดินไปสู่การจัดการบริการสุขภาพแบบเน้นคุณค่าและผลลัพธ์ของผู้ป่วย

ทำไมระบบนิเวศของการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ถึงมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมน่าจะช่วยทำให้ผู้คนเข้าถึงการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่านี้?

อุตสาหกรรม Healthcare ยังคงเป็นโลกที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน ทั้งๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและสุขภาพของคน กลไกในการควบคุมที่รัดกุมทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้มีกำแพงและอุปสรรคมากมายที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ในการให้บริการ ทั้งผู้เกี่ยวข้องใน Value Chain ล้วนเป็นยักษ์ใหญ่ เช่น ภาครัฐ บริษัทยา โรงพยาบาล ผู้ให้บริการทางการแพทย์ บริษัทประกัน

ปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้การเปลี่ยนแปลง และกระบวนการ Transform ของแต่ละภาคส่วนเกิดขึ้นได้ยาก ทั้งๆ ที่สัดส่วนของการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวในการดูแลสุขภาพ มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับการเติบโตของ GDP และยังมีความท้าทายใหม่ๆ ที่วงการแพทย์และการสาธารณสุขต้องแบกรับ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติจากโรคระบาดใหม่ การขาดแคลนบุคลากร และการช่วยทำให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงการรักษาและยาได้อย่างทันท่วงที

การให้บริการทางการแพทย์ในอนาคต จะเปลี่ยนจาก “Provider/Process Centric” ไปเป็น “Patient Centric” คือ การโฟกัสที่ผู้ป่วย/ผู้รับบริการมากกว่าการใช้โรงพยาบาลเป็นศูนย์รวมของทุกสิ่ง

บริษัทวิจัยชั้นนำอย่าง Frost & Sullivan ได้วิเคราะห์วิถีการ Transform ของ Healthcare ไว้อย่างน่าสนใจ คือ มองว่าการให้บริการทางการแพทย์ในอนาคต จะเปลี่ยนจาก “Provider/Process Centric” ไปเป็น “Patient Centric” คือ การโฟกัสที่ผู้ป่วย/ผู้รับบริการมากกว่าการใช้โรงพยาบาลเป็นศูนย์รวมของทุกสิ่ง เพราะความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ โรงพยาบาล จะมีข้อจำกัดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเรื่องของทรัพยากร คุณภาพของการบริการ ปัญหาเรื่องบุคลากร และต้นทุนที่ต้องแบกรับ

อนาคตของการให้บริการทางการแพทย มีแนวโน้มที่จะไปในทิศทางเหล่านี้ 

เทรนด์ของการเปลี่ยนแปลงอันแรก คือ Decentralization การให้บริการแบบ Home/Virtual Care และ e-Visit จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ สอดรับกับความ พร้อมของ Digital Health ที่ทำให้การเชื่อมต่อระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เราได้เริ่มเห็นการเกิดขึ้นของ Telehealth อย่างเป็นรูปธรรมแล้วในหลายประเทศ กระบวนการให้คำปรึกษาและคัดกรองผู้ป่วยผ่าน Telehealth หรือกระทั่ง e-Pharmacy ที่ให้บริการสั่งยาและส่งยาถึงบ้านเพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาล จะกลายเป็นทางเลือกของผู้ป่วยในการขอรับบริการ ทำให้ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลแบบ Anytime, Anywhere การสนับสนุนให้เกิด Decentralization ของระบบการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข น่าจะช่วยทำให้การให้บริการทางการแพทย์ สามารถเข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้แบบ Direct to Consumer ได้เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ

มีการประมาณการไว้ว่า สัดส่วนของค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ ในอนาคตจะเป็นไปเพื่อการป้องกันและการส่งเสริมสุขภาพ มากกว่าการใช้ไปกับการรักษาพยาบาล

เทรนด์ที่สองคือ Preventive & Wellness focused มีการประมาณการไว้ว่า สัดส่วนของค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ ในอนาคตจะเป็นไปเพื่อการป้องกันและการส่งเสริมสุขภาพ มากกว่าการใช้ไปกับการรักษาพยาบาล ความก้าวหน้าของ AI และการใช้ IoT ในทางการแพทย์ รวมถึงการขยายตัวของ Wearable และ Smart Home Devices จะทำให้เกิดข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ทำให้ Tech Company และผู้ให้บริการทางการแพทย์สามารถนำเอาไปให้คำแนะนำและช่วยคนทั่วไป สามารถเข้าถึงวิถีและแนวทางการดูแลสุขภาพแบบยั่งยืน เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิต

ล่าสุดยักษ์ใหญ่อย่าง Google ก็ร่วมมือกับ Ascension กลุ่มธุรกิจบริหารโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในสหรัฐ ทำข้อตกลงภายใต้โครงการ Nightingale โดยนำเอาข้อมูลของคนไข้มาวิเคราะห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลคนไข้และพัฒนา AI เพื่อเพิ่มศักยภาพในการตรวจโรค และดูแลผู้ป่วย แม้ว่าโครงการดังกล่าว จะได้เสียงตอบรับเชิงลบเรื่องการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของคนไข้ แต่ปลายทางของโครงการนี้ก็ถูกยืนยันว่า ทำเพื่อให้คำแนะนำด้านสุขภาพได้อย่างเจาะลึก และเป็นประโยชน์กับผู้ป่วย

เทรนด์ที่อาจพลิกโฉมอุตสาหกรรม Healthcare ในอีก 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า ก็คือ Value-based Healthcare เป็นการปลี่ยนจาก Fee for service ไปเป็นการคิดค่าบริการแบบ Pay for performance 

เทรนด์สุดท้ายที่น่าสนใจและอาจจะพลิกโฉมอุตสาหกรรม Healthcare ในอีก 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า ก็คือ Value-based Healthcare เป็นการปลี่ยนจาก Fee for service ไปเป็นการคิดค่าบริการแบบ Pay for performance แม้โมเดลนี้ยังฟังดูไกลเกินจริงในปัจจุบัน เพราะปัจจัยตัวชี้วัดเรื่องการประเมินผลลัพธ์ในการรักษาเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก และอาจมีองค์ประกอบอีกหลายตัวที่ยังวัดเป็นรูปธรรมไม่ได้ แต่ภาครัฐและกลุ่มธุรกิจประกันหลายประเทศมีการศึกษาโมเดลนี้กันอย่างเข้มข้น

เพราะที่สุดถ้าสามารถทำให้ Valuebased care เกิดขึ้นได้จริง ไม่เพียงแต่จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น เพราะผู้ให้บริการทางการแพทย์จำเป็นจะต้องแข่งขันกันเพื่อปรับปรุง “ผลลัพธ์” ของการให้บริการ แต่ยังจะทำให้เกิดการแข่งขัน เพื่อบริหารต้นทุนการบริหารจัดการของโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย และปลายทางคือ ต้นทุนที่ต่ำลงของภครัฐและบริษัทประกันในด้านการจัดการให้บริการทางสุขภาพ

แม้การ Transform ระบบนิเวศของอุตสาหกรรม Healthcare จะเริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าระยะทางจะยาวไกลแค่ไหน กว่าที่จะเดินไปสู่การจัดการบริการสุขภาพแบบเน้นคุณค่าและผลลัพธ์ของผู้ป่วย เพราะปัจจัยขับเคลื่อนผลลัพธ์ไม่ได้มีแค่เทคโนโลยี นวัตกรรม หรือ Big Data แต่อยู่ที่ภาครัฐ และภาคเอกชนที่เป็นกลไกขับเคลื่อนจะมี Vision สำหรับอนาคตขนาดไหน หรือจะยังให้ความสำคัญเพียงแค่การบริหารจัดการผลประกอบการในระยะสั้นเท่านั้น